แรงงานหลังโควิด-19

การจ้างงานและการคุ้มครองทางสังคมหลังโควิด

Employment and Social Protection after Covid

โดย ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ร่วมกับ

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(Friedrich-Ebert-Stiftung)

  1. ความเป็นมา

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ใช้แรงงานหลายล้านคนได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัส

กลุ่มแรกคือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เฉพาะกิจการโรงแรม มีแรงงานทั้งหมดราว 1.63 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งหมดต้องหยุดงานไม่มีรายได้

ต่อมาคือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทั้งหมดประมาณ 21 ล้านคน ราว 7 ล้านคนทำงานในภาคการค้าและบริการในเขตเมือง เกือบทั้งหมดต้องหยุดงานและไม่มีรายได้ หรือมีงานและรายได้น้อยลง

ปัจจุบันผลกระทบกำลังขยายสู่แรงงานอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีโรงงานหลายแห่งเริ่มปิดการผลิตบางส่วนแล้ว กลุ่มนี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมซึ่งมีทั้งหมดราว 11.6 ล้านคน บางส่วนต้องหยุดงาน ไม่มีรายได้ บางส่วนมีงานและรายได้น้อยลง

จากผลกระทบที่กว้างขวางครอบคลุมแทบทุกภาคส่วน ประเมินกันว่ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงไม่น้อยกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต นั่นหมายถึงแรงงานหลายล้านคนจะได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว  ทางสหภาพแรงงานและภาคีจากภาคสังคมจึงประสานความร่วมมือกันเป็น “ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด” และจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้สำหรับใช้พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งเพื่อลดความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและช่วยให้แรงงานปรับตัวสู่สถานการณ์หลังโควิดได้

  1. วัตถุประสงค์

  • รวบรวมปัญหาและความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
  • จัดทำสื่อเพื่อรณรงค์เผยแพร่ให้มีนโยบายที่ช่วยลดผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
  • ส่งสริมเครือข่ายความร่วมมือและการปรึกษาหารือระหว่างกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

แรงงานผนึกพลังสังคมขับเคลื่อนความเป็นธรรมในวิกฤตโควิด

มานิตย์ พรหมการีย์กุล

ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

ข้อกังวลของแรงงานคือตอนนี้นายจ้างเริ่มจะมีผลกระทบจากยอดการผลิตการส่งออกลดลงเกิน 50% เกือบทุกบริษัท ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ หลายบริษัทให้พนักงานหยุดงาน โดยเฉพาะพนักงานซับคอนแทรคให้ส่งกลับต้นสังกัดแต่ไม่ได้บอกว่าเลิกจ้าง ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ซึ่งหลายคนทำงานมา 6-7 ปี จะไปฟ้องศาลแรงงาน แต่นิติกรบอกฟ้องไม่ได้เพราะยังไม่ถูกได้เลิกจ้าง ทำให้ฟ้องศาลเพื่อเอาเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541ไม่ได้ พนักงานที่ถูกส่งกลับบริษัทซับคอนแทรคก็ไม่มีระยะเวลาแน่นอนว่าจะเรียกให้มาทำงานเมื่อใด

ส่วนพนักงงานประจำ มีปัญหาจากการที่มีกฎกระทรวงเรื่องเหตุสุดวิสัย คือสถานประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการได้หรือไม่สามารถผลิตได้เป็นบางส่วน แต่นายจ้างได้ให้พนักงานหยุดงานบ้างมาทำงานบ้างโดยที่สายการผลิตยังทำงานอยู่จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวง กลุ่มนี้ไม่ชัดเจนว่าจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายและยังไม่รู้ว่าจะถูกเรียกเข้ามาทำงานเมื่อใด

ส่วนพนักงานอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องออกไปเลย ต้องตกงานโดยไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน

ในส่วนของภาคแรงงานจึงต้องเชื่อมโยงประสานความร่วมมือกับภาคเครือข่ายสังคม ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบ

ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด เป็นการรวมกันของหลายๆภาคส่วนที่เวลามาประชุมหารือได้เอาหลายความคิดมารวมกันทำให้ได้มุมมองที่หลากหลาย ถือว่าเป็นประโยชน์มาก แต่การที่จะนำผลสรุปไปเสนอต่อรัฐบาลก็ต้องให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของภาคีด้วย

วิจิตร ดาสันทัด

ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต

ข้อกังวลห่วงใยคือลูกจ้างไม่มีกินไม่มีใช้ จะทำให้ชีวิตพวกเขายากลำบากและเป็นปัญหาสังคมตามมามากมาย ในจังหวัดภูเก็ตก็ได้รับผลกระทบจำนวนหลายแสนคนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คือกระทบกับครอบครัวของลูกจ้างซึ่งภูมิลำเนาอาจไม่ได้อยู่ที่ภูเก็ตต้องเดือดร้อนไปด้วย

ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิดที่ทำกันขึ้นมา เพื่อระดมความคิดเห็นสะท้อนปัญหาที่ตรงเป้าตรงประเด็นสู่ผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดอย่างฉับไว

ส่วนในการฟื้นฟูเท่าที่ได้ติดตาม คาดว่าจะได้การช่วยเหลือทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดการซื้อขายเงินสะพัด จึงเสนอว่าให้เร่งทำให้เร็วเพราะยิ่งช้าปัญหาจะยิ่งลุกลามบานปลาย แต่ทำเร็วก็อยากให้แก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช้แก้แบบหว่านแหสะเปะสะปะไปเรื่อย เงินมีน้อยอยู่แล้วถ้านำไปใช้จ่ายผิดประเภทหรือผิดทาง ก็จะทำให้การช่วยเหลือมาไม่ถึงผู้เดือดร้อนโดยตรง

ศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง

เลขาธิการสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

ความกังวลต่อสถานการณ์คือจะมีการปรับลดขนาดองค์กรลงในอนาคตอย่างแน่นอน การจ้างงานก็ต้องลดลง คนงานที่อยู่ในฝ่ายผลิตก็ต้องลดลงไปด้วย ส่วนคนที่ทำงานด้านงานบริหาร บัญชี จัดซื้อ อนาคตอาจไม่ต้องมาทำงานที่บริษัท เป็นการ work from home ก็ได้ ความคุ้มครองความมั่นคงในการทำงานก็จะหายไป หากเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่บ้านจะถือว่าเป็นการเจ็บป่วยในงานหรือไม่ นายจ้างต้องดูแลระหว่างที่ลูกจ้างทำงานที่บ้านหรือไม่ กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่มีการแก้ไขเพื่อรองรับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จากรายเดือน เป็นรายวัน เป็นรายชั่วโมง เป็นสัญญาจ้างชั่วคราว เมื่อกฎหมายไม่ได้คุ้มครอง แรงงานจะทำอย่างไร อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

ในส่วนของพนักงานประจำก็เริ่มมีข่าวการปลดออกเลิกจ้างหรือให้ออกเอง โดยวิกฤตโควิดทำให้มีการปลดออกหรือเลิกจ้างมากขึ้น การส่งคนงานเหมาค่าแรงกลับไปยังบริษัทซับคอนแทรค เพราะออร์เดอร์ลดลงแรงงานจึงไม่เป็นที่ต้องการ เหล่านี้ก็คือปัญหา

เห็นด้วยที่เกิดกลุ่มภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด เพื่อจะได้เป็นการส่งต่อแบ่งปันข้อมูลในกลุ่มแรงงานต่างๆทั้งแรงงานในระบบนอกระบบที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่กลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบก็จะได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น เรื่องบางเรื่องที่ไม่ถูกสะท้อนในสื่อหลักก็มีโอกาสสะท้อนแลกเปลี่ยนในสื่อออนไลน์ จะได้มีการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือกลุ่มคนงานที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ ซึ่งกลุ่มภาคีนี้มีทั้งนักวิชาการ แรงงานจากหลายอุตสาหกรรมที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน นำเสนอความจำเป็นของแรงงานที่จะต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจไม่มีทางที่จะเติบโตขับเคลื่อนไปได้ถ้ากลุ่มแรงงานยังไม่มีงานทำ ยังไม่มีรายได้ แล้วจะเอาอะไรไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้รัฐบาลจะกู้เงินมาฟื้นฟูก็ตาม แต่ถ้าคนกลุ่มนี้ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบรวมแล้ว 30 กว่าล้านคนไม่ได้รับการจ้างงานหรือไม่มีงานทำ แน่นอนว่าเศรษฐกิจจะไม่มีทางขับเคลื่อน ไม่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ของก็ขายไม่ออก ธุรกิจก็ต้องเจ๊งแน่นอนถ้าฟื้นฟูไม่ถูกจุด

สาวิทย์ แก้วหวาน

เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 

เป็นห่วงสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจนซึ่งบางแห่งก็ปิดกิจการแล้ว บางแห่งปิดชั่วคราว สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือคนจำนวนหนึ่งจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งงานเดิมไม่ได้ จำนวนอีกไม่น้อยจะไม่มีงานทำไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ประเด็นก็คือคนเหล่านี้จะไปทำอะไร จะกลับชนบทไปทำไร่ไถนาแบบเดิมเหมือนวิกฤตปี 2540 ก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะสถานการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจะมีภาวะการตกงานว่างงานเป็นจำนวนมาก การสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย ทั้งเรื่องการเยียวยา 5 พันบาทตามนโยบายรัฐบาลเราไม่ทิ้งกันก็แค่เดือนมิถุนายน เรื่องประกันสังคมที่พยายามเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงิน สิ่งที่เป็นความห่วงใยคือคนงานจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ซึ่งรวมทั้งคนที่อยู่ข้างหลังคือครอบครัว พ่อแม่ การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ตกงานว่างงานขาดรายได้ การประกอบอาชีพใหม่ ทุกคนก็พยายามดิ้นรนเอาตัวรอด อาจจะมีการค้าขายแต่คนขายก็จะมีมากกว่าคนซื้อ ซึ่งคิดว่าต้องหาแนวทางร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร

เป็นเรื่องที่ดีที่แต่ละเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นสภาแรงงาน ภาคเอกชนกลุ่มที่ขับเคลื่อนด้านแรงงานก็พยายามที่จะหาแนวทางที่สะท้อนปัญหาไปสู่รัฐบาล บางส่วนข้อเสนอก็เหมือนกัน บางส่วนก็แตกต่างกัน ข้อเสนอทั้งหมดต้องมีความเป็นเอกภาพระดับหนึ่งเพื่อให้ข้อเรียกร้องเหล่านั้นมีพลัง จะได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องคุยกัน หรือใช้ภาคีนี้ก็ได้(ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด)เตรียมข้อเสนอที่รับกันได้ พูดคุยกันแล้วขับเคลื่อนให้มีพลังเป็นเอกภาพในข้อเรียกร้องในประเด็นที่เห็นว่าตกผลึกแล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องยื่นครั้งเดียว เรื่องไหนตรงกันก็เสนอไปพร้อมหาการสนับสนุนจากมวลชนพื้นที่ต่างๆแม้กระทั่งภาควิชาการ สื่อมวลชน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ช่วยกันผลักดัน  ส่วนประเด็นที่ยังต่างๆกันก็คุยกันให้ได้ข้อสรุปยอมรับร่วมกันแล้วก็ขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งภาคีที่เราคุยกันก็มีข้อเสนอบางส่วนแล้ว เช่นเสนอให้มีกลไกพิเศษเพื่อตรวจสอบกรณีนายจ้างปิดกิจการจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่เดือดร้อนจริง บางส่วนไม่เดือดร้อนจริงแต่  อาศัยสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุดต่อคนงานและผู้ประกอบการ ไม่ใช่ใช้สถานการณ์โควิดทำให้ตัวเองหลุดพ้น ในขณะที่ภาระทั้งหมดไปตกอยู่กับกองทุนประกันสังคมซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความกังวลใจอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดมี 3 ประเด็นหลักๆ

  1. การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากกฎหมายไม่ชัดเจน
  2. เรื่องการคุ้มครองทางสังคม จากวิกฤตโควิดจะเห็นว่าระบบปกป้องคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม จะต้องทำอย่างไรให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเข้าถึงประกันสังคมได้
  3. เรื่องอาชีพใหม่ ตอนนี้จะเห็นว่าคนที่ถูกเลิกจ้างแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ สภาพจิตใจก็ย่ำแย่ไม่รู้จะไปทางไหน จะเริ่มต้นอย่างไร

เป็นความน่ากังวลใจ 3 เรื่องที่คิดว่าทั้งตัวแรงงานเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแล

คิดว่าการรวมกลุ่มในภาวะวิกฤตแบบนี้เป็นประโยชน์มากที่จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ เป็นเวทีที่มาร่วมมือกันหาทางออกให้กับประเทศ ถ้าไม่รวมกลุ่มกัน แรงงานก็อยู่กระจัดกระจายและจะไม่ทราบข้อมูลข่าวสารอะไรเลย ส่วนภาครัฐก็จะได้ประโยชน์จากการสื่อสารผ่านเครือข่ายแรงงานด้วย และอยากให้ภาคีเครือข่ายแรงงานคิดไปข้างหน้าว่าการเยียวยาจะสิ้นสุดลงแล้วใน 3 เดือน แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอาจจะยาวไปถึงสิ้นปีหรือปีหน้า ตรงนี้เราจะทำอย่างไรต่อ เงิน 5 พันบาทได้ 3 เดือน ประกันสังคมได้ 3 เดือน พอหมดแล้วงานยังไม่มาเศรษฐกิจยังไม่มา รายได้ยังไม่มี เราต้องเดินต่อว่าต้องทำอะไร ช่วยกันคิด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อกังวลก็คือจะมีคนที่ต้องว่างงานต่อเนื่องจำนวนมากเนื่องจากธุรกิจที่ยังเปิดไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งก็เป็นทั้งปัญหาเศรษฐกิจก่อนหน้านี้และผลกระทบจากโควิด อีกข้อหนึ่งก็คือจะมีคนที่จะว่างงานในอนาคตอันใกล้ เพราะจะมีการปิดงานบางส่วนเนื่องมาจากสาเหตุอื่นๆเช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีการใช้เครื่องจักรหรือใช้ระบบออนไลน์มาแทนคน

ในส่วนของภาคีสังคมแรงงาน งานที่จะเน้นก็คงจะเป็นเรื่องของการรณณรงค์เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูกับการคุ้มครองทางสังคมหลังโควิดซึ่งจะมีกิจกรรมของภาคีที่จะทำต่อเนื่องกันไป

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าจะต้องทำในเรื่องของแรงงานก็คือ เรื่องการพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรสหภาพแรงงานกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆซึ่งต่อไปมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวพันกันมากขึ้น โดยที่ผ่านมาสหภาพแรงงานซึ่งเป็นแรงงานในระบบค่อนข้างจะห่างและถูกมองข้ามจากภาคประชาสังคม ส่วนแรงงานนอกระบบกับแรงงานข้ามชาติจะมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่เชื่อมกับภาคประชาสังคมอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะแรงงานนอกระบบยังไม่มีการรวมตัวเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง จึงคิดว่าในโอกาสที่ฝ่ายแรงงานรณรงค์เรื่องการฟื้นฟูการจ้างงาน การคุ้มครองสิทธิต่างๆ ก็น่าจะมีการพัฒนาความร่วมมือกับทางองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน