ถกกฎหมายลูกจ้างทำงานบ้าน หาแนวทางคุ้มครองสุขภาวะและสิทธิ-สวัสดิการ-ความเท่าเทียม

ก.แรงงาน – สสส. – องค์กรแรงงาน เปิดเวทีถกกฎหมายลูกจ้างทำงานบ้าน เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 66 หาแนวทางคุ้มครองสุขภาวะ ให้เข้าถึง สิทธิ-สวัสดิการ-ความเท่าเทียม หลังพบเกินครึ่งไม่มีความรู้ดูแลสุขภาพ ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการ เข้าไม่ถึงการรักษา

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ณ กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายองค์กรแรงงาน จัดงานเสวนา “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 2566 นำเสนอข้อเสนอนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ การจัดสวัสดิการ สุขภาวะที่เท่าเทียมทางสังคมที่จำเป็นต่อลูกจ้างทำงานบ้าน

นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าไทยเป็นปลายทางสำคัญในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหลักความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ มีแนวทางในการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan:NAP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยแผนปฏิบัติการฯ ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา มีเป้าหมายปรับปรุง และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ เช่น  กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 เป็นต้น โดยพิจารณาเพิ่มความคุ้มครองในเรื่องของวันหยุด วันลา และชั่วโมงการทำงาน และอื่น ๆ ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เป้าหมายของเวทีนี้เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นถึงแนวทางให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งไทยมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายจาก 4 ประเทศทั้งหมด 2,333,079 ล้านคน จำแนกเป็น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบจดทะเบียน และกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ยืนยันสถานะบุคคลกว่า 1 ล้านคน โดยแรงงานข้ามชาติระดับล่างได้รับอนุญาตให้ทำงานใน 2 ตำแหน่งงาน คือ งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน ใน 25 ประเภทกิจการ เช่น กิจการเกษตร ก่อสร้าง จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และอู่ซ่อมรถ  แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน หรือที่เรียกว่า ลูกจ้างทำงานในบ้านนั้น ปัจจุบันมี 111,954 คน และชนกลุ่มน้อยสัญชาติอื่น 5,055 คน เช่น ลาหู่ ปะหล่อง มอญ จีน ไทยลื้อ จากสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปี 2565 พบ แรงงานข้ามชาติมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น กินหวานจัด เค็มจัด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ พบอุปสรรคสำคัญคือ การสื่อสาร นำไปสู่ข้อจำกัดสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ

สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานสอดรับกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจโดยตรง ขับเคลื่อนการทำงานประชากรข้ามชาติ 3 ด้าน ด้านนโยบาย ระบบประกันสุขภาพสำหรับคนไม่มีสัญชาติไทย คุ้มครองแรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน และลูกจ้างภาคเกษตร ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ภาคีเครือข่าย ผลักดันโอกาสเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ และประกันทางสังคม ผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานโครงการฯ ขับเคลื่อนข้อเสนอในเชิงนโยบาย ให้เกิดการออกกฎกระทรวง ศึกษาแนวทาง ข้อเสนอนโยบาย ให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตรกรรมเข้าถึงสุขภาวะครบ 4 มิติ รวมถึงสังคมที่เท่าเทียม ด้านความรู้/ข้อมูล สนับสนุนการแก้กฎหมายเกี่ยวกับประชากรข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล  พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นแรงงานข้ามชาติที่สื่อสารภาษาไทยได้ ใน 22 จังหวัด  เป็นล่ามให้ความรู้สุขภาพ และสิทธิต่าง ๆ ด้านพัฒนาเครือข่ายร่วมมือภาครัฐ ประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ แกนนำแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายนักข่าว เพื่อการเข้าถึงสุขภาพที่เป็นธรรม” นางภรณี กล่าว

ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไทยมีจุดเด่นในเรื่องการดูแลแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงสวัสดิการและบริการทางสังคม แต่ความครอบคลุมยังคงเป็นข้อจำกัดในบางกลุ่ม เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตร ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเหลื่อมล้ำหลายประการ นอกจากนี้ยังพบอาการเครียดจากการทำงาน การถูกนายจ้างดุว่า และพักผ่อนไม่เพียงพอ การผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง จะช่วยลดความแตกต่าง และนำไปสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพ การมีหลักประกันทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ การทำงานของ มช.ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายมากกว่า 10 องค์กร จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตร และประกันสังคม โดยได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญเสนอต่อกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานให้ความร่วมมือปรับปรุงแก้ไข ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ