นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชนชี้ปัญหาคนงาน 3 บริษัทรัฐละเลยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน ชี้รัฐละเลยการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานภาคตะวันออก แถลงรัฐต้องแก้ไขปัญหาคนงานอย่างจริงจัง พร้อมตรวจสอบนายจ้างที่อ้างขาดทุนเลิกจ้างคนงาน

นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความแรงงานกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของแรงงานเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก การเจรจาต่อรองการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อขอลดสวัสดิการ หากเจรจาไม่เป็นผลก็ประกาศปิดงาน เอาแรงงานราคาถูกทั้งแรงงานเหมาค่าแรง ซึ่งตอนนี้กว่าหน้าถึงขั้นนำเข้าแรงงานข้ามชาติมาทำงานแทนแรงงานที่ปิดงาน ซึ่งตรงเป็นการไร้มนุษยธรรมอย่างมาก และตามกฎหมายการที่นายจ้างปิดงาน ไม่สามารถนำแรงงานเข้าไปทำงานแทนได้ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครรู้รัฐรู้แต่รัฐไม่กระทำการแจ้งความดำเนินคดีต่อประเด็นนี้

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นถามว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518ที่ให้สิทธิทั้งสองฝ่ายสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความชอบธรรมนั้นไม่มี หากนายจ้างวิกฤตเศรษฐกิจขาดทุนแล้วลูกจ้างยังเรียกร้อง นายจ้างก็ทำได้อย่างชอบธรรม แต่กรณีแม็กซิสไม่ใช่ นายจ้างไม่ได้ขาดทุนวิกฤติแต่อย่างไร การยื่นข้อเรียกร้องจึงไม่มีความเป็นธรรมรัฐควรจัดการให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่ความเท่าเทียมทางการใช้กฎหมายแต่อย่างเดียว

ประเด็นคนงานพีซีบี รัฐควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เมื่อโรงงานไฟไหม้ คนงานเสียชีวิต บาดเจ็บนายจ้างปิดกิจการ อย่างไรกฎหมายก็คุ้มครองอยู่แล้ว และไม่ควรปล่อยให้นายจ้างใช้มาตรการของกฎหมายล้มละลายมาใช้ อันนี้ต้องตรวจสอบ เพราะทุนกลุ่มนี้เป็นเครือข่ายกลุ่มทุนขนาดใหญ่ อย่าใช้วิธีปิดโรงงานนี้เจ้ง แต่อีกหลายโรงงานร่ำรวย

ส่วนกรณีของคนงานNTNนิเด็ค การที่นายจ้างเปิดสมัครใจลาออก ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นกันว่า สมัครใจแบบยินดีปรีดาดีใจที่ได้ออกจากงาน หรือว่าเป็นการบังคับแบบให้จำยอม ซึ่งเดี๋ยวนี้นายจ้างมักใช้วิธีการเปิดโครงการสมัครใจลาออก หรือโครงการจำใจจาก ฟังดูดีแต่ปัญหารัฐต้องดูว่ามีปัญหาจริงหรือต้องการทำอะไร หรือหลีกเลี่ยงปัญหาการมีสหภาพแรงงานอันนี้ต้องตรวจสอบให้ชัด การที่จะสู้ก็ต้องดูความคุ้ม เพราะต้องใช้ขบวนการพิสูจน์หาหลักฐาน และความยุติธรรมของคนงานมาช้าจริงๆ

นายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความเสนอว่า ประเด็นปัญหาของทั้ง 3โรงงาน รัฐต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ที่ส่งเสริมการลงทุน BOIต้องรับผิดชอบ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานทุกกระทรวงต้องรับผิดชอบ ปัญหาการส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่กรส่งเสริมให้นายทุนมาลงทุนแล้วเหยียบย้ำคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนงาน เสนอใช้การเสนอให้มาลงทุนด้วยว่าเรามีแรงงานราคาถูก การลงทุนทำได้ง่ายๆ ได้รับการส่งเสริมทั้งด้านภาษี แต่พอจะปิดโรงงาน เลิกกิจการก็ง่ายไม่มีการตรวจสอบว่าเจ้งจริงหรือไม่ หากรัฐต้องการคุ้มครองสิทธิ ความเป็นคนของแรงงาน ซึ่งทุ้มเททำงานให้ทุนมานานนับ 10ปี ก็ควรที่จะทำการตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังไม่ใช่การปล่อยปะละเลย ให้แรงงานต้องแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของกฎหมายที่แรงงานเสียเปรียบไม่เป็นธรรม

นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาผู้ใช้แรงงานกว่า 1000 คนที่อยู่ระหว่างการเดินเท้าจากจ.ระยอง เข้ามากรุงเทพ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขในพื้นที่ ปัญหาสะสมและขยาย บานปลายซึ่งในเรื่องนี้เกิดขึ้นมากในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีความรุนแรง ปัญหาพิพาทระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ถูกปล่อยให้เป็นความขัดแย้ง บานปลาย กลไกการบริหารจัดการในพื้นที่ล้มเหลว เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย “ลอยตัว”ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นการละเลย คือการที่บริษัทพีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานในกลายมค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการบังคับให้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จนเมื่อคนงานเข้าร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชย เพื่อหวังหยุดยั้งไม่ให้คนงานชุมนุม ถือเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเลย ที่ส่งผลเสียหายต่อลูกจ้าง

คนแรงงานประมาณ 1,500 คน นำโดยกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก  เป็นกลุ่มคนงาน 3 บริษัท เช่นบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน เนื่องจากการเจรจาข้อเรียกร้องไม่ยุติ  คนงานบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ ในเครือสหพัฒน์  เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยอ้างเหตุไฟไหม้โรงงาน ที่เริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพตั้งแต่วันที่ 1 กพ.ที่ผ่านโดยมีคนงานทั้งชาย หญิง และลูกของคนงาน รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ ร่วมเดินทาง (หญิงตั้งครรภ์ นั่งรถ) เพื่อให้มีการแก้ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงานและบีโอไอ.

บริษัทพีซีบี เซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ ส่งให้ต่างประเทศ มีพนักงาน 500 คน เมื่อ 23 มิย. 53 ได้เกิดเพลิงไหม้ในส่วนที่เป็นสายการผลิตหลัก โดยที่ผ่านมาได้มีการให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ โดยจ่ายเงินทดแทนในอัตราร้อย75 และสื่อสารให้คนงานวางใจว่าจะมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อให้กลับเข้ามาทำงานได้อีก แต่ท้ายสุดได้มีการแจ้งปิดกิจการและเลิกจ้างในกลางมค.ที่ผ่านมา โดยแจ้งว่ามีเงิน 6.5 ล้านบาท ที่จะต้องแบ่งเป็นค่าชดเชยให้กับคนงานทั้งหมด ที่จะไม่ได้ค่าชดเชย ตามอายุงานที่กำหนดตามกฎหมาย ทั้งนี้ค่าชดเชยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท ไม่รวมค่าจ้างค้างจ่ายและวันหยุดพักร้อนที่พนักงานไม่ได้ใช้สิทธิ

 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าคนงานในภาคตะวันออก ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้แล้ว เพราะไม่มีใครช่วยเหลือให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาคนงานยื่นหนังสือร้องเรียนถึงทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรมว.แรงงาน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในเวทีสมัชชาแรงงาน ทุกคนจึงพากันเดินเท้าปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในมุมมองใหม่ เพื่อบอกให้สังคมได้รับรู้สภาพคนงานที่เดือดร้อนจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม จากการละเมิดสิทธิต่างๆที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง คนงานที่มีครอบครัวต่างจูงมือพากันเดินเท้าชี้แจงต่อสาธารณะชน

นายชัยรัตน์ บุษรา ประธานสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย กล่าวว่าการเจรจาข้อเรียกร้องในระยะแรกจบลงด้วยดี โดยบริษัทตกลงในการแก้ไขสภาพการจ้างเรื่องโบนัส เงินปรับประจำปี แต่ขณะนั้นยังไม่มีการลงนามในข้อตกลง ที่ต่อมานายจ้างได้เสนอข้อเรียกร้องต่อสหภาพ แต่การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยสหภาพฯเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างอย่างมาก เช่นเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิม 2 กะ เป็น 3 กะ  ที่ส่งผลกระทบต่อเบี้ยการผลิต ซึ่งคนงานกินเดือนต่ำเพียงกว่า 6000 บาท ที่ต่ำมากกับค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ที่อยู่ได้เนื่องจากการทำโอ.ที. รวมถึงตัดลดเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านจากเดิม 800 บาท เหลือ 600บาท ตัดลดรถรับส่งพนักงาน

นายชัยรัตน์ กล่าวว่าการเจรจากว่า 10 ครั้ง ไม่ยุติ ซึ่งในเรื่องนี้พวกเราอยากให้การเจรจาที่มีบรรยากาศที่ดี ยุติการใช้สิทธิปิดงาน เพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงาน  ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเราอยู่นอกโรงงานและจ้างพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน

นางชรินทร์  สายโคกสูง พนักงาน พีซีบี อายุ 40 ปี เปิดเผยว่าทำงานมา 20 ปี ไม่คิดว่าจะต้องเจอกับสภาพเช่นนี้  ที่ต้องเดินเท้าเพื่อข้อขอค่าชดเชยตามกฎหมาย ทั้งๆที่ทุ่มเทให้กับการทำงานมาโดยตลอดระยะเวลาที่ทำ ขณะนี้เดือดร้อนมากเพราะตัวเองเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัวค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนเดียว ซ้ำยังต้องส่งเงินไปให้พ่อกับแม่ในต่างจังหวัดด้วย กังวลใจที่อายุเยอะแล้ว จะไปหางานที่ไหนคงไม่มีใครรับเข้าทำงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ออกแถลงการเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน และปัญหาความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทแรงงานของสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย และสหภาพแรงงานฟูจิซึ ประเทศไทย ที่ทั้งสองสหภาพแรงงานไม่สามารถเจรจาตกลงกับนายจ้างได้ รวมถึงกรณีไฟไหม้โรงงานพีซีบี ประเทศไทย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 7 คน ซึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงในการละเมิดสิทธิแรงงาน นำมาสู่สถานการณ์การเคลื่อนไหวของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานที่ต้องเดินเท้าจากจังหวัดระยองเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และตีแผ่สภาพปัญหาให้สังคมเข้าใจ
 
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ากลุ่มทุนจำนวนมากได้แสดงความไม่สุจริตในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเรื่องปกติของสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้อง การที่นายจ้างใช้วิธีการยื่นข้อเรียกร้องสวนให้ยกเลิกสวัสดิการพื้นฐานของคนงาน และยังมีกระบวนการกดดันให้คนงานต้องจำยอมรับเงิน หรือลาออก และยังเห็นได้ว่ากลุ่มทุนมีการรวมหัวกัน “ทำลายสหภาพแรงงาน” อย่างเป็นระบบ ดังที่ปรากฏได้เห็นกันต่อเนื่องมาในหลายสถานประกอบการ และใช้นักกฎหมายหาวิถีทางในการข่มขู่ คุกคาม ฟ้องคดีต่อผู้นำ เพื่อให้สหภาพแรงงานอ่อนแอหรือสลายตัวไป
 
อีกทั้ง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทุกระดับ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีท่าทีที่เพิกเฉย ไม่มีท่าทีในการเร่งรัดเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งที่มีคนงานเดือดร้อนจำนวนมาก มีทั้งคนท้อง และมีกรณีโรงงานระเบิดที่ไม่ใช่ความผิดของคนงาน นอกจากนี้ภาครัฐยังไม่ได้กำกับควบคุมให้โรงงานที่มี BOI ดำเนินกิจการโดยเคารพสิทธิแรงงาน และสิทธิสหภาพแรงงาน รวมไปถึงการปล่อยให้สถานประกอบการใช้แรงงานข้ามชาติในการทำงาน ในสภาพที่คนงานไทยยังพร้อมจะเข้าทำงาน และแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นก็ถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบอย่างหนักและไร้อำนาจการต่อรอง
 
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอ (เร่งด่วน) ด้วยกันดังนี้
 
1.รัฐต้องตั้งคณะทำงานตรวจสอบสถานประกอบการที่เกิดปัญหา โดยมีองค์ประกอบร่วมของผู้แทนภาครัฐ , กระทรวงแรงงาน , BOI , นิคมอุตสาหกรรม , ตำรวจ และมีผู้แทนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมอยู่ในคณะทำงานนี้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยคณะทำงานนี้ให้ศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้
1)  กรณีสหภาพแรงงานแม็กซิส ให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน และให้นายจ้างถอนข้อเรียกร้อง
2)  กรณีพีซีบี ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้คนงานตามสิทธิที่ต้องได้รับตามกฎหมาย
3)  กรณีเอ็นทีเอ็น นิเด็ค ต้องให้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการเลิกกิจการนั้นมาจากการขาดทุนจริงหือไม่ และภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนงานโดยด่วน
 
2.  การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ปัญหาเชิงโครงสร้าง 
1) โดยการแก้ไขกฎระเบียบกติกาการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มีความเข้มงวด มีบทลงโทษ เมื่อมีการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิสหภาพแรงงาน
2)  การบังคับใชกฎหมายต่างๆไม่ให้เกิดช่องวางทางกฎหมาย
 
ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีจุดยืนในการสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องที่กำลังเดินเท้าเข้าสู่กรุงเทพฯ อย่างจริงจัง
 
แถลงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////////