ที่สุดในชีวิต : TCIJ ก้าวสู่ปีที่ 2 ในโลกสื่อออนไลน์

   ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 2 ในโลกสื่อออนไลน์ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)  จัดงานสังสรรค์เพื่อร่วมแบ่งปันความคิดกันที่ห้องกมลพร โรงแรมสยามซิตี้  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 เวลา 18.30 – 22.00 น. โดยมีผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงสื่อมาร่วมประมาณ 40 คน
สุชาดา  จักรพิสุทธิ์  ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวถึงแนวคิดการทำ TCIJ ว่า  เพราะทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีบทบาทมากและจะมากยิ่งขึ้นในอนาคต  แต่เนื้อหาของข่าวสารทั้งที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์และสื่อหลักแขนงต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวสั้นๆ ที่ขาดข้อมูลรายละเอียดเพื่อการรับรู้และสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง จึงอยากทำงานข่าวแบบสืบสวนเจาะลึกข้อมูลรายละเอียดมากกว่าแค่ทำข่าวปรากฏการณ์หรือโต้ตอบกัน และไม่ใช่เน้นแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น    โดยเห็นว่าช่องทางสื่อออนไลน์เปิดกว้างมากกว่าสื่อหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจและมีข้อจำกัดเรื่องการนำเสนอ  แต่จากการทำงานที่ผ่านมา 1 ปี พบว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย คนทำงานหายาก  วันนี้จึงอยากให้สหมิตรที่มาร่วมงานช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์ TCIJ  ต่อไป
 
ในช่วงของการแบ่งปันความคิดว่าด้วยเรื่องที่สุดในชีวิต  มีผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการสื่อร่วมแบ่งปันหลายคน
 
สมบัติ  บุญงามอนงค์  เล่าถึงที่สุดในชีวิตของตัวเองว่า เมื่อครั้งย้ายมูลนิธิกระจกเงาไปอยู่เชียงราย  ได้พบปัญหาของคนไร้สัญชาติ  จึงเริ่มแก้ปัญหาโดยควานหา “กุญแจ” 2 ดอก คือ 1. ความรู้  ซึ่งได้จากอาจารย์ธรรมศาสตร์ผู้หนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องคนไร้สัญชาติ และ 2 การสื่อสาร  เพื่อให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจ  โดยคิดหาวิธีพาเด็กๆชาวเขาร้อยกว่าคนเข้าทำเนียบในงานวันเด็กและได้ปฏิบัติการ “ยึดเวที” เพื่อเสนอปัญหา  ปรากฏว่าขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ
 
ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข   บอกว่าเรื่องที่สุดในชีวิตตัวเองเกิดจากการทับถมมาจากอดีตในการเป็นนักข่าวหลายแห่ง  การเป็น บก.ประชาไท ต้องฝ่าข้อจำกัด  แรกๆต้องเฝ้าคอยหวังว่าจะมีคนเข้าชมเว็บไซต์ถึงวันละ 10 คนหรือไม่  จนวันนี้มียอดเข้าชมเฉลี่ย 2 หมื่นครั้งต่อวัน  บอกได้ว่าความสำเร็จเกิดจากการถักทอจากหลายคน ไม่มีใครสามารถแยกออกจากคนอื่นได้
   
 
อารีวรรณ  จตุทอง  บอกว่าจากที่เป็นผู้หญิงทั่วๆไปคนหนึ่ง ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้สื่อสารกับคนอื่นๆมากขึ้นจนเกิดแรงบันดาลใจในการไปเรียนกฎหมายและได้นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม  ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วยพลังที่มีอยู่ภายใน  จึงเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง 
 
 
 
คำ ผกา  ได้ยกสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเป็นที่สุดของวิวาทะทางการเมือง  ทั้งของนักวิชาการ  ที่ระมัดระวังการนำเสนอความคิดตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด  พระสงฆ์ที่มีภาพทางสังคมว่าก้าวหน้าทันสมัยแต่พูดเรื่องความเชื่อปาฏิหาริย์  นายทหารที่พูดเรื่องปรองดองว่าทุกคนต้องยอมรับให้ได้  นักการเมืองที่พลิกลิ้นในสภาได้เพียงชั่วข้ามวัน และแสดงภาพลักษณ์ที่ดูดี ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรม
 
 
ส่วน ภิญโญ  ไตรสุริยธรรมา  พิธีกรคนดัง ได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อเล่าเรื่องที่ตัวเองนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดไปอังกฤษ แล้วพบเหตุการณ์หญิงชรานอนหัวใจวายจมอยู่กับกองเลือด สุดท้ายก็เสียชีวิต  ซึ่งกัปตันตัดสินใจหยุดไปต่อแล้วนำเครื่องลงที่อินเดียทันที ทำให้นึกถึงข่าวคนทิเบตเผาตัวประท้วงจีนรุกรานทิเบตแต่จีนก็ไม่หยุด และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีคนตายแต่ก็ไม่มีใครหยุด  ในเมืองไทยมีคนตายจากเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย แต่กัปตันกลับบอกกับผู้โดยสารชั้นประหยัดว่า คุยกับเจ้าของสายการบินแล้วไม่หยุดจะไปต่อ  จึงอยากรู้ว่าเราจะมีภูมิปัญญาอะไรไหมที่สร้างกติกาให้มีการหยุดเมื่อมีคนตายมากมายในโลกจากเหตุการณ์ต่างๆ
  
   ขณะที่ สรณรัชฎ์  กาญจนะวณิชย์  ฉาย Power Point  เล่าเรื่องการขี่รถจักรยานแทนการใช้รถยนต์จำนวนมากๆ  ที่ชี้ให้เห็นว่า คนที่เคยชินและยอมรับว่าเมืองก็ต้องมีความวุ่นวาย รถติด อากาศเสีย ต้องกล้าจินตนาการว่า เมืองก็สามารถมีสิ่งดีๆและน่าอยู่ได้  ส่วน ศุ บุญเลี้ยง  ใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านเพลง  “อิ่มอุ่น” ให้หลายคนที่ชอบได้ฟังกัน 
 
นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน