เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับองค์กรแรงงาน ภาครัฐ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสมัชชาเชิงประเด็นหัวข้อ “คิดใหม่…ทำใหม่ สู่การสร้างความมั่นคงในงานและอาชีพของแรงงานนอกระบบ” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานความมั่นคงทางด้านสุขภาพและความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ของคนทำงาน รวมถึงเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสาเหตุการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ของแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีนโยบายให้ความสำคัญเท่าที่ควรทั้งๆ ที่เป็นฐานพลังทางเศรษฐกิจในสัดส่วนร้อยละ 45.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
จากวงเสวนากลุ่มย่อย หัวข้อ การจัดการอาชีพแบบคิดใหม่ ทำใหม่สู่การมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนแรงงานนอกระบบ เริ่มเมื่อปี 2548 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานนอกระบบทำในเรื่องสิทธิที่เหมาะสม เช่นหลักประกันในการทำงานเรื่อง สุขภาพ สวัสดิการ การทำงานในพื้นที่พบว่า มีข้อจำกัด และเงื่อนไขในการจ้างงานซึ่งมีปัญหาด้านความต้องการที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงปัจจัยการผลิต มีรูปแบบการผลิตเหมือนในระบบ การแข่งขันเชิงธุรกิจของระบบทุน ส่งผลกระทบต่อแรงงานเรื่องการปรับตัวรวมถึงศักยภาพของแรงงานนอกระบบ ซึ่งการคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะต้องการรูปแบบการพัฒนา ส่งเสริม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ให้เหมาะสม และต้องการ การส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้ให้มีความมั่นคง และมีส่วนร่วมในการทำงานให้สอดคล้องกับอาชีพ
สุพรรณ พุนอก อาชีพซาเล้ง เขตบึงกุ่ม “รายได้ไม่แน่นอนบางคนก็รายได้ดี บางคนวันหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 200-300 บาท แต่พวกหาเก็บจริงๆไม่ได้แล้วแต่การหาของคนที่เจอ หนึ่งก็ตามหมู่บ้าน หมู่บ้านก็ไม่ค่อยให้เข้าเพราะว่าซาเล้งจะขโมยของหายเขาก็โทษซาเล้งขโมยจริงๆแล้วซาเล้งก็ไม่ได้ขโมยทุกคนหรอก เราก็ยอมรับเหมือนกันบางคนก็ขโมย ที่มาในงานนี้ก็คาดหวังอยากขึ้นทะเบียนของซาเล้ง อยากจะมีบัตร อยากจะมีโลโก้ที่ทาง กทม.ภาครัฐออกให้ คือความคาดหวังที่ป้ามาวันนี้และมาร่วมงานบ่อยๆ คาดหวังอย่างเดียวคือขึ้นทะเบียนซาเล้ง ได้มีบัตรออกมีเสื้อของ กทม.ใส่ยิ่งดีเราชอบและสะดวก ฝากถึงภาครัฐขายของรับซื้อของเก่าอยากให้ภาครัฐลงมารับซื้อดีกว่าส่งให้คนกลาง คนกลางเขาจะกดราคามาก กดทุกอย่างเพราะว่าถ้าภาครัฐออกมารับซื้อเองมันคงจะดีขึ้น ป้าคิดอย่างนั้น คิดว่ากลุ่มซาเล้งเขาก็คงคิดเหมือนกันถ้าภาครัฐเขาออกมารับซื้อ”
โดยสรุปจากเวทีเสวนาต้องการให้มีรูปแบบแนวทางการพัฒนา ส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง เป็นธรรม ปลอดภัย มีรายได้ที่สามารถสร้างหลักประกันในชีวิตสำหรับแรงงานนอกระบบและครอบครัวได้ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปสู่กระบวนการทำงานผลักดันนโยบาย ที่สอดคล้องกับแนวคิด และการจัดการอาชีพแนวใหม่ร่วมกัน
นักสื่อสารเครือข่ายแรงงานรายงาน