สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังห่วง เด็กชายแดนใต้ ยังมีภาวะทุพโภชนาการ ด้านสภาเด็ก พูดชัด เงินสวัสดิการเด็กเล็ก ไม่ใช่เงินสงเคราะห์ ต้องเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

เวทีเครือข่ายประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคใต้) พูดชัด เด็กชายแดนใต้ยังน่าเป็นห่วงเรื่องภาวะทุพโภชนาการ ในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบเรื่อง 600 บาท สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ด้านสภาเด็ก พูดชัด สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าไม่ใช่เงินสงเคราะห์ แต่เป็นสวัสดิการ ส่วนศปดส. เสนอใช้สื่อผลักดันนโยบายเด็กเล็กถ้วนหน้าไปสู่วาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่ามา  เครือข่ายประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคใต้) ในช่วงบ่าย ได้มีเวทีทบทวนแนวทางการขับเคลื่อน และข้อเสนอรูปธรรม กรณีศึกษาบทเรียนที่ดี ด้านนโยบายสาธารณะ เพื่อทบทวนและระดมแนวคิดข้อเสนอรูปธรรม  โรงแรมญันนะตีย์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นั้น


เครือข่ายเด็กภาคใต้ ระบุ ยังมีเด็กประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้รับเงินสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 
มาเรียม ชัยสันธนะ  สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้   กล่าวว่า ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนชายแดนใต้   โดยมีเครือข่ายทำงานร่วมกันประมาณ 25 องค์กร  สมาคมฟ้าใสฯ ได้จัดเวทีและสร้างความเข้าใจ ผ่านการตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงต้องมีสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจได้พอสมควร ทั้งนี้ สมาคมฟ้าใสฯได้ทำงานกับ สปสช. เรื่องโภชนาการเด็ก โดยการเก็บข้อมูลของเด็ก น้ำหนัก ส่วนสูง โดยมีจังหวัดนราธิวาสเป็นต้นแบบ โดยดำเนินการต่อเนื่อง 5 อำเภอ 27 ตำบล    มีเด็ก 1,000   กว่าคนที่ต้องดูแล  สมาคมฟ้าใสฯ ได้ทำงานผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมกับ อบต รพสต. อสม. เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้และโภชนาการให้เด็ก และขยายฐานต่อไปเรื่อย ๆ เช่นวัคซีนในเด็ก  นอกจากนั้น อสม.ได้เรียนรู้การเก็บข้อมูลสุขภาพของเด็ก เราร่วมกันเก็บข้อมูลรวมถึงการเรียนรู้ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ที่สามารถนำข้อมูลมาเชื่อมต่อกันได้ มีการตั้งคำถามว่า 600 บาทพอหรือไม่ ซึ่งแม้จะไม่มากนักแต่ก็ยังพอช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้  
       อย่างไรก็ตาม จากนั้นได้มีการเก็บข้อมูลจำนวนเด็กที่ได้รับสวัสดิการเด็กเล็ก ซึ่งมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้ เนื่องจากเอกสารขาดหาย ช่วงนี้โครงการต่าง ๆ ทุกอย่างไปลงที่ อบต. เด็กภาคใต้มีภาวะ ทุพโภชนาการ 

ศปดส. เสนอใช้สื่อผลักดันนโยบายเด็กเล็กถ้วนหน้าไปสู่วาระแห่งชาติ
โซรยา จามจุรี ประธานคณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ และในฐานะนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) กล่าวว่า ศูนย์ฯ รับไม้ต่อมาจากสมาคมฟ้าใสฯ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ ในเรื่องเด็กและสตรี จึงบรรจุให้เป็นวาระในการผลักดันด้านนโยบาย โดยมี 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งเรามีการประชุมติดตามความคืบหน้าในแต่ละเดือน
ข้อเสนอ ที่เรายังทำน้อยไปคือ การสื่อสาร ที่เราต้องจับมือกับหลายเครือข่ายเพื่อขยายประเด็นนี้ไปให้ได้มากขึ้น เพื่อขยับให้เป็นวาระจากท้องถิ่นไปสู่ประเทศ อาจจะขยายให้มากขึ้น และบรรจุเข้าไปใน Policy Watch เพื่อสื่อเช่น ไทยพีบีเอส จะได้เชื่อมต่อและติดตาม นักการเมืองจะได้ระวังเมื่อรับรู้ว่าสื่อเฝ้ามองอยู่

ด้านชนเผ่าพื้นเมือง วอนรัฐสนใจชนเผ่าชาวเกาะ ที่ยังไม่ได้สิทธิใดๆ 
 ฐิติรัตน์ นาวารักษ์    สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะนำนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเข้าไปสู่คณะทำงานแห่งความสุข จังหวัดพังงา ปัญหาของเราคือ ประชาชนที่อยู่บนเกาะยังไม่รู้เรื่องสวัสดิการนี้ หากเราได้ 600 บาท คิดว่าพอกินแต่เราต้องจัดทำเอกสารเยอะมาก ทำให้บางคนขาดสิทธิ หมดสิทธิไปเลยก็มี  ในนโยบายสภาชนเผ่าฯ มีเรื่อง เด็ก สตรี เพื่อให้มีการขยับขับเคลื่อนต่อไป ในขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องสิทธิการขอสัญชาติไทย เพื่อให้ได้สิทธิด้านอื่นๆ ต่อไป 

ในขณะที่มูลนิธิสิทธิแรงงาน ขอได้ไหม ขอให้ลูกแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับการดูแล
พุดตาล สะแกคุ้ม มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิ ตามแนวคิดว่า แรงงานทั้งผองพี่น้องกัน สิทธิที่แรงงานข้ามชาติจะได้รับคือ สิทธิประกันสังคมที่ขึ้นทะเบียนถึงจะได้รับเงินสมทบ 800 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด แต่พอในปีที่ 2 ต้องมีระเบียบขั้นตอนการรับรองต่าง ๆให้กับเด็กที่เป็นลูกหลายแรงงานข้ามชาติ
“สิทธิแช่นนี้ ทุกคนที่จ่ายเงินตามสิทธิประกันสังคม ควรจะได้เงินโดยที่ไม่มีเงื่อนไข เช่น ต้องมีทะเบียนสมรส ซึ่งน้อยมากที่แรงงานจะจดทะเบียนสมรส ทำไมต้องทำให้ซับซ้อนยุ่งยากไม่เห็นเหมือนตอนที่หักเงินทุกเดือน ที่หักแบบง่ายมาก”
นอกจากนี้ ในส่วนของเด็กที่ได้รับสิทธิ พ่อแม่ต้องเข้าตามระบบและมีเอกสารถูกต้อง ซึ่งเด็กเหล่านี้จะได้เรียนหนังสือเป็นลำดับไป อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติที่ตกหล่น ที่อยากให้รัฐให้เขาได้รับสิทธิ เช่นการได้รับดูแลจากศูนย์เด็กเล็ก”

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังห่วงภาวะทุพโภชนการของเด็กชายแดนใต้
คุณลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ถือได้ว่าก้าวหน้าไปได้มาก แต่ในส่วนภาครัฐเหมือนว่าจะไม่ขยับไปไหนเลย
ประเด็นสำคัญคือ ภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่เราจะ ผลักดันให้ไปตาม พรบ.การจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเชื่อมกับภาคีสุขภาพ รพสต. อบจ. เพื่อผลักดันเรื่องภาวะโภชนาการในเด็ก เราจะผลักดันให้เรื่องดังกล่าวให้เข้าสู่กลไกภาครัฐ ผลักดันให้เป็นขบวน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำเรื่องเด็กเยอะมาก แต่ไม่มีหน่วยงานในการเชื่อมให้เด็กหัวละ 50 บาท เหมือนเป็นการทดลอง ผลที่ออกมาคือ เด็กน้ำหนักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด กรณีเงิน 600 บาท ช่วยให้พ่อแม่นำเงินไปซื้อนมที่มีคุณภาพให้เด็กมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ตระหนักดีว่า เงินในส่วนนี้ขอให้เป็นเงินที่ให้เด็กโดยตรง นักวิขาการ ระบุว่า การดูแลเด็กต้องดูแลตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ ให้มีอาหารที่ดีกิน

สภาเด็ก พูดชัด สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าไม่ใช่เงินสงเคราะห์ แต่เป็นสวัสดิการ
อลิษา องศารา กรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. ด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เงินสวัสดิการเด็กเล็ก 600 บาท ต้องไม่เป็นเงินสงเคราะห์ เช่นต้องพิสูจน์ความจน แต่ต้องทำให้เป็นสวัสดิการที่เด็กทุกคนต้องได้ ในส่วนของสภาเด็กได้ช่วยกันผลักดันด้วยการเก็บข้อมูลและผลักดันเข้าสู่สมัชชาสภาเด็กและเยาวชน และได้มีการติดตามเพื่อกำหนดให้เป็นวาระเข้าสู่วาระแห่งชาติ แม้ว่าจะทำได้ไม่เต็มที่ก็ตาม ทั้งนี้ยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมา สภาเด็กผลักดันเรื่องเด็กเล็กน้อยมาก ส่วนใหญ่จะทำประเด็นเด็กโตมากกว่า แต่จากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ ได้เห็นว่าประเด็นเด็กเล็กมีความสำคัญ เราจังจะหันมาทำเรื่องนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า มากขึ้น โดยการทำสื่อเผยแพร่ สุดท้ายนี้ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันสนับสนุน แนวคิดและการผลักดันประเด็นต่าง ๆ จากสภาเด็กด้วย