สรส.ประกาศจุดยืนพิทักษ์ ปกป้อง รัฐวิสาหกิจ

นักวิชาการ ที่ปรึกษาชี้ รัฐวิสาหกิจต้องทำงานแนวร่วมภาคประชาชนผู้บริโภค หลังรัฐบาลเร่งออกร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฯ ด้านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจเตรียม ปกป้องรัฐวิสาหกิจประกาศเพื่อประโยชน์ชาติ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสภาแรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO-NORWAY) จัดประชุมสุดยอดผู้นำ สรส.ประจำปี 2558 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ สรส.และองค์กรสมาชิก รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความเป็นเอกภาพ และจุดยืนการขับเคลื่อนร่วมกันของ สรส.และองค์กรสมาชิก โดยมีผู้เข้าร่วมราว 100 คน โดยในช่วงเช้าเป็นการเสวนาเรื่อง การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านแรงงานและการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

11701159_10205356710213593_199151921599112320_n

DSCN5851

DSCN5856

รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์หลักสูตรพิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือคอรัปชั่นของรัฐบาล ขณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นลาตินอเมริกา กรีก ในปัจจุบันคนงานรัฐวิสาหกิจขาดสิ่งสำคัญที่เรียกว่าจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเกิดจากยุคดิจิตอลเทคโนโลยีก้าวหน้า อยู่ในระบบบริโภคนิยมใช้จ่ายเกินตัว พอคอรัปชั่นเกิดขึ้นทั่วโลกก็ทำให้รัฐวิสาหกิจอยู่ในช่วงถดถอย อ่อนแอและพร้อมที่จะขายในที่สุดมีการคิดกลวิธีต่างๆที่จะสามารถขายรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทบริหารโดยเอกชนสามารถขายหุ้นแบบแยกชิ้นเพื่อสร้างกำไรมากมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนผู้บริโภค มีตัวอย่างที่เป็นบทเรียนมาแล้วอย่างเช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)เป็นต้น

“สำคัญที่สุดตอนนี้คือพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสหภาพแรงงานเข้มแข็งพอหรือยัง การสร้างแนวร่วมกับผู้บริโภคยังไม่ดีพอ ยังขาดความร่วมมือเวลามีปัญหาก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจและพร้อมที่จะเข้ามาช่วยหนุนได้ นี่คือหัวใจหลักสำคัญที่สหภาพจะต้องทำ ส่วนตัวมองไม่เห็นทางออกที่จะแนะนำได้ตอนนี้คือ จะต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะต่อรองไม่ให้รัฐวิสาหกิจถูกขายหรือแปรรูปไปเป็นของเอกชน และมันจะไม่มีทางเอารัฐวิสาหกิจกลับคืนมาได้อีกเลยหากได้ขายไปแล้ว” รศดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ กล่าว

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สรส. กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในช่วงเดือนกันยายน2558นี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งที่จะบริหารแบบศูนย์รวม รัฐวิสาหกิจทั้ง 12 แห่งจะต้องเข้าไปอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ในภายหลาย ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแน่นอนก็ตาม

“ที่ผ่านมา สรส.อยู่เคียงข้างพี่น้องแรงงานมาตลอด อยากให้ทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมาเราสู้กันจริงๆ ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในความรู้สึกในความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน นี่คือสิ่งที่จะต้องรณรงค์อย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือตัวผู้นำเองจะต้องรู้เท่าทันก่อนจะต้องมีข้อมูลก่อนเพื่อที่จะบอกต่อพี่น้องของเราได้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน” สมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าว

11694822_1603107266610518_5369093764669882480_n

เวลา 11.00 น. มีการแถลงข่าวอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ เรื่องจุดยืนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ดังนี้

เกือบศตวรรษที่รัฐวิสาหกิจของไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่เพื่อการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อความมั่นคงของประเทศเพื่อสนับสนุนกิจการทางด้านสังคม และเพื่อหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจครอบคลุมในกิจการต่าง ๆ ทั้งด้านพลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม สื่อสาร การบริการ ด้านการสนับสนุนและส่งเสริม ด้านเกษตรกรรมและอาหาร ด้านการเงิน และองค์การด้านวิชาการ วิจัย การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจได้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติมาอย่างยาวนานได้สร้างความแข็งแกร่ง เป็นภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศชาติและประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข กินอิ่ม นอนอุ่น สร้างการจ้างงาน กระจายความเจริญ กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประชาชนทุกเชื้อชาติทุกศาสนาสามารถเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียมในราคาที่ยุติธรรม ควบคุมได้เพราะเป็นการบริการโดยรัฐ

สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและจักรวรรดินิยมได้โน้มนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายตามแนวทางทุนเสรีนิยมโดยสาระของแนวนโยบาย คือ “ลดบทบาทภาครัฐ เพิ่มบทบาทเอกชน” รัฐไม่ควรดำเนินธุรกิจแข่งกับเอกชน และรัฐต้องผ่อนปรน กฎ ระเบียบเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการได้ การกำหนดราคาต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด นั่นคือที่มาของ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” และด้วยแนวนโยบายเหล่านี้ต่างเป็นที่ประจักษ์ชัดทั่วทั้งโลกแล้ว แม้แต่จ้าวทฤษฎีว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงซึ่งความผิดพลาดนี้ก่อให้เกิดวิกฤตในทั่วทุกด้าน ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเช่นกัน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนส่วนใหญ่ ทุกข์ยาก หิวโหย ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มสูงมากขึ้นเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”

ประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2540 รัฐบาลในเวลานั้น ได้ดำเนินนโยบายเช่นที่กล่าวมา และมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปหลายแห่ง แม้ สรส. และองค์กรสมาชิกพยายามคัดค้านอย่างหนักแต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ทั้งหมด เพราะสังคมยังไม่ทราบว่าจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงอย่างไร และปัจจุบันคงประจักษ์ชัดแล้วว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนมีมากมายเพียงใด อย่างกรณีการแปรรูป ปตท. เป็นต้น

บัดนี้ รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลที่ทุจริตกับประชาชนที่รักความเป็นธรรม ดำเนินนโยบายที่สำคัญนับตั้งแต่การยึดอำนาจ และประกาศว่าจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ให้มีการบริหารที่โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ใหม่ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” แต่ก็เกิดข้อกังวลต่อ คนร. ชุดใหม่ที่แต่งตั้งนักธุรกิจมาเป็นคณะกรรมการร่วม

ครั้งนี้จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่เพราะมี คนร. บางคนที่พยายามให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่า “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคำตอบอยู่ที่ทำรัฐวิสาหกิจให้เล็กลง ให้ทำภารกิจเท่าที่จำเป็น ที่เหลือให้เอกชนทำ” คำพูดเช่นนี้ สรส.ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน ทราบดีว่าที่สุดแล้วคือ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” รวมทั้งนโยบายต่างที่ออกมาก็มิได้เปิดโอกาสให้องค์กรรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงานรวมทั้งภาคสังคมมีส่วนร่วมแต่ประการใดล่าสุดในคราวประชุม คนร. ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมได้รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะส่วนที่ 2 (8) ที่ระบุว่ามีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจภายใต้บรรษัท คือ

1. กฎหมายว่าด้วยพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยอ้างว่า “เพื่อประโยชน์ในการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท.” ความหมายคือ……

2. กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยระบุ “ให้มีบทเฉพาะกาลคุ้มครองให้สหภาพและสหพันธ์ยังคงดำเนินการได้ต่อไป” การเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลความหมายคือเป็นเพียงชั่วคราวและจะยกเลิกไปในภายหลัง

3. กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (เฉพาะในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท.) ความหมายคือ….

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีความกังวลหลายประเด็นในหลักการร่าง พ.ร.บ.สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. ซึ่งอาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในภายหลังแม้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้คำยืนยันว่า “จะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแน่นอน” แต่พิจารณาจากสาระสำคัญแล้วยิ่งน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการไม่เคารพสิทธิของสหภาพแรงงานโดยเขียนไว้เพียงในบทเฉพาะกาลซึ่งเท่ากับว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจึงเป็นประเด็นที่ไม่อาจยอมรับได้

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ขอย้ำเตือนจุดยืนอันมั่นคงอีกครั้งเพื่อให้ทราบกันโดยทั่วกันว่า สรส.และองค์กรสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มกำลังขีดความสามารถในการสนับสนุนรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต่อแนวทางการฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่หากต่างไปจากนี้ สรส. คงยึดมั่นในจุดยืนที่จะหาแนวทาง พิทักษ์ ปกป้อง รัฐวิสาหกิจทั้งหลายเอาไว้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสืบต่อไป

DSCN6166

ช่วงบ่ายเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆจากผลของการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา มีหัวข้อหลักๆในการพิจารณาเช่น การแก้ไขธรรมนูญ สรส. การเก็บเงินค่าบำรุงสมาชิกเป็นเปอร์เซ็นต์และค่าบำรุงสมาชิก สรส. ซึ่งมีมติในที่ประชุมให้มีการเก็บเงินค่าบำรุงเป็นเปอร์เซ็นต์โดยให้ค่อยเป็นค่อยไปใครพร้อมก็สามารถทำได้เลย มีการสร้างแรงงานหนุ่มสาวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรในอนาคตต่อไป