ภาคีสังคมแรงงาน เสนอแผนการฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด-19

ภาคีสังคมแรงงานสู้โควิด ระดมเตรียมเสนอการฟื้นฟูแรงงานหลังวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลเตรียมพร้อมใช้งบ 4 แสนล้าน สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อ้างคลุมทุกกลุ่มของประชมชนในประเทศ 

เมื่อวันที่ 24 และวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ได้ประชุม และปรึกษาหารือเพื่อระดมความคิดเห็นต่อแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลกู้มา 1ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เยียวยา 555,000 ล้านบาท และการฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท กรอบการฟื้นฟู

  1. ลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
  2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน
  3. แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริม
  4. แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน, .แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ตามที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ จะดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการดูแลงานที่สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าต้องครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนในประเทศ ดูแลผู้ใช้แรงงาน รับจ้าง เกษตร ในพื้นที่ มีประชาชนจำนวนมากที่กลับพื้นที่ต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน รวมทั้งจะสร้างอาชีพที่ต้องเริ่มขณะนี้อย่างต่อเนื่องไประยะต่อไป เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งให้เดินหน้าต่อเป็นรากฐานให้ดำเนินการต่อไปได้โดยจะผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และจะเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านการพัฒนาชุมชนเข้ามาทำงานให้ครอบคลุมมากที่สุด อย่างไรก็ตามการจ่ายชดเชยเกษตรกรที่ไม่ได้เงินชดเชย ใช้หลักของของครอบครัว ครัวเรือน ซึ่งในรายละเอียดกำลังจัดทำ โดย ธ.ก.ส.กำลังดูแลว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด จึงได้มีสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอ เพื่อให้รัฐนำไปเป็นแผนฟื้นฟู ในส่วนของแรงงานในระบบ และแรงงานภาคธุรกิจโรงแรม มีดังนี้

  1. ปัญหาสำคัญที่สุดของแรงงานที่เป็นลูกจ้าง(แรงงานในระบบ) ขณะนี้คือการว่างงานจำนวนมากโดยมีสาเหตุทั้งที่เกิดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และสาเหตุอื่นก่อนหน้านี้
  • การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541Z(ส่วนใหญ่อยู่ในภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว)
  • การปิดกิจการโดยอ้างเหตสุดวิสัยจากโรคระบาดโควิด-19
  • การปิดกิจการเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจก่อนหน้านี้และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19
  • การปิดงานและเลิกจ้างบางส่วนในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือลดการเกิดภาวะโลกร้อน(ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์)

  1. คาดการณ์ผลกระทบต่อแรงงานที่ว่างงานในขณะนี้และในอนาคตอันใกล้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
    • กลุ่มที่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้หลังมีการเปิดกิจการใหม่
    • กลุ่มที่ต้องว่างงานต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
  • กลุ่มที่สามารถกลับสู่ภาคชนบท ทำงานภาคการเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน มีจำนวนไม่มากและรายได้จะน้อยกว่าที่เคยได้รับในภาคอุตสาหกรรม แตกต่างจากที่มีการประเมินในแผนฟื้นฟูฯว่าจะเป็นส่วนใหญ่ของคนที่ตกงาน
  • กลุ่มที่ไม่สามารถกลับสู่ภาคชนบทด้วยสาเหตุต่างๆเช่น ไม่ใช่คนที่มาจากชนบท จากชนบทมานานจนไม่เหลือรากฐานเดิม
    • กลุ่มคนที่กำลังจะว่างงานในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
  1. ข้อเสนอของแรงงานในระบบต่อการใช้งบประมาณในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

กลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างหรือแรงงานในระบบมักถูกมองข้ามในการให้ความช่วยเหลือเพราะเข้าใจว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เดือดร้อนมากนักเพราะยังได้รับค่าจ้างบางส่วนหรือมีระบบสวัสดิการรองรับ แต่ความจริงแล้วแรงงานกลุ่มนี้มีความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับปัญหาเช่นเดียวกับประชาชนที่เดือดร้อนกลุ่มอื่น ดังนี้

3.1 เสนอให้มีคณะกรรมการตรวจสอบประเมินสถานประกอบการ     โดยเป็นแบบพหุภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนเครือข่ายแรงงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการพัฒนาฝีมือแรงงาน

เพื่อตรวจสอบประเมินสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และหามาตรการในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

3.2 ข้อเสนอสำหรับสถานประกอบการทั่วไป เสนอให้แบ่งกลุ่มแรงงานเป็น 3 กลุ่มในการฟื้นฟู ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มแรงงานอายุต่ำกว่า 40 ปี ในสถานประกอบการที่สามารถดำเนินการได้ต่อและจะใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยให้มีการพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถทำงานได้ต่อไป โดยหากสถานประกอบการใดมีการส่งลูกจ้างเข้าร่วมพัฒนาทักษะฝีมือหรือมีศูนย์ฝึกอบรมในสถานประกอบการเอง ให้กองทุนฟื้นฟูสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่สถานประกอบการ และให้รัฐสนับสนุนด้านการลดภาษีให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วม โดยให้ออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์ที่จูงใจให้นายจ้างต้องมีการพัฒนาทักษะอย่างจริงจัง

กลุ่มที่ 2  เป็นกลุ่มแรงงานสูงวัย อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อมองหาอาชีพใหม่ ซึ่งอาจเป็นอาชีพค้าขาย หรือการเกษตรกรรม หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการสร้างอาชีพ โดยกองทุนฟื้นฟูต้องสนับสนุนทุนให้แรงงานกลุ่มนี้หรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านเครื่องมือ และเทคโลยีใหม่ๆ ด้วย

กลุ่มที่ 3 เป็นแรงงานที่นายจ้างอาจปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต ในส่วนของกลุ่มนี้ เสนอให้มีการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพใหม่ พร้อมจ่ายเบี้ยยังชีพเทียบเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำและหางานให้ทำ โดยสนับสนุนด้านเงินทุน เทคโนโลยี และเครื่องมือต่างๆที่จำเป็น

3.3  ข้อเสนอสำหรับแรงงานภาคบริการและท่องเที่ยว

3.3.1) เสนอให้มีการพัฒนาทักษะแรงงานภาคบริการในกิจการโรงแรม เช่น ทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ช่วงระยะที่รอนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน) พัฒนาทักษะด้านอาชีพให้เกิดความชำนาญ เช่น การปูเตียง การบัญชี การต้อนรับ การบริการที่เกี่ยวข้องแบบ New normal

3.3.2) การฟื้นฟูสถานประกอบการโดยใช้มาตรการลดภาษี การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยรัฐช่วยอุดหนุนด้านราคาให้ต่ำลงเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวของคนไทยเข้าไปเสริมนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มีราคาสูง

3.3.3)  ให้มีการจัดสรรงบฟื้นฟูสนับสนุนการส่งเสริมให้นายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสถานประกอบการ เพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับผู้ใช้แรงงานที่เมื่อออกจากงานหรือตกงานจะมีเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหรือประกอบอาชีพในอนาคต

ทั้งนี้ภาคีสังคมแรงงานจะมีการนำเสนอร่วมกับภาคีอื่นๆเพื่อให้รัฐบาลนำไปเป็นแผนฟื้นฟู เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ได้จริงต่อผู้ใช้แรงงาน