สถานการณ์แรงงานในปัจจุบันกับก้าวต่อไปของขบวนการแรงงาน”

สรุปปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์แรงงานในปัจจุบันกับก้าวต่อไปของขบวนการแรงงาน” โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานเฉลิมฉลอง 25 ปี แห่งการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2561 เวลา 19.00-20.00 น. ณ ลานอาคารอเนกประสงค์ นิคมรถไฟ กม. 11 จตุจักร กรุงเทพมหานคร

สิ่งที่ผมจะพูดต่อจากนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและมีความชัดเจนรุนแรงขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านที่เป็นคุณและเป็นโทษ เพราะในสังคมปัจจุบันพบว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศขณะนี้ คือ มนุษย์ค่าจ้าง ถ้าหากนับคนอายุ 15-60 ปี มีประมาณ 39 ล้านคน เป็นคนในภาคเกษตร 13 ล้านคน อาชีพอิสระ แม่ค้า หาบเร่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ ประมาณ 8-9 ล้านคน มนุษย์ค่าจ้าง 14 ล้านคน กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ลูกจ้างภาคเอกชน ส่วนลูกจ้างในภาครัฐที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ประมาณ 4 ล้านคน

ดังนั้นวันนี้ผมจะขอพูดถึงอนาคตของลูกจ้างภาคเอกชนทั้งหลาย ซึ่งมีเรื่องราวต่างๆที่น่าติดตาม กังวล ต้องช่วยกันแก้ไข โดยผมจะมองทั้งในภาคสากลและภายในประเทศ สำหรับในภาคสากลนั้น พบว่า

ประการแรก
จากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในอาหรับ เป็นสงครามที่ยืดเยื้อ การเกิดสงครามในอิรัก ซีเรีย และประเทศแถบนั้น ทำให้การส่งออกสินค้าทุกประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และอื่นๆอีกหลายอย่าง หายไปถึง 20-30 % มีผลให้โรงงานทุกแห่งต้องลดทำงานล่วงเวลา การลดทำงานล่วงเวลาทำให้คนงานขาดรายได้ และการที่คนงานขาดรายได้ก็มีผลทำให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่าในชนบทย่อมขาดรายได้ตามไปด้วย อันนี้เป็นผลจากความไม่สงบของสงครามและส่งผลมาจากถึงคนงานและครอบครัว

ประการที่สอง
สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา พบว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล จึงทำให้สหรัฐฯต้องเอาตัวรอดโดยการลดซื้อของจากประเทศจีน พูดง่ายๆคือ สหรัฐฯลดการนำเข้าจากจีน วิธีการลดนำเข้า คือ กีดกันสินค้าจากจีน ตั้งกำแพงภาษีนำเข้ามากขึ้น เก็บภาษีมากขึ้น คนนำเข้าต้นทุนก็แพงขึ้น เพราะจ่ายภาษีแพง ก็จะลดการนำเข้าลงโดยอัตโนมัติ ทำให้สินค้าจากจีนไปสหรัฐอเมริกาลดลง

ดังนั้นทำให้จีนต้องขยายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ เป้าหมายของจีน คือ ประเทศอาเซียน 11 ประเทศ ถือว่าเป็นตลาดอันดับ 3 รองจากอเมริกา ยุโรป การบุกตลาดจีนจึงส่งผลต่อประเทศไทย เมื่อจีนระบายสินค้าเข้าไทยมากขึ้น ราคาถูกดูเหมือนดี แต่เมื่อสินค้าจีนตีตลาด ทำให้สินค้าบริษัทเล็กๆในไทยจึงมีปัญหา ขายไม่ได้ จ้างคนงานเพิ่มไม่ได้ เพิ่มค่าจ้างไม่ได้ เพราะสู้สินค้าจีนไม่ได้ นี้คือผลกระทบที่สำคัญ

ประการที่สาม
การปฏิวัติกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล ขณะนี้ภายใน 5 ปี คลื่น 5G จะเข้ามา จะทำให้ internet มีความรวดเร็ว หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น AI ปัญญาประดิษฐ์ คุณภาพสูงขึ้น มีการประชุมของ 20 ประเทศอุตสาหกรรมเมื่อเร็วๆนี้คาดการณ์ว่า เมื่อคลื่น 5G เผยแพร่ไปทั่วโลก จะมีผลให้คนงานต่างๆตกงาน 30-40 %

การที่คนตกงานไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าเราสนใจประวัติศาสตร์ การปฏิวัติเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการใช้ขนสัตว์มากขึ้นอย่างรวดเร็วในกระบวนการผลิต ทำให้เจ้าที่ดินต่างๆเลิกทำไร่ทำนา มาเลี้ยงสัตว์เพื่อขายขนสัตว์เข้าโรงงาน มีผลทำให้ไพร่ ถูกไล่ออกจากที่ดิน เพราะเจ้าที่ดินไม่ต้องการคนทำงานในไร่นาอีกต่อไป การเลี้ยงสัตว์ใช้คนน้อยมาก

คนงานที่เป็นไพร่ในไร่นามาก่อนจึงไม่มีงานทำ กระเซอะกระเซิงจากชนบทออกไปทำงานในโรงงานที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องจักรไอน้ำ ความเจ็บปวดจากการไล่ที่ทำกินที่อยู่มาชั่วลูกหลาน ไปเป็นคนงานที่ไม่รู้จักใครเลย ถือได้ว่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการทำลาย
ชนชั้น จากชนชั้นชาวไร่ชาวนาไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพ การปฏิวัติเครื่องจักรไอน้ำจึงสร้างชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาเพื่อทำลายชนชั้นไร่นา

การปฏิวัติดิจิตอลกำลังเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กำลังไล่คนออกจากโรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพจะลดน้อยถอยลง กลายไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกเร็วๆนี้
การตกงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีอะไรมารองรับ เพราะว่ารัฐบาลนี้ไม่เพียงแต่ไม่พูดถึง แต่กลับส่งเสริมให้มีการใช้หุ่นยนต์ AI มากขึ้น ถึงกับประกาศว่าโรงงานใดก็ตามที่ใช้หุ่นยนต์จะได้รับการยกเว้นภาษี 50 % นี้คือการเร่งเร้าให้ใช้หุ่นยนต์แทนคนงานมากขึ้น แต่ไม่มีคำตอบว่า คนงานจะไปอยู่ที่ไหน จะใช้ชีวิตต่ออย่างไร
การตกงานไม่ใช่แค่คนงานคอปกน้ำเงิน พบว่า คนงานคอปกขาวตกก่อนด้วยซ้ำไป อุตสาหกรรมการเงิน ธนาคาร ประกันภัย ตลาดหุ้น หันไปใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ ธนาคารต่างๆ ที่ใน 2-3 ปีต่อจากนี้ต้องปิดตัวลงไม่ต่ำกว่าพันสองพันสาขา มันยังลุกลามไปยังอาชีพอื่นๆ ทนายความ แพทย์ พนักงานขาย กำลังเกิดห้างที่ไม่มีคนขายแต่ใช้เครื่องจักรแทน ทนายความหุ่นยนต์ของ Watson กำลังโต้เถียงทนายมนุษย์ ซึ่งเป็นทนายมือหนึ่งก็สู้ไม่ได้ เพราะตอบคำถามได้แม่นกว่าทนายมนุษย์ ในวงการแพทย์กำลังนำ AI มาใช้ เพราะผ่าตัดแม่นกว่าหมอ การปฏิวัติดิจิตอล 5G จึงมีผลแบบนี้

ประการที่สี่
การเกิดยานยนต์ไฟฟ้าแม้นำมาซึ่งการรักษาสภาพแวดล้อม แต่ก็พบว่ารถยนต์ไฟฟ้าใช้อุปกรณ์และอะไหล่ลดลงจำนวนมาก จากพันเป็นร้อย จากร้อยเป็นสิบ คำถาม คือ คนงานในอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์จะไปทำอะไร แต่รัฐบาลไทยก็ไม่มีคำตอบ แต่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน

โรงงานบางแห่ง เช่น ฮอนด้าที่ไปตั้งที่จังหวัดปราจีนบุรี บอกว่าจะลดคนงานลงถึง 80 % โรงงานผลิตยางรถยนต์จากจีนที่มาตั้งในไทย เกือบจะไม่ใช้คนงานเลย เมื่อรถยนต์ใช้น้ำมันเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้า จะปรับตัวไม่ทัน ในประเทศไทยยังมีคนสนใจปัญหานี้น้อยมาก ยังไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไรใน 5 ปีข้างหน้า

ยิ่งกว่านั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ ต้นน้ำอยู่ต่างประเทศ ประเทศเหล่านั้นเป็นผู้กำกับ เมื่อประเทศแม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงหมด ไม่สนใจว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะตั้งอยู่ประเทศใด จะเกิดผลกระทบหรือความเสียหายใดบ้าง

ประการที่ห้า
สถานการณ์การเมืองโลกพลิกขั้วตาลปัตร ทำให้เกิดการอพยพมหาศาลจากประเทศมุสลิมไปยังประเทศที่ร่ำรวย ทำให้เกิดพรรคการเมืองที่หัวรุนแรงแต่ใจแคบ มีการกีดกันการอพยพ และสร้างนโยบายเพื่อคนเชื้อชาติตนเอง เหมือนที่ประธานาธิบดีอเมริกา ประกาศว่าประเทศอเมริกาเพื่อคนอเมริกาเท่านั้น America first ทำให้ทุกประเทศจะรักษาผลประโยชน์ตนเอง จะกำจัดการอพยพ การนำเข้า

จีนบอกว่าเราเปิดเสรี แต่จีนก็บอกอีกว่าเราจะพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สงวนไว้เพื่อผู้ผลิตของเราเอง แต่ในประเทศไทยกำลังใช้เศรษฐกิจส่งออก ท่ามกลางที่ทั่วโลกคิดแบบนี้ การส่งออกถูกจำกัดจากนโยบายการเมืองต่างๆแบบนี้ แล้วจะส่งออกได้อย่างไร
บริษัทต่างชาติมาลงทุน ถือเป็นทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก เมื่อตลาดส่งออกจำกัด ก็เน้นตลาดภายใน คือ คนไทย คนที่มาจากต่างประเทศที่มาลงทุนในบ้านเรา ก็จะแย่งการผลิตของคนไทยเรา จีนกำลังโยกย้ายเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งบริษัทใหญ่บริษัทเล็ก มีประชากรอพยพเข้ามาอีก

สถานการณ์นี้คนงานในประเทศไทยในบริษัทเล็กๆจะมีอนาคตอะไร

ใครจะบอกว่าอนาคตพวกเขามีหลักประกัน

ต่อมาเมื่อมาพิจารณาสถานการณ์ภายในประเทศ จะเห็นได้ว่า

ประการที่หนึ่ง
เศรษฐกิจไทยเติบโต 4 % แต่การเติบโตนั้นเน้นที่เฉพาะการเติบโต แต่ไม่ได้มีการกระจายการเติบโต การเติบโตกระจุกตัวที่คนจำนวนน้อย คน 1 % ของประเทศนี้ครอบครองรายได้ถึง 58 % ส่วนคนอีก 99 % ได้ส่วนแบ่งเพียง 42 %
หากมีเงิน 100 บาท สำหรับคน 100 คน คนแรกจะได้ไปแล้วถึง 58 บาท ส่วนอีก 99 คน ได้คนละไม่ถึง 40 สตางค์ นี้คือการเติบโตในคนส่วนน้อย เศรษฐกิจโต แต่รายได้ลด ไม่ได้พัฒนากลไกการกระจายรายได้

โดยเฉพาะในเรื่องภาษีซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญ รัฐบาลนี้ไม่คิดเรื่องเก็บภาษีก้าวหน้ากับคนรวย ยังยกเว้นภาษีให้คนต่างชาติ จากเดิม 5 ปี ตอนนี้ 13 ปี ทั้งๆที่ควรถูกนำมาใช้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เมื่อเก็บภาษีน้อยลง ก็กระจายสู่คนในประเทศน้อยลง คนรวยก็รวยมากขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อมองในเรื่องอำนาจต่อรอง รัฐบาลไม่เพิ่มอำนาจต่อรองให้คนงาน แต่เขากลับส่งเสริมนายทุน ในหลายประเทศทางยุโรปเขาเปิดเสรีให้คนงานมีสหภาพแรงงาน เพื่อให้คนงานมีอำนาจต่อรองแบ่งปันผลกำไรจากการลงทุน แต่เรากลับส่งเสริมคนรวย กีดกันสหภาพแรงงาน จึงไม่สามารถแบ่งปันความมั่งคั่งจากคนรวยได้ ทั้งๆที่นี้เป็นกลไกสำคัญในการกระจายรายได้รองจากภาษี

ประการที่สอง
รัฐเอาใจทุนมากเกินไปจนละเลยประชาชน มองว่าการลงทุนเป็นความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำรุนแรง แต่ถ้าใครสนใจตัวเลขจะเห็นได้ว่า ตัวลากจูงเศรษฐกิจ คือ การใช้จ่ายของประชาชนทุกคนไม่ใช่การลงทุน การบริโภคของครัวเรือนต่างหาก คือ ตัวหลักในการสร้างเศรษฐกิจ
ตัวเลข 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า การใช้จ่ายของประชาชนสร้างเศรษฐกิจได้ 55 % แต่การลงทุนของภาคเอกชนสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเพียง 22 % เศรษฐกิจไทยพึ่งเงินในกระเป๋าของเรา การลงทุนยังสร้าง เศรษฐกิจไม่เท่าเลย
ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมรัฐไม่ให้ความสำคัญกับกระเป๋าเงินของคน ก็เพราะรัฐอยู่กับนายทุน เอาใจนายทุนมากเกินไป รัฐบอกว่าไม่ได้เข้าข้าง แต่ระบบที่ทำอยู่เอื้ออำนวยให้นายทุนมากกว่าคนธรรมดาหลายเท่า
ประการที่สาม

รัฐบาลทุกชุดส่งเสริมการส่งออก บอกว่าการส่งออกคือ 70 % ของ GDP บอกว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออก ใครเชื่อแบบนี้ คือ บ้า เพราะจริงๆแล้วจะเอาตัวเลขส่งออกมาดู ต้องเอามูลค่าการนำเข้าหักออกก่อน สมมติส่งออก 100 บาท นำเข้า 80 บาท การสร้างความเติบโต คือ 20 บาท การชูเศรษฐกิจแบบนั้น คือ การทำให้ละเลยว่า ต้องพึ่งรายได้จากเงินในกระเป๋าของชาวบ้านทุกคน ที่ตัวหลักมาจากค่าจ้าง ตัวรองมาจากการทำอาชีพอิสระ

รายได้ของชาวบ้านที่นำมาสร้างเศรษฐกิจจึงมาจากค่าจ้างถึง 47 % ในบางปี 37 % มาจากอาชีพอิสระ ค่าจ้างจึงเป็นจักรกลสำคัญในการลากจูงเศรษฐกิจ หากค่าจ้างไม่เพิ่ม เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ ธุรกิจจำนวนมาก คือ การอยู่ได้ด้วยค่าจ้างของลูกจ้าง หากรายได้ดี คนในชนบทก็อยู่ดีกินดี หาบเร่แผงลอย ส้มตำก็ดีไปด้วย แต่รัฐบาลไม่ได้สนใจ
ประการที่สี่

ปกติเรามักดูแต่ตัวเลขส่งออกไม่ได้ดูเนื้อใน ที่พบว่าการส่งออกบางบริษัทไม่ได้นำเงินกลับประเทศแม่ทั้งหมด อาจแค่ 50 บาท แต่อีก 50 บาท ฝากไว้ต่างประเทศ เก็บไว้เป็นวัตถุดิบ เพราะถ้าเอาดอลล่าร์ไปแลกเงินบาทจะเสียค่าธรรรมเนียม สู้เอาไปฝากไปต่างประเทศเลยจะได้กำไรมากขึ้น ยอดการส่งออกที่เห็นจึงไม่ได้ใช้หมุนเวียนเศรษฐกิจในเมืองไทยเต็มร้อย

ผู้ส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ ที่มักส่งออกต่ำกว่าราคาทั่วไป ยกตัวอย่างบริษัทขนาดยักษ์ กำหนดการส่งออกที่ราคา 4 หมื่นบาท แต่ส่งออกจริงไปบริษัทแม่เพียง 1 หมื่นบาท และไปขายต่อในราคาปกติตามที่ตั้งไว้ กำไรก็จะไปอยู่กับบริษัทแม่ บริษัทลูกก็น้อยลง นี้คือเนื้อในการส่งออกที่ถูกซ่อนไว้ให้มองไม่เห็น
ประการที่ห้า

ประเทศไทยทำ FTA เปิดเสรีการค้ากับจีน แต่เราก็ไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดว่าผลดี-ผลเสียคืออะไร พบว่า ผลเสียตกกับเกษตรกรและคนงาน บนโต๊ะอาหารตอนนี้ มีผักกี่ชนิด ครึ่งหนึ่งซื้อมาจากตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง ครึ่งหนึ่งของผักมาจากจีน หอม กระเทียม หอมแดงมาจากจีน เพราะฉะนั้นสินค้าจากจีนทะลักเข้ามา ทำให้เกษตรกรหอมกระเทียมหน้าซีด เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า มาตีตลาด ธุกิจขนาดย่อมขนาดเล็กไปไม่รอด เพราะสู้สินค้าจากจีนไม่ได้

เราคิดว่า มีคน 65 ล้านคน เราจะขายของจีนสำหรับคน 1,000 ล้านคน แต่อย่าลืมว่าสินค้าที่ส่งไปขายจีน ไม่สามารถกระจายไปยังมณฑลอื่นๆได้ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลจีนกำหนด เราส่งเสริมการค้าขายเสรีกับจีน จีนจะค้าขายอะไรก็ได้ โรงงานลำไยที่เชียงใหม่ ตอนนี้จีนยึดหมดแล้ว เราไม่ได้สนใจเรื่องเสีย มองแต่ได้ ไม่ได้คำนวณว่าเสียกับได้อะไรมากกว่ากัน ต้องจัดการส่วนที่ได้มากกว่าเสีย และส่วนที่ได้ควรถึงทุกคน แต่กลับถึงแค่คนกลุ่มเล็กๆ คนส่วนน้อยเท่านั้น เป็นตรงกันข้าม

ด้วยสถานการณ์ทั้งระดับสากลและภายในประเทศดังที่กล่าวมา ผมจึงมีข้อเสนอสำหรับพวกเราดังนี้

(1) เราขัดขวางเทคโนโลยีไม่ได้ ก็ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ สนใจ รวบรวม ศึกษา ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเมื่อมี smart phone ก็ต้องใช้ให้เป็น

(2) ขบวนการแรงงานต้องมีคนทำงานข้อมูลมากกว่านี้ นำข้อมูลมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับทุน กับรัฐบาล กับคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ใช่มี smart phone แค่ไว้เขียน line หรือ FACEBOOK ในเรื่องไร้สาระ

(3) อาชีพเดิมจะสิ้นสุดลงตามอุตสาหกรรมดิจิตอล ขัดขวางไม่ได้ ดังนั้นแรงงานทั้งหลายต้องพัฒนาอาชีพทางเลือกที่อาศัยเทคโนโลยีหากตกงานขึ้นมา เช่น การขายของออนไลน์พร้อมกับเรียนรู้ที่จะปักหมุดเพื่อลดรายจ่ายเพื่อเปลี่ยนผ่านภาวะแบบนี้

(4) คนๆหนึ่งจำเป็นต้องมีทักษะ 2-3 ประการ เราอยู่ในโรงงานหล่อหลอมให้ทำเป็นอย่างเดียว คนงานบางคนจบ ปวช. ยืนไขสกรู 4 ตัว ทักษะคืออะไร คือความไวเท่านั้นเอง ชั่วโมงหนึ่งได้กี่ตัว สมองถูกทำลาย ยุคนี้ต้องใช้สมองและความคิดมากว่ามือ บางคนตกงานหากมีความฉลาดก็ผลิตสินค้าออนไลน์ขายได้

(5) การรวมกลุ่มคนงานจะจำกัดเฉพาะตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องรวมกลุ่มกับคนอาชีพอื่น มี 2 อาชีพ คือ ปัญญาชนและเกษตรกร การรวมกลุ่มต้องมีปัญญาชน คนงาน เกษตรกร ปัญญาชน คือ คนอยู่กับข้อมูล เข้าใจมากกว่าพวกท่าน ถ้าท่านไม่อาศัยปัญญาชน ไปดูถูกดูแคลน ข้าเป็นคนงานรู้ดีกว่า คำถามคือ อ่านภาษาอังกฤษเป็นไหม สถิติดูเป็นไหม เข้าใจค่าเงินดอลล่าร์ที่จะมากระทบต่อคุณไหม คุณต้องคบพวกปัญญาชนไว้ แต่วันนี้ปัญญาชนทั้งหลายเบื่อหน่ายแรงงานเพราะเปลืองตัว

สำหรับเกษตรกร เขาเป็นผู้ผลิตอาหาร การรวมกลุ่มเกษตรกรจะนำไปสู่การซื้ออาหาร ข้าว พืชผัก โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายสินค้าได้โดยตรง ราคาถูก ผู้ขายขายได้ราคาดีขึ้น ผู้ซื้อซื้อถูกลง

(6) การรวมตัวของคนงานจากนี้ไป ไม่ใช่เพียงสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องประจำปีเท่านั้นแล้ว แต่ต้องคิดเรื่องเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย อายุเฉลี่ยคนงานในโรงงานตอนนี้ คือ 38-45 ปี มีลูก มีเมีย มีผัว มีบ้านเป็นของตนเองไหม มีที่ซุกหัวนอนไหม หรือยังอยู่บ้านเช่า ปลดเกษียณไปหากไม่มีค่าเช่า ไม่มีบ้าน จะอยู่ที่ไหน ถ้ายังมีแรงทำงานต้องมีโครงการที่อยู่อาศัย จะสร้างให้ตนเองอย่างไร ผมทดลองมาแล้ว โครงการเศรษฐกิจอื่นๆก็ต้องทำขึ้นมา จะรอค่าจ้างอย่างเดียวไม่ได้

(7) การเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกไม่นานนี้ คุณต้องไม่ตามใจพ่อแม่ในชนบท คุณเป็นคนงานก็มีผลประโยชน์แบบลูกจ้าง คุณต้องเลือกผู้สมัครบนผลประโยช์ของคุณไม่ใช่ตามพ่อแม่ที่เป็นคนเฒ่าในชนบท ที่ไม่รู้อะไร ตกลงกันไว้แล้วว่าไปเลือกคนนี้ ซึ่งคนนี้เข้าใจชีวิตคนงานไหม ร้อยละ 90 ของ สส. ที่มาจากชนบทเกือบจะไม่คิดถึงชีวิตคนงานเลย ไม่เข้าใจเลย แม้แต่ตัวคนงานเองก็ไม่เข้าใจตนเอง

บางคนอยู่โรงงานมา 40 ปี จำเป็นต้องไปเลือกตั้งที่ต่างจังหวัด ไม่รู้จัก สส.เลย เลือกตามหัวคะแนน ไม่รู้จักผู้สมัครเลย พวกนี้เมื่อไปนั่งในสภาก็ไม่เข้าใจนโยบายสำหรับคนงาน

นี้เป็นโอกาสที่เราลูกจ้างทั้งหลายต้องใช้ smart phone ในการศึกษาหาข้อมูล เลือกพรรคที่มีนโยบายแรงงานชัดเจน พรรคไหนไม่มีนโยบายแรงงานอย่าไปเลือกมัน

สุดท้ายผมหวังว่าสิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้ น่าจะสะกิดให้ท่านคิดถึงตนเอง และสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องหาพันธมิตรจากนักการเมืองที่เห็นใจคนงาน จัดขบวนแรงงานใหม่ ที่มี 3 องค์ประกอบ คือ แรงงาน ปัญญาชน เกษตรกร มิฉะนั้นเราจะก้าวข้ามพ้นสถานการณ์ในชีวิตท่านที่จะเผชิญต่อจากนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน

บันทึกโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
22 ตุลาคม 2561