คสรท. และสรส. เดินรณรงค์พร้อมยื่น 13 ข้อเสนอในวันงานที่มีคุณค่า

วันที่  7  ตุลาคม  2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้จัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า (Decent Work) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่สะสม หมักหมมมาหลายสิบปีและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นซึ่งหากไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทยในเวทีโลก นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. ซึ่งได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 13 ข้อ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (World Day for Decent Work) ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ 87 พ.ศ.2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้ 1.การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income) 2.การมีสิทธิ (Rights) 3.การได้แสดงออก (Voice) 4.การได้รับการยอมรับ(Recognition) 5.ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability) 6.การได้พัฒนาตนเอง (Personal development) 7.การได้รับความยุติธรรม (Fairness) 8.การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดหลักการที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานได้ทำงานที่มีคุณค่าไว้ 4 ประการ อันประกอบด้วย 1.หลักการและสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และการยอมรับความตกลงร่วมกันในด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เลิกการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และการขจัดการใช้แรงงานเด็ก 2.เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน 4.การส่งเสริมการเจรจาและไตรภาคี ประเทศไทยแม้จะเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศสมาชิก ที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.2462 แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่างๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแทบจะไม่มีการพัฒนาการที่จะเป็นหลักประกันแก่คนงาน ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกเอาเปรียบ ถูกขูดรีดจนแทบไม่มีหลักประกันใดๆ หากนำเอาหลักการของอนุสัญญาฉบับต่างๆ และหลักการเรื่องงานที่คุณค่ามาตรวจสอบ ก็จะพบได้ทันทีและต้องยอมรับว่าประเทศไทยแทบจะไม่พบความก้าวหน้าอันใดเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นได้จากความพยายามของคนงานในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอ จนทำให้การเจรจาข้อเรียกร้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี และเมื่อตกลงกันแล้วนายจ้างก็ยังละเมิดต่อข้อตกลง และที่รุนแรงคือการละเมิดต่อกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่ กลไกรัฐ กลับไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนงานกับนายจ้าง บางครั้งบางกรณี มีการข่มขู่คนงาน เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนายจ้าง ในขณะที่การจ้างงานในภาครัฐทุกหน่วยงาน มีการจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้างงานระยะสั้น รับค่าจ้างรายวัน ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ มีข้อยกเว้นของกฎหมายไม่ให้คนเหล่านี้จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ในส่วนของการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจก็ไม่มีความแตกต่าง แม้ว่าวัตถุประสงค์แต่แรกของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างงานบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในชาติ แต่ปัจจุบันนักปกครองกลับถูกครอบงำทางความคิดด้วยทุนนิยมเสรีใหม่ กำหนดนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ ส่วนที่ยังคงสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็บังคับให้ต้องแสวงหากำไร ลดต้นทุนรายจ่าย จำกัดอัตรากำลังแรงงานด้วยการไม่รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่เกษียณอายุการปฏิบัติงาน แต่ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงาน Outsourcing ผ่านการจ้างแรงงานรับเหมาช่วง การจ้างทำของ รวมทั้งการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น คนเหล่านี้ จะไม่ได้รับสวัสดิการค่าจ้าง เฉกเช่นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป แม้ว่าจะต้องทำงานที่มีลักษณะงานที่ไม่มีความแตกต่างกันเลย รวมถึงแรงงานนอกระบบ ทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิตและภาคบริการ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระรับจ้างทั่วไป คนทำงานในรูปแบบการจ้างงานแบบแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) คนงานแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จากการเอาเปรียบ ขูดรีด จนถึงวันนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมาย ดำเนินการทางนโยบาย แต่ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะด้วยปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทั้งกระบวนการนายหน้า การหาประโยชน์

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการ “งานที่มีคุณค่า” ที่สำคัญต้องมีหลักประกันให้คนงาน ให้สามารถเข้าถึงหลักการได้จริง โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานให้สามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กร และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ คือ ต้องใช้กลไกของคนงาน คือ สหภาพแรงงาน ร่วมดำเนินการในทุกมิติ เพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเบาบางลง ซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับ และนั่นหมายถึง บทบาทของไทยในเวทีโลก

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้จัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เพื่อรณรงค์ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่สะสม หมักหมมมาหลายสิบปีและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นซึ่งหากไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทยในเวทีโลกรัฐบาลไทยประกาศแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามแผนงานของสหประชาชาติ 17 ด้าน (Sustainable development goals : SDGs) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ถึง ค.ศ.2030 ที่จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรมและครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง ปกป้องโลกด้วยการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ รักษาสภาพแวดล้อมของโลกลดการปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนสร้างสังคมให้ประชาชนได้รับอากาศสะอาด บริสุทธิ์ สิ่งที่กล่าวมานั้นยากที่จะบรรลุสู่เป้าหมายได้ หากคนกลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ตกต่ำ ไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่รัฐบาลย้ำพูดเสมอมาก็ไม่อาจเป็นจริงได้

เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล ประจำปี 2565 จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ คือ

1. ขอให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87  ค.ศ.1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98  ค.ศ.1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง คือ อนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ค.ศ.2000 ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน ค.ศ.2011 ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน ค.ศ.2019

2. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับหลักการงานที่มีคุณค่า ต้องเป็นธรรมตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ 3 คน โดยให้เท่ากันทั้งประเทศรวมทั้งให้สถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง ปรับค่าจ้างทุกปี เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้

3. รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบริษัทลูก การให้สัมปทาน การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในกิจการพลังงาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และนำรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วกลับคืนมาเป็นของรัฐมีรูปแบบการบริหารจัดการโดยรัฐ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

4. รัฐบาลต้องปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และต้องเร่ง จัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือสถาบันการเงินของประกันสังคม รวมทั้งเร่งรัดการตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ในกองทุนต่างๆโดยเฉพาะชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถดำเนินชีวิตหลังออกจากงานแล้วให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

5. รัฐต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

6. รัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้น เช่น เหมางาน เหมาค่าแรง การจ้างงานตามสัญญาจ้าง โดยวางนโยบาย ออกกฎหมาย การจ้างงานมั่นคง คือ การจ้างรายเดือน จ้างงานระยะยาวจนถึงวันเกษียณ หรือวันที่ออกจากงาน

7. รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา และกำหนดมาตรการที่เข้มข้นเพื่อเป็นการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183

8. รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันให้แก่แรงงานนอกระบบ ทั้งเรื่องการเข้าถึงการประกันสังคมอย่างเท่าเทียม  เสริมสร้างหลักประกันทางอาชีพ-หลักประกันทางรายได้ ให้มีพื้นที่จำหน่าย ค้าขายโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนเพื่อให้เกิดรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สำหรับการจ้างงานในธุรกิจแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) รัฐจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เสียชีวิต และให้มีสัญญาจ้างการปรับเปลี่ยนสัญญาจ้าง และเงื่อนไขการว่าจ้างต้องได้รับความยินยอมจากคนงานแพลตฟอร์ม

9. ขอให้รัฐบาลยกเลิกสัญญาจ้างงานระยะสั้น รับค่าจ้างรายวันในการจ้างงานภาครัฐ เป็นการจ้างงานแบบประจำ รับค่าจ้างรายเดือนจนถึงวันเกษียณ และให้ได้รับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้ข้าราชการ คนทำงานภาครัฐสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

10. รัฐบาลต้องให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอาเปรียบ ถูกเรียกรับประโยชน์จากขบวนการนายหน้า ค้ามนุษย์ รวมทั้งกำหนด ควบคุม ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารเข้าประเทศและใบอนุญาตทำงานไม่ให้แพงกว่าที่รัฐบาลไทยกำหนด การประกาศขึ้นทะเบียนบ่อยครั้งเป็นช่องทางของขบวนการนายหน้าหาประโยชน์ซึ่งหมายถึงภาระที่แรงงานข้ามชาติจะต้องจ่ายในราคาแพง

11. ขอให้รัฐบาลนำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยมาสู่การปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้คนงานได้ทำงานที่มีคุณค่า มีสิทธิ มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง มีความปลอดภัย มีความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพ และมีหลักประกันในการทำงานที่มั่นคง

12. ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆ ด้าน อย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยความเอื้ออาทร เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเอง และคุณภาพชีวิตที่อย่างเท่าเทียม ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หน่วยงานราชการ หรือบริษัทเอกชนต่างก็นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาปรับใช้และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่อยู่ในระดับสากลและนานาชาติ SDGs มีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่ของลูกจ้าง รวมทั้งการจ้างแรงงาน

13.ขอให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยให้มีเพียงฉบับเดียวครอบคลุมผู้ใช้แรงงานได้ทุกภาคส่วน รวมถึงกำหนดให้สถานประกอบการหนึ่งมีสหภาพแรงงานได้เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ก่อน แล้วจึงปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยเพื่อร่วมกันแสดงความจริงใจต่อการพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการประชุม หารือร่วมกับองค์กรสมาชิก และเครือข่าย และลงพื้นที่เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา ความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในทุกภาคส่วน ข้อเรียกร้องที่เสนอสรุปและรวบรวมมาเป็นเพียงประเด็นปัญหาหลักๆ แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากที่รอการแก้ไขจากรัฐบาล หน่วยงาน
ของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินเลยจากความเดือดร้อน ความจำเป็น และที่สำคัญผู้ใช้แรงงานทั้งระบบเกือบ 40 ล้านคน แรงงานข้ามชาติอีกกว่า 4 ล้านคน หากรัฐบาลแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นกับดักความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มีสถิติสูงที่สุดในโลก ภาวะรวยกระจุก จนกระจาย คือความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่รัฐบาลต้องเร่งรีบแก้ไขทันที คสรท. และ สรส. ที่ได้จัดกิจกรรมสะท้อนปัญหาพร้อมยื่นข้อเสนอในวัน “งานที่มีคุณค่าสากล” ในประเทศไทยทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดของพี่น้องผู้ใช้จะได้รับสั่งการจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที ซึ่ง คสรท. และ สรส. พร้อมร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน