ภาคีแรงงานระดมข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูแรงงานหลังโควิด

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563  ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ร่มกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดประชุมหารือออนไลน์ เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด

นางสาวปรีดา ศิริสวัสดิ์ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า ได้มีการหารือกันกับหลายฝ่ายเช่น NGOs แรงงาน นักวิชาการ และแรงงานกลุ่มต่างๆ โดยเริ่มมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่เดือนเมษายน2563ถึงผลกระทบที่เกิดกับคนงานในช่วงการแพร่เชื้อไวรัสโควิด โดยมองว่า จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีการตั้งกลุ่มมาชื่อว่า ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ซึ่งได้มีการประชุมกันมา 2 ครั้ง ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเห็นร่วมกันว่าคงมีระยะเวลายาวนานแน่ รัฐบาลได้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบช่วงแรกเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเห็นปัญหาคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกมาก รวมถึงแรงงานในระบบ แรงงานข้ามชาติที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาใดๆ และภาคีได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและยื่นข้อเสนอให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

ส่วนช่วงต่อไปเป็นช่วงฟื้นฟูซึ่งภาครัฐมี พ.ร.ก.เงินกู้ออกมา 1 ล้านล้านบาท สำหรับใช้เยียวยา และอีกส่วนเป็นช่วงของการฟื้นฟู จะทำอย่างไรแรงงานถึงจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการที่จะได้ใช้ประโยชน์เงินก้อนนี้ให้กับแรงงานให้มากที่สุด ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนฟื้นฟูและศึกษาแผนให้ชัดเจน เพื่อรวบรวม จัดทำข้อเสนอร่วมกัน หลายคนก็อาสาเข้ามาช่วย และยังต้องทำงานประจำด้วย อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งช่วงโควิดซึ่งทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก็ได้รับกระทบเช่นกัน ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เป็นการหารายได้ได้เลย ทำให้มีปัญหาด้านงบประมาณ ทั้งนี้FESจึงขอสนับสนุนให้ทาง พิพิธภัณฑ์ฯ ช่วยด้านการประสานงานและการสื่อสารต่างๆ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกับภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตดโควิด ทำงานภายใต้โครงการ “การจ้างงานและการคุ้มครองทางสังคมหลังโควิด” และยังเป็นการช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตไปด้วยกันรวมทั้งเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ด้วย

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมในหัวข้อ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมคืออะไร เกี่ยวกับแรงงานตรงไหน และกรอบนโยบาย ของแผนฯมีสาระสำคัญว่าอย่างไรบ้าง โดยสรุปได้ดังนี้

เนื่องจากงบประมาณปี 63-64 ที่รัฐบาลเตรียมไว้นั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรัฐจึงต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อที่จะกู้เงินก้อนใหญ่นี้ขึ้นมา จำนวนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งสำหรับสาธารณสุข ด้านการแพทย์ต่างๆ จำนวน 45,000 ล้านบาท คิดเป็น 4% ส่วนที่สองเป็นเงินส่วนเยียวยา 555,000 บาท เช่น ช่วยเกษตร 5,000 บาท คิดเป็น 56% และส่วนที่สามเป็นเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท คิดเป็น 40% ซึ่งเป็นก้อนที่จะพูดกัน ซึ่งเงินกู้ 1ล้านล้านๆบาทถือเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งทุกคนหรือลูกหลานจะต้องมีส่วนรับผิดชอบใช้คืนที่รัฐเอาเงินไปใช้จะต้องเก็บภาษีการใช้จ่าย การซื้อของ ภาษีเงินได้ต่างๆเพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกคน ที่มาของเงินกู้ส่วนนี้จะมาจาก กู้จากประชาชนในรูปการออกพันธบัตรหรือแม้แต่การกู้จาก ไอเอ็มเอฟ หรือไปกู้กับสถาบันการเงิน ซึ่งตอนนี้กู้มาแล้ว 1แสน 7 ล้านบาท รัฐจะทยอยกู้ซึ่งตามแผนก็คือ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าเพดานคือ 60 % ถือว่ายังไม่สูงเกินไป แต่ถ้าหากเศรษฐกิจกลับมาดีเหมือนเดิมก็ไม่จำเป็นต้องกู้ จะใช้เงินคลังตามปกติ

 

กลับมาดูส่วนที่ทุกคนจะต้องสนใจเป็นพิเศษคือเงินกู้ฟื้นฟูที่จะใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 เป็นช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูให้คนมีรายได้ขึ้นมาซึ่งเป็นช่วงสั้นๆคือหลักๆจะพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนท้องถิ่นชุมชน กระตุ้นการบริโภค สร้างความมั่นคงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต วางการทำงานในกรอบนโยบายเงิน 4 แสนล้าน เดือนพฤษภาคมทำแล้ว และการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อทางภาครัฐ และเอกชน จัดโฟกัสกรุ๊ปเอาพวกที่มีความเกี่ยวข้องต่างๆมาเสนอกรอบนโยบายต่างๆและทำประชาพิจารณ์และต่อไปก็เป็นการพิจารณาทบทวนสุดท้ายเพื่อเสนอ ครม. ต่อไปก็จะเริ่มทำโครงการ วางแผน และมอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงต่างๆ เสนอมาว่าจะทำแผนงานอะไรบ้าง ช่วงมิถุนายนจะเป็นช่วงให้สกรีนโครงการ และเสนอ ครม.เพื่อใช้เงินตามแผนโครงการ นี่คือขั้นตอนของเงิน 4 แสนล้านที่จะได้ใช้ต่อไป

  1. หลักการนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่วางกรอบไว้คือ 1).เน้นฟื้นฟูสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศหลังโควิด โดยให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจที่ยังคงมีความได้เปรียบ และต่างประเทศที่ยังต้องการ เช่น เกษตรแปรรูป เกษตรมูลค่าสูง อุตสาหกรรมอาหาร และแหล่งกิจการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและยั่งยืนรวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพและโอกาส 2.) เน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพ สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 3.) เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน 4.) เน้นภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ
  2. การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ เน้นเกษตรมูลค่าเพิ่ม ยกระดับชุมชนผลิตภัณฑ์โอทอป ระบบน้ำ ชุมชนท้องถิ่นจะต้องใช้ระบบดิจิตอลเข้ามาช่วย ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
  3. กลุ่มเป้าหมายมี 5 กลุ่ม คือ 1.) เกษตรกร สถาบันการเกษตร สหกรณ์ 2.) ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน 3.)ผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก(SMEs) 4.) แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ 5.)กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน
  4. หลักเกณฑ์ของโครงการคือ เน้นประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการ มีส่วนร่วม โปร่งใส สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์และมีความพร้อมในการดำเนินการทั้งด้านกายภาพและเทคนิค

มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณเงิน 4 แสนล้านบาท เช่น ธกส. กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์

          รศ. ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอประเด็นการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตโควิดว่า ได้มีองค์กรที่รณรงค์สู่สาธารณะไปบ้างแล้วเท่าที่มีสื่อรายงานอย่างน้อย 2 องค์กร คือ

  1. องค์กรพัฒนาเอกชน นำโดย กปอพช.ซึ่งยังไม่ได้มีรายละเอียดข้อเสนอว่ามีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เป็นหลักการที่ กปอพช.เสนอคือให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมกันลงรายมือชื่อซึ่งส่วนแรงงานที่เห็นก็จะมี คสรท. สรส. และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สาระสำคัญคือองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรภาคีที่ควรมีส่วนร่วมกับรัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากว่าแผนฟื้นฟูนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนหลายกลุ่ม ควรที่จะให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย
  2. สถาบันวิจัยสังคมจุฬา เสนอ 3 เรื่อง คือ
  3. รองรับวิกฤตซ้อน จะเห็นว่าวิกฤติโควิดไม่ได้เกิดเฉพาะโรคระบาดเท่านั้นทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งในวิกฤตโลกยังมีวิกฤตซ้อนอื่นๆอีก เช่น ภัยแล้ง ฝุ่น PM 2.5 วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อนที่นำมาสู่การเลิกจ้างต่างๆ เพราะฉะนั้นหากจะหาวิธีรองรับวิกฤตต่างๆจะต้องมองให้รอบด้านใม่ใช่วิกฤตโควิดอย่างเดียว
  4. ย้อนวิเคราะห์อดีต ก็หมายถึงว่าพอมองไปดูอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆมากมาย และจะเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้จะเห็นว่ามีวิกฤตอะไรบ้างที่แย่อะไรที่ดีขึ้น
  5. ขีดเส้นทางใหม่ หมายถึง จะต้องมองถึงการพัฒนาใหม่ขีดเส้นทางใหม่จะต้องมองถึงอนาคตอย่าง New Normal และจะต้องดูว่าเราจะเสนอเส้นทางใหม่ๆอะไรบ้างที่น่าจะดีกว่าที่ผ่านมา

          ประเด็นการมีส่วนร่วมของกลุ่มแรงงาน

          กลุ่มแรกคือ แรงงานในระบบ หรือลูกจ้าง ซึ่งมักถูกมองข้าม อาจเป็นเพราะดูว่าลำบากน้อยกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากมีสวัสดิการอยู่แล้ว เวลาว่างงานก็มีเงินช่วยเหลือมีค่าชดเชยรองรับจึงทำให้ถูกมองข้าม

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติที่ถูกมองเป็นกลุ่มเปราะบาง ถูกพูดถึงอยู่บ้างว่าได้รับผลกระทบอะไร แต่ก็ถูกจัดไปอยู่กับกลุ่มอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในฐานะแรงงาน

จากนั้นเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำเสนอข้อคิดเห็น ร่วมกันถึงแผนฟื้นฟู

  1. ผู้ใช้แรงงาน ทั้งหญิงและชาย มีข้อกังวลอะไรบ้างต่อการจ้างงาน/ความมั่นคงของอาชีพหลังโควิด? แผนฯนี้ช่วยลดความกังวลได้บ้างหรือไม่ อย่างไร?
  2. ภาคแรงงานและสังคมควรมีบทบาท/มีส่วนร่วมในแผนฯนี้อย่างไรบ้าง? ช่องทางการมีส่วน ร่วมมีอยู่บ้างหรือไม่ อย่างไร?
  3. มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างต่อการปรับปรุงกรอบการดำเนินงานของแผนฯ?

ดำเนินรายการโดย นายมานิตย์ พรหมการียก์กุล สภาองคก์ารลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

สรุปได้ดังนี้

  1. กระทรวงแรงงานที่ดูแลทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะงบประมาณพัฒนาส่งเสริมอาชีพที่คาดว่าจะมีตกงาน 7 ล้านคน กระทรวงพัฒนาสังคมมนุษย์ก็ไม่มี ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลคนที่ด้อยโอกาส และส่วนที่น่าเป็นห่วงคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูเหมือนจะเอาแผนเก่ามาเล่าใหม่ จะทำอย่างไรที่จะได้ประโยชน์จากเงิน 4 แสนล้านบาท
  2. จังหวัดภูเก็ต สถานที่ท่องเที่ยว แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำงานบริการ ซึ่งแรงงานที่จะกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาก็ไม่แน่ใจว่ารายได้จะเท่ากับที่ทำงานหรือเปล่า จึงเสนอว่าช่วงฟื้นฟูในระยะสั้นอยากให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยไทยเที่ยวไทย ให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัย สร้างงานมีรายได้เหมือนที่เคยทำ
  3. เสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือลูกจ้างในระบบ ให้ทั่วถึงอย่างเร่งด่วนเพื่อให้อยู่ได้ในช่วงโควิด
  4. เสนอให้ภาครัฐและนายจ้างร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาฝีมือแรงงานที่อยู่ในส่วนปฏิบัติการที่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาผีมือหรือมีโอกาสน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบริหารมากกว่าที่จะได้รับการพัฒนา
  5. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายจัดสรรงบประมาณส่งเสริมอาชีพพัฒนาฝีมือให้พนักงาน ไม่ใช่ทำงานให้นายจ้างฝ่ายเดียว และเพื่อเป็นการเตรียมการรับมือในอนาคตหากเกิดวิกฤตอีก เป็นการสำรองอาชีพในอนาคต
  6. เสนอให้ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเสริมให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทางกลุ่มสภาแรงงานยานยนต์ฯได้รวบรวมความเห็นและทำหนังสือเสนอรัฐบาล
  7. เสนอ ให้เกิดการสร้างงาน โดยสนับสนุนงบประมาณด้านวิศวกรรมทางด้านการเกษตร ใช้แรงงานที่มีประสบการณ์ไปสร้างงาน ใช้เทคโนโลยีไปหนุนเสริมทางด้านการเกษตรผ่านกลไกลสหกรณ์การเกษตร
  8. สำหรับการส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุนมาลงทุน จะต้องกำหนดสัดส่วนเลยว่าส่วนแรงงานกับโรบอทสัดส่วนเท่าไหร่
  9. เสนอให้ไปคุยกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันให้กระทรวงแรงงานมีบทบาทมากขึ้น ให้มีพื้นที่ในการพูดคุยว่าจะทำงานกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างไร นำข้อเสนอประเด็นแรงงาน 7 ล้านคนที่คาดว่าจะตกงานไป เป็นเกษตรกร 1.7 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ที่มีความหลากหลายอนาคตจะเป็นแรงงานรูปแบบไม่ชัดเจน จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกระทรวงแรงงานหรือไม่ เสนอผลักดันกระทรวงแรงงานให้ดูแล ส่วนงานภาคเกษตรไม่รู้จะยั่งยืนหรือไม่
  10. เสนอเรื่องกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ขยายกองทุนสงเคราะห์ให้นายจ้างมีส่วนสมทบเข้า

มาเพื่อรองรับผลกระทบคนตกงานในอนาคต

  1. สนับสนุนให้ขายของออนไลน์ เป็นอาชีพเสริม กระทรวงแรงงานต้องทำงานมากกว่านี้ ควรมีมาตราการในการช่วยแรงงานให้มาก
  2. เสนอแรงงานในระบบ ที่ออกมาเป็นแรงงานนอกระบบ รัฐ เกษตรกร แรงงาน ต้องมีศูนย์กลางให้ส่งเสริมด้านการให้ความรู้รวมทั้งติดตามหาตลาดกำหนดราคาสินค้า กำหนดราคาและนำสู่ตลาดกลาง ต้องมีการดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย
  3. กระทรวงแรงงานต้องมาดูเรื่องพัฒนาฝีมือแรงงานและหางานให้ทำด้วย