คสรท. แถลง ค้านขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี


คสรท. จัดแถลงข่าว คัดค้าน! การขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตน จากอายุ 55 เป็น 60 ปี 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าว คัดค้าน การขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตน จากอายุ 55 เป็น 60 ปี

โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.ได้แถลงว่า การประกันสังคมในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการผลักดันของขบวนการแรงงานก่อนปี 2530 ซึ่งผลของการรณรงค์ผลักดันทำให้มีการตราพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 2 กันยายน 2533 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกันตนทั้งระบบประมาณ 13 ล้านคน มีเงินสมทบที่ร่วมกันจ่ายระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล(จ่ายน้อย ค้างจ่าย ไม่จ่ายสมทบกรณีชราภาพ)ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท โดยผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆในอัตราตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สำหรับกรณีการรับเงินจากกองทุนชราภาพเงื่อนไขที่กำหนดไว้คือจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (เท่ากับ 15 ปี) ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม  อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และ ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) จะถูกหักเงิน 5% ของค่าจ้างไปสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยกำหนดฐานค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000บาท แม้ว่าลูกจ้างจะมีเงินได้ต่อเดือนมากกว่านั้นก็ตาม ก็จะถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 750 บาท เงินจำนวนนี้ถูกกระจายไปสมทบไว้เป็นสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณี โดย 1.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 225 บาท สำหรับกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย+กรณีคลอดบุตร+กรณีทุพพลภาพ+กรณีเสียชีวิต อีก 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาท  สำหรับกรณีว่างงาน ขณะที่ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาท สำหรับกรณีชราภาพ และตามกฎหมายนายจ้างสมทบต้องจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งในอัตราที่เท่ากันกับลูกจ้าง นอกจากนี้แล้วรัฐบาลได้ร่วมจ่ายสมทบน้อยกว่าจำนวนเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่าย (ยกเว้นกรณีชราภาพ รัฐไม่จ่ายสมทบ) สำหรับกรณีชราภาพเริ่มมีการสมทบมาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2541 ดังนั้นบำนาญชราภาพจะเริ่มทยอยจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้พยายามชี้นำสังคมและผู้ประกันตนเสมอมาว่า หากมีการจ่ายเงินจากกองทุนชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในหลักเกณฑ์เสียใหม่ก็จะทำให้เงินทั้งหมดในกองทุนประกันสังคมทุกกองทุน(1.6 ล้านล้านบาท)หมดไปในปี พ.ศ.2587 จึงเป็นที่มาของแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบันพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล โดยการแถลงของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมนพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ว่า “ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงานและเมื่อต้องออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงมีนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปีและในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบ และสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป”

หลายปีมาแล้วที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้พยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประกันสังคมทั้งระบบเพราะเห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการ รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน โดยเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารจัดการ และการขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในกองทุนต่างๆ ดังนั้นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเลขาธิการประกันสังคมกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ประกันตน เป็นนโยบายที่คิดกันเองโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและองค์การของแรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)โดยองค์กรสมาชิกได้ประชุมกันและ  “มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์ชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี” โดยมีเหตุผลดังนี้คือ

1.สิทธิการรับเงินชราภาพเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นและรับรู้กันนับตั้งแต่วันเข้าสู่ระบบประกันสังคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนสิทธิ หากมองในมติแรงงานสัมพันธ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ

2.คำกล่าวที่ว่าจะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี และในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 นั้น เป็นประเด็นที่ต่างกัน คือ เมื่อสิทธิเกิดก็ต้องได้รับเงินชราภาพตามสิทธิเมื่ออายุครบ 55 ปี ส่วนการจะทำงานต่อไปจนอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้นเป็นเรื่องที่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน หรือจะเป็นการแก้กฎหมายให้เกษียณอายุ 60 และให้อยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

3.การกล่าวอ้างว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขจะทำให้กองทุนประกันสังคมหมดไปนั้น สะท้อนถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ของการบริหารจัดการ ขาดการวางแผนงานที่ดี ซึ่งคนเข้ามาบริหารก็ย่อมทราบดีว่ารายรับ รายจ่ายของระบบประกันสังคมจะเป็นอย่างไรซึ่งควรวิเคราะห์และกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่ต้นไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลงในตอนนี้

และเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนต่อการปฏิรูประบบประกันสังคมทั้งระบบ ซึ่งได้เคยนำเสนอต่อรัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมไปแล้วหลายครั้งและล่าสุดเมื่อ “วันกรรมกรสากล ปี 2560” คือ

1.ให้มีการปฏิรูปประกันสังคมทั้งระบบโดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารจัดการ โดยให้ผู้ประกันตนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดและเลือกผู้แทนของตนเอง รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะชราภาพจากจำนวนเงินที่ได้รับตามหลักเกณฑ์(3,000 บาทต่อเดือน)ไม่พอต่อการดำรงชีพ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำก็กว่า 9,000 บาท

2.ให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้รัฐจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในอัตราส่วนที่เท่ากันกับนายจ้างและลูกจ้าง

3.ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบที่ค้างจ่ายอยู่ให้เต็มตามจำนวน  เพราะการไม่จ่ายทำให้กองทุนประกันสังคมเสียโอกาส ในการนำเงินจำนวนมหาศาลนั้นไปหาประโยชน์เข้ากองทุน

4.ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำสุดและสูงสุดในการคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมรายเดือนเพื่อพัฒนาให้กองทุนโตและมั่นคง ยั่งยืน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) องค์กรสมาชิกและเครือข่ายผู้ประกันตน  จึงขอให้รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม   ยุติการดำเนินการขยายการรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี และนำข้อเสนอต่างๆไปพิจารณาโดยให้ผู้ประกันตนและภาคส่วนต่างๆได้มีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล  ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประกาศเป็นพันธสัญญาต่อสาธารณะ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนและสื่อมวลชนทั้งหลายร่วมกันตรวจสอบติดตามการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม  รวมทั้งร่วมกันผลักดันข้อเสนอให้เป็นจริง เพราะเงินประกันสังคมเป็นเงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงาน จากรายได้จากการขายแรงของพี่น้องแรงงานทุกคน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลิดรอนสิทธิ กระทำการใดๆไปเพียงลำพังแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังเสียงของผู้ประกันตน และต้องร่วมกันแสดงทัศนะ จุดยืนในโอกาสต่อไป หากการดำเนินการยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงของผู้ประกันตน