วันกรรมกรสากล สสรท. –สรส. ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งด่วนเพิ่มค่าจ้าง 492 บาททั่วประเทศ

วันที่ 1  พฤษภาคม 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย(สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้จัดการเดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันกรรมกรสากล จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอ “วันกรรมกรสากล ปี 2567 ต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินโดยมีประเด็นเร่งด่วนและประเด็นติดตามเนื่องจากยื่นมาหลายรัฐบาลแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมีเนื้อหา ดังนี้

1 พฤษภาคม ของทุกปี กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกต่างพร้อมใจกันออกมาร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวันกรรมกรสากล หรือ MAY DAY และรำลึกถึงคุณูปการของกรรมกรในยุคของการต่อสู้เพื่อให้กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ได้มีความมั่นคงในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยมครอบโลก ได้มีการวางแผนออกแบบการจ้างงานที่เรียกว่าการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งก็คือ การจ้างงานระยะสั้น ชั่วคราว แพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก

ทั้งภาครัฐและเอกชน หากมองถึงความสำเร็จของฝ่ายทุนก็ถือว่าเป็นการวางแผนที่แยบยล แต่อีกด้านหนึ่ง กรรมกร ผู้ใช้แรงงานมีความยากลำบากมากขึ้น ความไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้างที่ต่ำ ทำให้คนงานไม่สามารถวางแผนในชีวิตได้เลย ความยากลำบากนี้ส่งผลให้ชีวิตอยู่ในสภาวะความยากจน มีหนี้สิน ทำงานหนัก ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพ บวกกับการกำหนดนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้อยู่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในทุกด้านสูงที่สุดในโลกการพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เกิดเครื่องมือ เครื่องจักรสมองกลที่ทันสมัยและได้ถูกนำเข้ามาใช้ทำงานแทนมนุษย์ คนงานจำนวนมากต้องตกงาน รวมทั้งการเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด

ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ส่งกระทบต่อการซ้ำเติมให้ต้องลำบากมากยิ่งขึ้น ชีวิตของคนทำงาน ผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานอิสระต้องเผชิญกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปไร้ความมั่นคง ในขณะที่กฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้มาเป็นเวลานานกลับไม่สอดคล้องและคุ้มครองแรงงานได้จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พลังของคนทำงานมีอำนาจการต่อรองลดน้อยลง อันเป็นเหตุเพราะกฎหมายและกติกาสากลที่รัฐบาลยังไม่รับรอง จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ

จากภาวการณ์ขาดรายได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สินมาก ภาระทางสังคมสูง กิจการของรัฐถูกถ่ายโอนให้เอกชนดำเนินการแทนรัฐ ประชาชนต้องแบกรับภาระที่แพงเพื่อผลกำไรของเอกชน เช่น เรื่องพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่ง ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ล้วนแต่เป็นการเพิ่มรายจ่ายสร้างภาระซ้ำเติมแก่ประชาชน และผู้ใช้แรงงาน

ทุกปีในวันสำคัญนี้มีการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล แต่ปัญหาความเดือดร้อนของคนทำงาน ผู้ใช้แรงงานยังดำรงอยู่ จึงมีความจำเป็นในการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันกรรมกรสากล ประจำปี 2567 (2024) เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐบาล เนื่องในวันกรรมกรสากล ปี 2567 (2024)

ข้อเสนอเร่งด่วน

1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

1.1        รัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

1.2        กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมทั้งแรงงานภาคเอกชน และการจ้างงานในภาครัฐ

1.3        กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี เพื่ออนาคตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

1.4        รัฐต้องปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของ สรส.

2. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

2.1        ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม

2.2        ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และ เก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาต่อลิตรสูงมาก

2.3        ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต รัฐต้องไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน เพราะเป็นความสำคัญและจำเป็นของประชาชนในการดำรงชีพ

2.4        ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาส ที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กฟผ./กฟภ./กฟน. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงานไฟฟ้า

3. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….

ข้อเสนอที่ติดตามจากปีก่อน ๆ

1.          รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

1.1.       ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ให้มีการตรวจสอบโครงต่าง ๆ ทั้งเรื่องมาตรฐาน และราคา ที่เป็นธรรมต่อประชาชน ให้มีความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต

1.2.       ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน

1.3.       ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

2.          รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนทุกมิติ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน  และขอให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้มีความเหมาะสม ไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน และ ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

3.          รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

3.1        รัฐต้องตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

3.2        สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน)

3.3        ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

3.4        การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน รวมถึงให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยส่วนที่ค้างให้ครบ

3.5        ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 , 39 , 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

3.6        เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็น อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

3.7        ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

4.          รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.1        ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

4.2        ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

5.          รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

5.1        ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

5.2        ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

5.3        ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ.2524)

5.4        ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดากำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100%

5.5        ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน

5.6        ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

6.          ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

7.          รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว

8.          รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

9.          รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

10.  รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกัน ในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

11.  รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

12.        รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

13.        ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

13.1      รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ

13.2      รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด

13.3      ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำเอกสารขึ้นทะเบียนรอบใหม่ และให้มีการคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง

                        สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลนั้น จะได้รับการตอบสนองเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เป็นผลในทางปฏิบัติเพื่อให้กรรมกร ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ได้มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ในการทำงาน ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ มีหลักประกันทางสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน อย่างแท้จริงต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน