คสรท.ยื่นคัดค้านการรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อขอคัดค้านการรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์การควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งต่างเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสองบริษัทนั้นประกอบธุรกิจคลื่นความถี่เกี่ยวกับโทรศัพท์ และ อินเตอร์เน็ต หรือ ระบบสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายที่ประชาชนแทบทุกคนใช้กันอย่างแพร่หลาย คสรท. พยายามสร้างความรับรู้และเข้าใจในเรื่องดังกล่าวและเห็นพ้องต้องกันว่าการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทนั้นไม่ได้เกิดผลดีต่อประชาชนแต่อย่างใด แต่บุคคล กลุ่มบุคคลที่จะได้ประโยชน์ก็คือกลุ่มทุนของทั้งสองบริษัท และทราบว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC กำลังอยู่ในการพิจารณาของ กสทช. จึงมีความเห็นว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC มีผลกระทบโดยตรงที่จะสร้างความเสียหายต่อสภาพการแข่งขันของตลาดแข่งขันในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนและสังคมโดยรวมซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องทนรับสภาพการผูกขาดทางตลาดโดยกลุ่มทุนเอกชน การแข่งขันที่อ้างว่าประชาชนจะได้ประโยชน์นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการทั้งสอง พร้อมข้อเสนอ ดังนี้

1.ขอให้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยุติการควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC เพราะไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติ ประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อเจตนารมณ์การก่อตั้ง กสทช.

2. ขอให้รัฐบาล และ กสทช. สนับสนุน ส่งเสริม ให้ใช้กิจการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของรัฐเป็นเครื่องมือในการให้ทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม เพราะเป็นภารกิจหน้าที่แห่งรัฐ อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เกือบทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560

3. ขอให้ กสทช. ใช้อำนาจในการกำกับดูแลที่มีอยู่ตามกฎหมาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสำนักงาน กสทช. ที่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม อันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ประชาชนและก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้อ้างถึงเหตุผลการคัดด้าน ดังนี้

1.แม้ว่าประเทศไทยจะใช้หลักการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเป็นแนวทางในการวางกรอบการพัฒนาประเทศ มีการเปิดเสรีในการประกอบธุรกิจ แต่หลักการนี้ควรมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผู้บริโภค แต่การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะเกิดประโยชน์กับกลุ่มทุนเพียง 2 บริษัทนี้เท่านั้น โดย TRUE จะกลายเป็นผู้ประกอบกิจการในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และ DTAC เองที่อาจจะมีนโยบายการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จึงเกิดการตกลงร่วมกันในการที่จะรวมธุรกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนและสังคมเลย อันเป็นผลโดยตรงของการควบรวมธุรกิจ จึงไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในชาติที่ กสทช. จะยินยอมให้บริษัทกลุ่มทุนทั้ง 2 บริษัทนี้ ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันและนำเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติไปแสวงหาประโยชน์และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุน โดยที่ผลประโยชน์นั้นไม่ได้ตกแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมเลย

2. ปัจจุบัน ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของประเทศไทยเป็นตลาดที่อิ่มตัว จึงยากที่จะส่งเสริมให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาด หากยอมให้มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย และเป็นการยากที่จะทำให้ประเทศไทย
มีผู้ประกอบการรายใหญ่กลับมามีจำนวน 3 ราย เท่าเดิมหรือมากกว่าได้ ที่สำคัญแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคตที่ กสทช. จะใช้อำนาจกำกับดูแลที่มีอยู่สั่งการให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้ว หรือแตกบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยหลายบริษัทด้วยเหตุผลของการผูกขาดทางการค้า เพื่อที่จะส่งเสริมหรือสร้างตลาดแข่งขันเสรีได้ ดังนั้น กสทช. จึงไม่ควรมีมติที่จะทำลายตลาดแข่งขันเสรีของประเทศ จนยากที่จะแก้ไขเยียวยากลับคืนได้

3.การรวมธุรกิจทั้งสองบริษัทส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจะมีสภาพแบบผูกขาดเพราะจะเหลือจำนวนผู้ประกอบกิจการน้อยรายในธุรกิจ ทำให้ไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะไม่มีการปรับปรุงพัฒนา อีกทั้งผลการศึกษา
ทางวิชาการที่ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายฉบับ เช่น ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค

อ้างอิงใน (https://www.thansettakij.com/technology/technology/543560?as=)(https://www.isranews.org/article/isranews-news/112820-nbtc-board-TRUE-DTAC-Amalgamation-A-Study-on-the-Impact-of-a-Proposed-Merger-news.html)

4. การสร้างให้เกิดสภาพตลาดผูกขาดนั้นเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คือ

            – มาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรมการป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

            – มาตรา 60 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ…ฯ

            – มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ

            – มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้

            ฉ. ด้านเศรษฐกิจ (4) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถ ในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน

5.การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ต้องการส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรีเกิดขึ้นในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยในประกาศฯ จะระบุความหมายของการควบรวมกิจการ วิธีการและขั้นตอนของการขออนุญาตควบรวม และที่สำคัญที่สุดว่า ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจน โดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI: Herfindahl-Herschman index) จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI : อ้างอิงใน https://tdri.or.th/2021/12/true-dtac-merger/ )

6. การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC สร้างตลาดมีสภาพแบบผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ในอดีตรัฐได้แปรรูปองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จนมาเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน โดยอ้างว่า “เพื่อลดการผูกขาดโดยรัฐและสร้างตลาดแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะใช้บริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ในราคาค่าบริการที่ถูกลง ประชาชน ผู้บริโภคจะได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เป็นจริง” แต่การควบรวมกิจการในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการผูกขาด ที่ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์อันใด แต่บริษัททั้งสองที่ทำการรวมธุรกิจจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ “การควบรวมในครั้งนี้จะกลายเป็นการผูกขาดโดยเอกชน ซึ่งรัฐ และประชาชนจะไม่สามารถได้รับประโยชน์ใดๆ เลย” ซึ่งหาก กสทช. ปล่อยการควบรวมให้เกิดขึ้นก็จะเป็นการขัดเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสำนักงาน กสทช. ที่ต้องการแยกอำนาจในการกำกับดูแลออกจากรัฐวิสาหกิจในอดีต เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนสามารถแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในระนาบเดียวกัน ตามที่รัฐมีนโยบายเปิดธุรกิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ให้เป็นตลาดแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน