มติครม.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 2–16 บาททั่วประเทศ

คณะรัฐมนตรี มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท สูงสุดที่ภูเก็ต 370 บาท ต่ำสุด นราธิวาส,ปัตตานี,ยะลา330 บาท

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สื่อThaiPBS และฐานเศรษฐกิจได้รายงานข่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย คือตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และภาครัฐกระทรวงแรงงาน ที่มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 2–16 บาท ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า นายพิพัฒน์​ รัช​กิจ​ประการ​ รมว.แรงงาน ได้นำมติของคณะกรรมการไตรภาคี เสนอเพื่อทราบผลที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยยืนยันตามมติเดิมคือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง 2-16 บาท ทั่วประเทศ โดยมีลำดับค่าจ้าง 17 ขั้น​ โดยขึ้นจาก 328 บาทเป็น 330 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ จ.ภูเก็ต เป็น 370 บาท จาก 354 บาท

พร้อมแจ้งต่อที่ประชุมอีกว่า ถึงแม้ค่าจ้างขั้นต่ำนี้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติกรรมการไตรภาคีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567​ แต่วันที่ 17 ม.ค.2567​ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อตั้งอนุกรรมการ ขึ้นมาเพื่อจะพิจารณา รายละเอียดของค่าจ้างขั้นต่ำ โดยต้องลงลึกรายละเอียดทุกสาขาอาชีพ

โดยก่อนหน้านี้ บอร์ดไตรภาคี ประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยึดมติคณะกรรมการเดิมในการปรับ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ปี 2567 ไว้ตามมติเดิม คือ ปรับเพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% สูงสุด 370 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำ 2567 ล่าสุด บอร์ดไตรภาคี ปรับเพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท แบ่งเป็น 17 กลุ่มดังนี้
อัตรา 370 บาท 1 จังหวัด
จ.ภูเก็ต

อัตรา 363 บาท 6 จังหวัด
กรุงเทพมหานคร,นครปฐม,นนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการ,สมุทรสาคร

อัตรา 361 บาท 2 จังหวัด
ชลบุรี,ระยอง

อัตรา 352 บาท 1 จังหวัด

นครราชสีมา

อัตรา 351 บาท 1 จังหวัด

สมุทรสงคราม

อัตรา 350 บาท 6 จังหวัด

พระนครศรีอยุธยา,สระบุรี,ฉะเชิงเทรา,ปราจีนบุรี,ขอนแก่น,เชียงใหม่

อัตรา 349 บาท 1 จังหวัด

ลพบุรี

อัตรา 348 บาท 3 จังหวัด

สุพรรณบุรี,นครนายก,หนองคาย

อัตรา 347 บาท 2 จังหวัด

กระบี่,ตราด

อัตรา 345 บาท 15 จังหวัด

กาญจนบุรี,ประจวบคีรีขันธ์,สุราษฎร์ธานี,สงขลา,พังงา,จันทบุรี,สระแก้ว,นครพนม,มุกดาหาร,สกลนคร,บุรีรัมย์,อุบลราชธานี,เชียงราย,ตาก,พิษณุโลก

อัตรา 344 บาท 3 จังหวัด

เพชรบุรี,ชุมพร,สุรินทร์

อัตรา 343 บาท 3 จังหวัด

ยโสธร,ลำพูน,นครสวรรค์

อัตรา 342 บาท 5 จังหวัด

นครศรีธรรมราช,บึงกาฬ,กาฬสินธุ์,ร้อยเอ็ด,เพชรบูรณ์

อัตรา 341 บาท 5 จังหวัด

ชัยนาท,สิงห์บุรี,พัทลุง,ชัยภูมิ,อ่างทอง

อัตรา 340 บาท 16 จังหวัด

ระนอง,สตูล,เลย,หนองบัวลำภู,อุดรธานี,มหาสารคาม,ศรีสะเกษ,อำนาจเจริญ,แม่ฮ่องสอน,ลำปาง,สุโขทัย,อุตรดิตถ์,กำแพงเพชร,พิจิตร, อุทัยธานี,ราชบุรี

อัตรา 338 บาท 4 จังหวัด

ตรัง,น่าน,พะเยา,แพร่

อัตรา 330 บาท 3 จังหวัด

นราธิวาส,ปัตตานี,ยะลา

นักสื่อสารแรงงานรายงาน