แรงงานข้ามชาติที่ถูกลืม ในสมรภูมิโควิด-19

 ชี้แรงงานข้ามชาติอยู่อย่างยากลำบาก ขาดการดูแลและเข้าถึงสิทธิการป้องกันไวรัสโควิด-19 ว่างงาน ไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง ตกงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน กลับประเทศต้นทางไม่ได้ แรงงานที่ระดมความช่วยเหลือกันเองเพื่อยังชีพ

เมื่อวันศุกร์ที่  8 พฤษภาคม 2563 ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง แรงงานข้ามชาติที่ถูกลืม ในสมรภูมิโควิด-19 ทาง https://www.facebook.com/voicelabour.org ดำเนินรายการโดย วาสนา ลำดี Voicelabour พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยสรุปได้ดังนี้

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์  วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หมายความว่า เป็นสังคมที่มีความหลากหลายต้องมาอยู่ร่วมกัน ทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งคนที่มีความแตกต่างจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างมีความสุข

ในส่วนของแรงงานข้ามชาติอยู่ร่วมกับเรามา ในส่วนที่เขามีความแตกต่างจากเราในเรื่องของเชื้อชาติ วัฒนธรรม สำหรับแรงงานข้ามชาติจริงๆแล้วไม่ใช่เพิ่งมี 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่หากย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ แรงงานข้ามชาติอยู่คู่กับ สังคมไทยมาตลอด และมีส่วนผลักดันระบบเศรษฐกิจไทยในยุคต่างๆมาโดยตลอด ในยุคแรกๆตั้งแต่ปลายอยุธยาจนต้นรัตนโกสินทร์ แรงงานข้ามชาติคือ เชลยที่ถูกกวาดต้อนมาหลังทำสงครามกันและก็แพ้ ซึ่งช่วงนั้นเศรษฐกิจยังเป็นยุคศักดินาซึ่งมาโดยไม่เต็มใจ

ยุคต่อมายุคคนจีนอพยพคือ แรงงานข้ามชาติที่มาโดยสมัครใจเป็นแรงงานที่เข้ามาในยุคเริ่มพัฒนาทุนนิยมในสมัยตอนแรกๆที่คนไทยยังไม่มีอิสระเพราะอยู่ในระบบไพร่-ทาส โดยได้คนงานจีนเป็นแรงงานราคาถูก อดทน มาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อมาจนถึงปัจจุบันในช่วง 20-30 ปี ที่ผ่านมาก็มาสู่ยุคของการเป็นแรงงานเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ก็เป็น พม่า ลาว กัมพูชา อันนี้จะอยู่ในยุคทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์แล้ว ซึ่งแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีบทบาทและความสำคัญ เราก็เห็นกันอยู่ถ้าขาดแรงงานข้ามชาติไปเมื่อไหร่ก็จะเห็นในหลายๆอุตสาหกรรมก็ไม่มีคนทำงานรวมทั้งในภาคบริการด้วยแรงงานข้ามชาติก็อยู่กับเรามาหลายปีจนกระทั่งที่มันเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่เรากำลังจะพูดในวันนี้มันมีผลอะไรกับเขาที่ช่วยกันผลักดันระบบเศรษฐกิจมาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติหลังวิกฤตโควิดมันมี 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก เขาก็ประสบกับปัญหาในลักษณะแรงงานไทยเหมือนๆกัน ตกงาน โรงงานปิด  ตกงานก็จะได้รับเงินประกันว่างงานช้าหรือบางรายอาจจะไม่ได้รับเลย

ลักษณะที่ 2 เป็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเขาประสบมากกว่าแรงงานไทย บางเรื่องมันเกิดจากข้อจำกัดทางกฎหมายการที่เขาไม่ได้เป็นแรงงานไทย ลักษณะที่ 2 ที่เป็นปัญหาคือ ปัญหาที่เกิดจากอคติด้านชาติพันธ์มันเกิดมาจากมุมมองที่มีต่อแรงงานข้ามชาติอย่างน้อยใน 3 ลักษณะ คือ

หนึ่งมุมมองที่มองว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งในยุคแรกๆที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาในเมืองไทยเข้าใจว่า มุมมองนี้มีเยอะจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ถ้ามีแรงงานข้ามชาติเข้ามามากๆมันก็จะทำให้ประเทศเราขาดความมั่นคงไป ช่วงหลังดีขึ้นเพราะว่า ภาคธุรกิจต้องการใช้แรงงานข้าม ฉะนั้นเรื่องความมั่นคงก็อาจจะลดลงไป ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน

มุมมองที่ 2 ก็คือแรงงานข้ามชาติเป็นภัยทางสังคม ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้จากภาพสะท้อนที่ออกมาจากสื่อมวลชน เช่น แรงงานพม่าฆ่านายจ้าง ทำร้ายนายจ้าง ขโมยของอะไรต่างๆ ซึ่งสิ่งที่เกิดมันเป็นสัดส่วนที่น้อยเป็นสิ่งที่สื่อนำเสนอเลือกภาพเหล่านี้ออกมาก็เลยเป็นเหมือนภาพลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติไป

ส่วนที่ 3 เขาถูกมองว่า เป็นภัยด้านสาธารณสุข อันนี้คิดว่า ตั้งแต่ยุคแรกๆที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาก็ถูกมองว่า ทำให้เราเป็นโรคติดต่อซึ่งเคยสูญหายไปกลับมาใหม่ อย่างโรคเท้าช้าง เป็นต้น จนมาถึงช่วงวิกฤตโควิดประเด็นนี้ก็ถูกมองมาอีกครั้งหนึ่ง จากข่าวสารที่ได้เห็น เช่น มีการรายงานว่า คนไทยไม่ติดเชื้อโควิดแล้วมีแต่แรงงานข้ามชาติเท่านั้น ในลักษณะการมองแบบนี้มันก็ก่อให้เกิดอคติขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวเพราะมองว่า แรงงานข้ามชาติมีความต่างจากคนไทยเป็นตัวที่ทำให้เกิดความแตกต่างทั้งทางด้านความมั่นคง ด้านภัยสังคม ด้านสาธารณสุข

ดังนั้นสรุปว่า สิ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหามากกว่าแรงงานไทยในยุคโควิดมันก็เกิดจากข้อจำกัดในเรื่องของข้อกฎหมายบางอย่างที่ไม่สามารถที่จะได้รับการคุ้มครอง หรือได้สิทธิตรงนั้นได้ ส่วนข้อที่ 2 มันไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย เกี่ยวกับทัศนคติ หรือ อคติ ของคนอื่นที่มองเขาทำให้เขาถูกกีดกันไปจากความช่วยเหลือบางอย่าง

หากถามเรื่องการรวมกลุ่มของแรงงานนั้นสำคัญอยู่แล้ว โดยการรวมกลุ่มมี 2 รูปแบบ ดังนี้

แบบแรก รวมกลุ่มกันเองโดยที่มาไม่มีกฎหมายรองรับซึ่งก็เข้าใจว่าการเข้ามาก็พอมีอยู่บ้าง มีเอ็นจีโอ เข้าไปช่วยในการรวมกลุ่มจะเป็นการช่วยเหลือกันเองในขั้นพื้นฐานได้ แต่มันมีข้อจำกัดว่ามันไม่สามารถมีอำนาจต่อรองอะไรกับนายจ้างหรือรัฐมันไม่ได้รับโดยกฎหมาย

การรวมกลุ่มแบบที่ 2 คือ การรวมกลุ่มที่มีกฎหมายรองรับ แรงงานที่เห็นอยู่ปัจจุบันก็คือรวมเป็นสหภาพแรงงาน สำหรับคนทั่วไปอาจจะเข้ามใจว่า แรงงานข้ามชาติไม่สามารถที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ แต่จริงๆแล้วตามกฎหมายแรงงานเป็นสมาชิกได้ เพียงแต่ว่าตั้งสหภาพเองไม่ได้เพราะว่าเป็นสมาชิกเขาไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นสัญชาติไทย จากการทำวิจัยก็พบว่า แรงงานหลายแห่งเข้าใจผิดก็คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกไม่ได้ ถ้าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบในโรงงานที่มีสหภาพแรงงานคงต้องฝากไปถึงสหภาพแรงงานว่ายังก็ช่วยไปเอาเขาเข้ามาเป็นสมาชิกก็จะทำให้ตัวสหภาพแรงงานตัวเองเข้มแข็งขึ้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และขณะเดียวกันแรงงานที่อยู่ในโรงงานที่มีสหภาพเขาก็จะได้การคุ้มครองแรงงานจากสหภาพแรงงานด้วย

นายอดิศร เกิดมงคล  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรและประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ ปัญหาหลักคือการเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ การช่วยเหลือของรัฐ เนื่องจากข้อจำกัด เรื่องของภาษา และทางด้านกฎหมาย คือ การขาดความเข้าใจในสิทธิแรงงาน อย่างประเด็นสิทธิประกันสังคมในช่วงนี้เห็นได้ชัด ประเด็นหลักของแรงงานข้ามชาติที่พบคือ การคุ้มครองที่เข้าไม่ถึง คิดว่า กฎหมายแรงงานไทยดีคุ้มครองคนทุกคน แต่ปัญหาเรื่องโควิด การจะไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ เป็นเรื่องยากต้องเข้าคิวรอคนจำนวนมาก จึงทำเป็นระบบออนไลน์ สิ่งที่พบคือ ไม่มีภาษาของแรงงานมีแต่ภาษไทย ภาษาอังกฤษ โดยภาษาไทยเป็นหลักมากกว่า ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงได้ยาก

ส่วนนที่ 2  แรงงานข้ามชาติเป็นใครกันบ้างในประเทศไทย จากตัวเลขจะเห็นได้ชัดว่า แรงงานข้ามชาติที่เป็นงานกรรมกรมีอยู่ 4 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนามอาจไม่ค่อยเห็นเวียดนามเพราะว่า เวียดนามค่อนข้างน้อยไม่มีการนำเข้าแรงงาน ในช่วงหลังๆ จริงๆแรงงานเวียดนามก็เข้ามาในประเทศไทยตั้งนานแต่เพิ่งมาเข้าสู่ระบบในช่วงหลัง ถ้าดูตัวเลขจะเห็นแรงงานพม่ามากที่สุด 1.6 ล้านกว่าคนคิดเป็น 66 % ของทั้งหมด รองลงมาคือแรงงานกัมพูชามรประมาณ 5 แสนกว่าคน และแรงงานลาวมีประมาณ 2 แสนกว่าคน ที่เหลือก็เป็นเวียดนาม 94 คน ที่ทำงานในประเทศไทย จังหวัดที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร มี3-4 สัญชาติอยู่ที่ประมาณ 6 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่คิดว่าแรงงานข้ามชาติมากที่สุด อยู่อันดับที่ 2 ราวแสนกว่าคน รองลงมาคือ นครปฐมและปทุมธานีซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติมาก ในอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ประมาณ 1 แสน 6 หมื่นกว่าคน และจังหวัดนนทบุรีอันดับที่ 5 อันดับที่ 6 เป็นจังหวัดสมุทรปราการ

จะเห็นได้ว่าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีการจ้างแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก ส่วนในต่างจังหวัดก็จะมีจังหวัดใหญ่ๆอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนกว่าคน เช่น จังหวัดระยอง ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมากก็ประมาณ 1.5 แสนกว่าคน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมหรือว่า มีการจ้างงานเข้มข้น เช่น กรุงเทพมหานคร ตัวเลขที่น่าสนใจปัจจุบันก็มีแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วยโควิดอยู่ระดับหนึ่ง ไม่นับกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยต้องกักตัวอยู่ที่สะเดา ผู้ป่วยที่กรุงเทพมหานครจำนวน 20 กว่าคน และก็สมุทรปราการ 1 คน นนทบุรี 1 คน ซึ่งก็สอดคล้องกับการกระจายตัวของแรงงานข้ามชาติที่มีมากที่สุด

กิจการที่แรงงานข้ามชาติทำส่วนใหญ่เป็นฐานของการผลิต อันดับแรกจะเห็นได้ชัดคือก่อสร้าง 535,735 กว่าคน คิดเป็น 20% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ซึ่งเห็นคนงานก่อสร้างที่ยังไม่มีงานทำส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้าม พม่า ลาว และกัมพูชา มีแรงงานเวียดนามบางส่วนที่อยู่ในโซนของปทุมธานี รองลงมาคือ งานบริการ 2 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก เช่น ร้านอาหาร กิจการโรงแรม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกิจการนี้ ต่อเนื่องคือภาคเกษตรที่ทำผลผลิตที่เอามาแปรรูปต่อ และเป็นอันดับที่ 3 ก็คือ 2 แสนกว่าคน ภาคเกษตรเองก็จะมีการจ้างงานค่อนข้างมากโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ภาคเกษตรค่อนมาก เช่น ภาคตะวันออกก็จะมีการจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างมาก อันดับ 5 เป็นเรื่องของการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหลักๆก็จะเป็นพวกโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงร้านบริการ ร้านค้า ร้านอาหารทั้งหลาย มีประมาณแสนกว่าคน

ฉะนั้นถ้าดูจากตัวเลขจะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก คือภาคบริการจำหน่ายอาหารค่อนข้างมาก ก่อสร้างคาดการว่า ประมาณสักครึ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เพราะว่า การดำเนินการก่อสร้างในช่วงหลัง จะเริ่มไม่มีงานทำแล้ว เพราะว่า กระทบโควิดค่อนข้างมาก เราจะเห็นแรงงานข้ามชาติ ทั้งกิจการก่อสร้าง และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในช่วงสถานการณ์ในช่วงนี้

ผลกระทบที่ค่อนข้างชัดของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิดใช้คำว่า “อยู่ต่อก็ไม่ไหว กลับไปก็ไม่ถึง” คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากโควิดมาก็คือ พอรัฐสั่งปิดกิจการหลายกิจการหรือการดำเนินการไปไม่ไหว เช่น ส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวหรือบริการ ต่อให้รัฐไม่สั่งปิดก็อยู่ต่อไม่ได้ การติดต่อค้าขายเริ่มน้อยลง การท่องเที่ยวเข้ามาน้อยลงจำเป็นต้องปิด ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศต้นทางก็มีนโยบายปิดชายแดนห้ามเดินทางเข้า-ออก ปัญหามันก็เหมือนแรงงานข้ามชาติอยู่ตรงกลาง ก็คือให้อยู่เมืองไทยต่อก็ไม่รู้จะอยู่ในฐานะอะไร

เงินก็ไม่มี งานก็ไม่มี จะกลับก็กลับไม่ได้อีกเพราะว่าชายแดนก็ปิดอีก ทำให้เกิดสถานการณ์ที่รุมเร้าทำให้แรงงานข้ามชาติเองก็อยู่ได้ค่อนข้างยากในประเทศไทยในช่วงนี้ คาดการณ์ว่า มีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในภาวะที่ไม่มีงานทำก็คือตกงานบ้างถูกเลิกจ้างนายจ้างปิดกิจการชั่วคราว ไม่มีรายได้ที่จะใช้ชีวิตอยู่มากกว่า 7 แสนคน คิดว่าปัจจุบันถ้าดูจริงๆอาจถึงล้านคน เพราะหลายกิจการเริ่มเห็นภาพปิดกิจการได้ชัด สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องของการปิดกิจการผลกระทบในแง่ของจ้างงานเราเห็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือ ตัวกิจการถูกปิดการเลิกจ้างเกิดขึ้นทันทีไม่ได้รับค่าชดเชยเพราะว่ามันมีขบวนการทางกฎหมายที่เข้าไปยื่นคำร้องที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แม้ว่าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขามีระบบออนไลน์ให้แรงงานสามารถยื่นออนไลน์ก็ตามแต่ก็พบว่ามันมีปัญหาค่อนข้างมาก เช่น ตัวระบบมันไปล็อคเลข 13 หลักของแรงงานที่ไปยื่น

สองก็คือ ต้องใช้อีเมล์เพื่อจะขอไปยื่นรับสิทธิประกันสังคม หากมีแรงงาน 100 คน ไม่ได้มีอีเมล์กันทุกคนค่อนข้างลำบากพอสมควร และยืดเยื้อยากเกินไปสำหรับแรงงานข้ามชาติ การขาดรายได้ชัดเจนมากเพราะว่าช่วงเดือนแรกภาพชัดยังไม่ชัด เพราะยังพอมีรายได้งวดสุดท้ายใช้อยู่ พอขึ้นเมษายน2563 สถานการณ์ชัดเจนว่าผลกระทบพอพฤษภาคม2563 เกิดภาวะวิกฤตใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ กรณีเงินค่าชดเชยการว่างงานจาก 62% กรณีของปิดกิจการชั่วคราว เพราะว่า การเข้าถึงค่อนข้างยากการปิดพื้นที่ การออกมาติดต่อกับรัฐมันยากและระบบออนไลน์มันไม่ได้เหมาะกับแรงงานข้ามชาติจริงๆ

กลุ่มที่ 2 ที่พบคือกลุ่มเหมาช่วง เหมาค่าแรง ซึ่งตามกฎหมายการบริหารจัดการสำหรับคนต่างด้าวถ้าเป็นแรงงานอื่นจะถูกห้ามมิให้มีการจ้างงานลักษณะอย่างนี้ พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาจำนวนมากที่มี MOU อยู่ในลักษณะงานเหมาช่วงพอเกิดวิกฤตแบบนี้บริษัทขนาดใหญ่ ส่งแรงงานเหล่ากลับไปยังนายจ้างเดิมก่อน และบริษัทเหมาช่วงไม่ได้มีการเลิกจ้าง ให้ไปอยู่เฉยๆ ใช้เรื่องของว่างงานก็ใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีการเลิกจ้างโดยกฎหมายมีการจ้างงานกันอยู่ ต้องไปไล่บี้ การไม่จ่ายค่าจ้างของบริษัท ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่แรงงานเจอจะทำยังไงต่อ

อีกอันคือ ไม่ถูกเลิกจ้างแต่ว่าลดเวลาการทำงาน ลดวันทำงานและลดค่าจ้างลง ที่ไปเจอกรณีล่าสุด ตอนนี้ระยะเวลาการทำงาน 1 เดือน เหลือแค่ 8 วัน ค่าจ้างเหลือแค่ประมาณ 2,600 บาท ค่าหอพัก 2,400 บาท แทบไม่เงินที่จะกินกัน เหลือแค่ประมาณ 200 กว่าบาท ที่ใช้ในแต่ละเดือน ถือว่า ค่อนข้างน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนของแรงงานข้ามชาติ คือไม่มีรายได้ ความช่วยเหลือจากรัฐแทบจะไม่มีเลย กลุ่มที่มีประกันสังคม คือกลุ่มสามารถใช้สิทธิว่างงานได้ กลุ่มที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ 5,000 บาทจากรัฐ ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติ ถูกกำหนดด้วยความไม่มีสัญชาติไทยทำให้การช่วยเหลือตรงนี้ไม่เกิดขึ้น แรงงานข้ามชาติอยู่บนความเสี่ยง 3 อย่าง คือ ความเสี่ยงในการดำรงชีวิตขาดรายได้ ไม่มีงาน ไม่มีค่าที่พักอาศัย อันที่สองคือ เสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุชัดเจนว่า แรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างให้ออกจากงานโดยไม่ว่าเงื่อนไขใดจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน สถานการณ์นี้ค่อนข้างยาก ขณะเดียวกันพอถูกปิดกิจการชั่วคราวก็ไม่สามารถขยับขยายไปหานายจ้างใหม่ได้เพราะถือว่ายังจ้างงานยังคงอยู่แค่ปิดกิจการชั่วคราวเท่านั้นเองก็มีปัญหาเรื่องนี้ ฉะนั้นพอเกิน 30 วันขึ้นไปสถานเขาถูกปิดทันที สุดท้าย ความเสี่ยงทางสุขภาพพอไม่มีรายได้ ไม่มีหลักประกัน โอกาสที่จะป่วยจะติดเชื้อก็ค่อนข้างสูงเหมือนกัน

ในส่วนของสัญญาจ้างแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่พบเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังเป็นการเลิกจ้างโดยการไม่ต่อสัญญาจ้าง ซึ่งไม่ใช่การเลิกจ้างโดยตรง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม2563 สำหรับแรงงานข้ามชาติ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องต่อสัญญาเพื่อทำงานต่อไป แต่มีนายจ้างจำนวนมากใช้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ต่อสัญญา ทำให้คนงานหลุดออกจากงานไป เช่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐมเดิมจะมีการต่อสัญญาจ้างกันแบบปีต่อปี ตอนนี้เหมือนผลักภาระให้กับแรงงานโดยตรง สหภาพแรงงานจึงมีความสำคัญ ซึ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น แต่สิ่งที่เห็นคือสหภาพก็มองว่า ทุกคนมีปัญหากันหมด ฉะนั้นให้ช่วยแรงงานไทยก่อน จึงทำให้เกิดการเข้าไม่ถึง สหภาพแรงงานต้องชัดเจนว่า จะต้องคุ้มครองแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบเท่ากันหมด ในการเคลื่อนไหวมีข้อเรียกร้องหลักๆที่ดูแลคนทุกคนทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานกลุ่มอื่นๆที่เราไม่ได้รับเขาเข้าไป

โควิดสิ่งหนึ่งที่พบ มันทำให้กลไกเดิมของแรงงานข้ามชาติที่เคยมีอยู่ ช่วยกันอยู่พอมีปัญหาเดิมก็กลับบ้านมีหลังพิงคือบ้านพอตั้งตัวได้สักพักกลับมาทำงาน แต่รอบนี้ทุกอย่างปิดหมด รัฐก็ปิดหมดเพราะโรคระบาดมันเกิดขึ้นทั้งประเทศไทยและประเทศต้นทาง ทั้งคู่ต่างมีภาวะที่ไม่สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ทั้งคู่นี่เป็นเรื่องใหญ่

นางศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา   ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีหลากหลายชาติพันธ์ทำให้การสื่อสารของพวกเขาเป็นไปได้น้อยมาก ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ และสถานการณ์การจ้างงานที่จังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนงานก่อสร้าง รองลงมาก็จะเป็นภาคเกษตร รองลงมาก็จะเป็นรับจ้างตามร้านอาหารอีกอาชีพหนึ่งก็จะเป็นแม่บ้าน คนทำความสะอาด แม่บ้านโรงแรม แม่บ้านรีสอร์ท แม่บ้านห้างร้านต่างๆ หรือสถานพยาบาลต่างๆ โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ประกาศปิดกิจการ กิจการโรงแรม รีสอร์ท สถานบริการกลางคืน ผลกระทบที่ได้รับส่วนใหญ่ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ล็อตแรกเป็นผู้หญิงเป็นครอบครัวของผู้หญิงส่วนมาก เพราะงานในภาคก่อสร้าง แม้ว่า จะมีสถานการณ์โควิดก็จริงแรงงานก่อสร้างเขายังทำงานได้ความเสี่ยงเขามีน้อยกว่า คนที่ไม่มีงานทำคือกลุ่มรับจ้างรายวัน ผลกระทบที่คนงานได้รับช่วงหลัง วันที่ 23 มีนาคม2563 ส่วนใหญ่ถูกปิดกิจการและให้อยู่เฉยๆ ไม่ให้ไปทำงานและบางพื้นที่ บางตำบล บางอำเภอ เขาห้ามคนของเขาออกจากชุมชนอยู่แต่ในชุมชนไปไหนก็ไม่ได้ สื่อสารกับใครก็ไม่ได้นอกจากใช้โทรศัพท์โทรมาหาพวกเรา ผลกระทบที่คนงานทางภาคเหนือได้รับมี 3 เรื่อง

เรื่องแรกผลกระทบด้านเศรษฐกิจของครอบครัวหลังมีการหยุดงานช่วงแรกคงไม่เท่าไหร่ แต่พอสิ้นเดือนมีนาคมแล้ว ค่าเช่าที่พักอาศัยเริ่มจะไม่มี ค่าน้ำ ค่าไฟ และงานพิเศษอย่างอื่น เช่น เป็นคนทำความสะอาดโรงแรม รีสอร์ทปิด ไปหางานก่อสร้างรายวันก็หายาก เพราะคนที่จ้างเขากลัวว่า ทำงานไม่ตรงกับใบอนุญาตของตัวเอง และบางคนก็บอกไม่จ้างกลัวไม่รู้จักมาก่อนเป็นต้น

อันที้สอง คนงานได้รับผลกระทบในชุมชนด้วย เพราะในบางชุมชนมองว่า แรงงานข้ามชาติน่ากลัว เมื่อเริ่มเดือนที่2 อาหารเริ่มไม่มีกินกลุ่มผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีปัญหามาก ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลแม่แก่ ดูแลลูกเล็ก ดูแลหลานพิการเป็นต้น ปัญหาที่สองคือ การเข้าถึงด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ในชุมชนมีการแจกหน้ากากอนามัย แจกแอลกอฮอล์สำหรับประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักป้องกันตัวเอง แต่ก็แปลกที่เขาไม่แจกแรงงานข้ามชาติ สื่อที่เขาให้แรงงานข้ามชาติป้องกันตัวเอง ดูแลตัวเองยังในการอยู่กับสถานการณ์โควิด เนื่องจากพื้นที่เชียงใหม่แรงงานข้ามชาติเป็นชาติพันธ์ต่างๆทำให้การสื่อสารยังเข้าไม่ถึง

ปัญหาที่สาม คือการเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ อย่างคนที่อยู่มาตรา 33 สามารถไปใช้สิทธิว่างงานได้ แต่สถานการณ์จริงแรงงานข้ามชาติที่ใช้สิทธิมาตรา 33 ตั้งแต่ปิดงานมาเมื่อ 23 มีนาคม2563 จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคมเลย เพราะเงื่อนไขในการยื่นมาตรา 33 ต้องให้นายจ้างไปรับรองการปิดงานเพราะเหตุสุดวิสัยจริง และนายจ้างไม่ให้ความสนใจลูกจ้างสั่งปิดแล้วปิดเลย สั่งเลยว่า ไม่ต้องมาแล้ว ทำให้การเข้าถึงสิทธิต่างๆมีปัญหา ให้คนงานไปติดต่อต้องผ่านโซเซียลคนงานเข้าไม่ถึงทุกๆคน และการตรวจสอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ที่ต้องมีการตรวจสอบว่า หยุดงานเพราะเหตุสุดวิสัย หยุดงานเพราะมาตรา 75 มันเป็นเงื่อนไขให้คนงานกำลังจะตายเพราะการเยียวยาได้ ปัจจุบันแรงงนานข้ามชาติใน จังหวัดเชียงใหม่มีแสนกว่าคน ครึ่งหนึ่งเป็นครอบครัวผู้หญิงและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ต้องรับผิดชอบทำอาหารทั้งลูก ทั้งสามี เงินไม่มีต้องออกไปหาอาหารเองสามีไม่ได้ทำอะไร คนงานที่ได้รับการคุ้มครองใน เชียงใหม่มีไม่มาก เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ถึงแม้ว่า จะถูกบังคับให้นำเข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก การเยียวยาเกิดจากทุนเล็กๆที่ช่วยเหลือกันเองเบื้องต้น ข้าวสาร 4 กิโล ปลากระป๋อง 6 กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ซอง น้ำมันพืชหนึ่งขวดสำหรับครอบครัวที่มี 5-6 คน จะอยู่ได้อีกกี่วันและแจกไปได้หนึ่งอาทิตย์ ทุกคนในแผ่นดินไทย ควรจะได้รับการเยียวยาที่เท่าเทียมกัน อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกทอดทิ้งมากๆคือกลุ่มผู้ถือบัตรในพื้นที่สูง บัตรหัวเลขต่างๆ กลุ่มนี้ไม่ได้อะไรเลยแม้ว่าจะอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 มาตรา 40 ก็ไม่ได้อะไรเลยเพราะว่าเขาไม่มีเลขหลังบัตรเหมือนบัตรประชาชนไทย

เรื่องการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติมันเป็นงานที่มูลนิธิรับผิดชอบอยู่แล้วในการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันก็ตั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยมีการรวมตัวกันทำงานแบบเดียวกับสหภาพแรงงาน เพียงแต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานเท่านั้นเอง กลุ่มแรกก็เป็นสหพันธ์แรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนงานหญิง วัตถุประสงค์ของทั้งสองกลุ่มจะเป็นพาสเนอร์กัน กลุ่มคนงานหญิงจะให้ความช่วยเหลือในประเด็นผู้หญิง เป็นการรวมกลุ่มกันหลวมๆตอนนี้มันเป็นประโยชน์ พยายามใช้หลักการของสหภาพแรงงานมาสอน เมื่อสมาชิกเดือดร้อนจึงลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองเขา ทางสหพันธ์คนงานข้ามชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีการรับบริจาคเงิน จากคนที่ยังไม่เดือดร้อนหรืออาจารย์จากมหาลัยที่เป็นที่ปรึกษาบริจาคเงิน บริจาคข้าวจากเครือข่ายที่มีข้าวบ้าง มาจัดทำถุงยังชีพไปเยียวยาสมาชิก ตามหลักการของสหภาพแรงงานขยายได้และเริ่มทำให้เขารู้สึกว่าเวลาเกิดวิกฤตจะต้องช่วยสมาชิกอย่างไร

นางลัดดาวัลย์ หลักแก้ว  ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช) กล่าวว่าโดยภาพรวมแล้วแรงงานข้ามชาติในไทย เขาอยู่กันเป็นครอบครัวซึ่งลักษณะนี้มีความเล็กใหญ่ที่มีหลายขนาดด้วยกัน บางครอบครัวอยู่กันสามีภรรยา ที่อาจจะติดตามกันมาจากประเทศต้นทาง หรือเพิ่งแต่งงานกันใหม่ในประเทศไทย เป็นครอบครัวที่มีสมาชิก พ่อ แม่และลูก ที่ติดตามมาจากประเทศต้นทาง หรือเกิดในประเทศไทย เป็นครอบครัวขยาย มีผู้สูงอายุติดตามเข้ามา เพื่อดูแลลูกหลานในประเทศไทย หรือผู้อายุแรงงานที่เคยทำงานมาก่อน จนปัจจุบันป่วย บางคนมีโรคประจำตัว หรืออายุมากเกินไป ปู่ย่าตายายดูแลลูกหลานแทนครอบครัว ลักษณะแบบพี่น้องและเครือญาติ ครอบครัวแรงงานข้ามชาติมีความค่อนข้างหลากหลาย อยู่ร่วมกันในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริบทการอพยพของแรงงานเพื่อนบ้าน เขามีการอพยพและติดตามกันมา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีเด็กๆอยู่ร่วมในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ เรียกรวมๆว่าประชากรข้ามชาติ เนื่องจากความยากลำบากที่ประเทศต้นทาง ทำให้คนที่อยู่ในวัยแรงงานจำเป็นต้องอพยพเข้ามาทำงานเพื่อหารายได้ หาชีวิตที่ดีกว่าจนทำให้คนที่อยู่ในครอบครัวเดิมที่ประเทศต้นทางไม่มีใครที่จะพอที่จะดูแลลูกหลานได้ เพราะฉะนั้นต้องเอาลูกหลานติดตามเข้ามาด้วย

อีกประการคือพ่อแม่ทำงานอยู่ในประเทศไทยแล้วมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยากเอาลูกมาดูแลให้ มีความสุขในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยรัฐบาลไทยต้องการแรงงานจากพวกเขา ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีมาตรการต่างๆในการดูแลผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะเด็กๆ เขาอยู่อาศัยกันยังไงก็อาจจะดูได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ

อย่างแรก มีที่พักอาศัยที่เฉพาะบางที่นายจ้างจัดที่พักอาศัยในโรงงานหรือว่าอยู่ในสวนในไร่นาของนายจ้าง อยู่ในแคมป์ก่อสร้างหรืออยู่ในบ้านสำหรับลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน และภาพที่เห็นค่อนข้างชินตาก็คือเขาอยู่เป็นชุมชนเฉพาะของเขาเอง ที่เรียกว่า ชุมชนแรงงานข้ามชาติ อีกลักษณะเป็นแบบที่พักอาศัยที่ประปนกับคนไทย อาจจะพักอยู่หอพักเดียวกัน หรือในชุมชนเดียวกัน และอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งบริบทของการเป็นครอบครัว หรือการพักอาศัยที่อาจจะเป็นการเฉพาะที่บางจุดแยกตัวไปจากชุมชนไทยค่อนข้างเด็ดขาด ความที่ไม่มีสัญชาติไทยส่งผลต่อการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรืออีกนัยหนึ่งที่ไม่เท่ากันกับคนไทย

มาถึงในช่วงวิกฤตโควิด เห็นผลกระทบในเชิงครอบครัวในหลายๆด้านด้วยกัน ประการแรกคือผลกระทบจากการระบาดของโรคซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน แรงงานไทย ครอบครัวไทย ชุมชนไทย  แต่ด้วยบริบทของความเป็นชายขอบ และความไม่มีสัญชาติไทย ด้วยครอบครัวของเขาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และอาศัยเรากันในประเทศไทยเฉลี่ยแล้ว 3-5 คน บางห้องก็อยู่กัน 7 คน มีความยากลำบากของครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่จะดูแลตัวเอง การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับประชากรข้ามชาติ อีกทั้งในแง่ของการป้องกัน การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เข้าถึงสื่อความรู้ต่างๆ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ในมิติปัจเจกหรือไม่ใช่ตัวแรงงานข้ามชาติ แต่ว่ามันเป็นภาระของครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่จะต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ได้รับอุปกรณ์ที่เพียงพอในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งยังมีวุฒิภาวะที่จะดูแลตนเอง ถ้ารับสื่อในภาษาที่เข้าใจ เขาเข้าใจวิธีป้องกัน แต่ว่าผู้ใหญ่ที่มีเด็กอยู่ด้วยหลายช่วงวัย เด็กเล็กด้วย เด็กโตด้วยวุฒิภาวะของการดูแลตัวเองการป้องกันตนเองไม่เท่าผู้ใหญ่แน่ เพราะฉะนั้นภาระที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวแรงงานข้ามชาติก็คือภาระในการดูแลเด็กๆที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวให้ปลอดภัยจากภาวะวิกฤตโรคระบาดนี้ได้อย่างไร

หลังจากนั้นก็เป็นภาวะตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ เราพบว่าด้วยลักษณะของแรงงานข้ามชาติเองที่มักจะทำงานในสถานประกอบการเดียวกันนายจ้างเดียวกัน เวลาสถานประกอบการปิดกิจการ หรือเลิกจ้างลดเวลางาน  จึงเห็นสภาพของคนในครอบครัวเกือบจะทุกคนตกงาน บางชุมชนหรือบางหอพักแทบจะทุกห้องจะต้องมีคนตกงานอย่างน้อยหนึ่งห้อง ต่อมาก็จะเป็นความยากลำบากในการอยู่กิน ไม่มีค่าเช่าห้อง อาหารไม่เพียงพอกับทุกคนโดยเฉพาะเด็ก บางห้องมีคนท้อง และภาระการหาอยู่หากินว่ามื้อนี้จะได้มาจากไหนรายได้ไม่เพียงพอก็จะเป็นภาระของผู้หญิง ผู้หญิงก็จะเครียดการหาของกินมาจากไหนให้ครอบครัว เป็นผลกระทบเป็นภาพรวมเป็นความยากลำบากว่าแรงงานมีภาวะการตกงาน หยุดงานในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 2 เดือนแล้ว และในระยะ 2 เดือนเงินเก็บไว้ แรงงานข้ามชาติจะเก็บเงินสำรองไว้ใช้จ่าย ส่วนใหญ่เขาจะส่งไปที่บ้าน เพราะเขาไม่กล้าที่เก็บเงินไว้ที่ห้อง ถึงการฝากเงินธนาคารเป็นข้อจำกัด เพราะฉะนั้นในช่วงระยะนี้จึงเป็นปัญหามากรายได้ เงินเก็บหมด จึงเป็นภาวะยากลำบากสำหรับครอบครัวแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะช่วงนี้มันบังเอิญเป็นช่วงของการปิดเทอม ทั้งปิดเทอมในประเทศไทยและประเทศต้นทางด้วย ฉะนั้นจะเห็นว่า ครอบครัวต้องมีเวลาดูเด็กตลอด 24 ชั่วโมง อาหารการกินของเด็กสามมื้อ ในขณะที่เมื่อก่อนนี้เด็กไปโรงเรียน หรือเด็กที่ปิดเรียนที่พม่าแล้วมาเยี่ยมผู้ปกครองในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์2563 ยังอยู่ที่ไทยเป็นภาระเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่จะต้องดูแล

ลำดับต่อมาเป็นความเครียดต่างๆ เครียดในครอบครัวการไม่มีรายได้ ไม่มีที่อยู่ไม่มีกินเป็นผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับ

ข้อเท็จจริงคือแรงงานข้ามชาติไม่ได้อยู่ในสหภาพแรงงาน ความสัมพันธ์การรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นในช่วงวิกฤตการรวมกลุ่มกันแบบไม่เป็นทางการเป็นกลไกสำคัญหลักที่ทำให้แรงงานข้ามชาติในหลายๆพื้นที่เข้าถึงความช่วยเหลือ เขาถึงการเยียวยาในแง่ของอนาคตเนื่องจากว่าโควิดเป็นเรื่องอุบัติใหม่ แต่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชากรกลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือว่าคนไทยเองหรือประเทศกำลังเผชิญแล้วก็พยายามที่จะเรียนรู้และก็ถอดบทเรียนจากรับมือกับภาวะวิกฤตโควิดนี้ เพราะคาดว่า ในระยะหลังนี้ ซึ่งต่อไปจะเป็นระยะฟื้นฟูและระยะถอดบทเรียนเพื่อวางแผน เรียนรู้ และมีแนวทางที่จะรับมือในอนาคต เมื่อมีวิกฤตในภาวะสาธารณสุขได้เรียนรู้เพื่อที่จะได้ป้องกันตนเองจะดูแลสังคม ในขณะที่เด็กๆที่เป็นลูกหลานข้ามชาติอยู่ในเมืองไทย ซึ่งภาษาที่มีการสื่อสารให้เกิดการเรียนรู้ในระยะต่อไป ปัจจุบันไม่ใช่ภาษาของเขา แนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของเขาที่เขาไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก สักวันหนึ่งเขาจะต้องกลับบ้านประเทศต้นทาง อยากให้คำนึงและตระหนักว่าประชากรข้ามชาติไม่ได้อยู่ในไทยแบบปัจเจกแต่เขาอยู่แบบครอบครัว