คสรท.ตามเลขาธิการ สปส. ถามความคืบหน้า

Untitled-1

สมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นเลขาธิการสปส. ตามเรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมาย พร้อมแสดงความกังวล ต่อการออกกฎหมายลูกที่ขัดกฎหมายแม่ กรณีลูกจ้างคนทำงานบ้าน และประเด็นกรณีสิทธิประโยชน์การทดแทนการขาดรายได้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำหนังสือ ติดตามความคืบหน้าในการยกร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 ต่อนางปราณิน มุตตาหารัช  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม 

ตามที่คณะกรรมการประกันสังคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 ขึ้นมาสองคณะนั้น ยังขาดการมีส่วนร่วมครอบคลุมทุกภาคส่วนของผู้ประกันตน และคสรท.ได้ยื่นหนังสือ เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม   2558  ต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  เพื่อขอให้แต่งตั้งผู้แทนแรงงานเป็นกรรมการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองฯ ให้อยู่ในคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจในกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน และได้เสนอรายชื่อผู้แทน คสรท.จำนวน 2 ท่าน เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 คือ 1. นายสมพร  ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก 2. นางสาวสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ   แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คสรท. มีความเป็นกังวลถึงการพิจารณาร่างกฎหมายลูกดังกล่าว ที่จะไปตัดสิทธิ และลดสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน  เช่น

1. กรณีลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีนายจ้างชัดเจน ที่ประชุมอนุกรรมการฯจะผลักดันให้เข้าไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40

2. กรณีสิทธิประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีภัยพิบัติจากธรรมชาติ จะต้องจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้ ยังมีการโต้แย้งระหว่าง 75% กับ 40% ค่าจ้าง

ในการนี้ คสรท.จึงขอเข้าพบเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นหนังสือติดตามทวงถามความคืบหน้าในการยกร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 และในการแต่งตั้งอนุกรรมการฯทั้ง 2 ท่าน เข้าเป็นอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายฯ

นายสมพร ขวัญเนตร เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังจากที่มีการยื่นหนังสือเสนอตนเป็นอนุกรรมการมา 2 ครั้งแล้ว ทางรองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้รับเรื่องพร้อมเสนอต่อคณะกรรมการบริหารประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อมีมติแต่งตั้งแล้วส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ในก็สามารถเข้าประชุมและเสนอข้อคิดเห็นได้แต่ห้ามลงมติ

“เราก็ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลหลักการความคิดเห็น และคิดว่าม่ควรมีการลงมติ ใช้หลักการพิจารณาแบบสร้างสรรค์หารือกันโดยใช้เหตุผล ข้อมูลที่มี ซึ่งตอนนี้ในส่วนของร่างอนุบัญญัติไหนที่มีปัญหายังมีแนวคิดไม่ตรงกันให้พักไว้ก่อน ให้ไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาเสนอต่อที่ประชุม เช่นเหตุสุดวิสัยจากกรณีภัยพิบัติ ก็เลื่อนประชุมไปครั้งหน้าวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ในฐานะผู้นำแรงงานต้องทำหน้าที่ปกป้องสิทธิประโยชน์ และเสนอแนะข้อมูลความคิดเห็นในที่ประชุม เราเป็นคนงานเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งกฎหมายมีมาเพื่อคุ้มครองเราในฐานะแรงงานผู้มีส่วนได้เสียการพิจารณาร่างหรือผ่านไม่ผ่านอนุบัญญัติแต่ละมาตราควรฟังเราด้วยมิใช่หรือ กฎหมายลุกต้องไม่ขัดกับกฎหมายแม่ อย่างกรณีคนทำงานบ้านอนุบัญญัติขัดกับกฎหมายประกันสังคมแน่ คนทำงานบ้านเป็นแรงงานที่มีนายจ้างชัดเจน ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 แต่อนุบัญญัติไประบุว่าให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 อันนี้ไม่ชอบด้วยหลักการแน่นอน เราก็ต้องคัดค้าน ในเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีนายจ้างก้ต้องมีนายจ้าง ส่วนแรงงานข้ามชาติตอนนี้อนุบัญญัติผ่านแล้วด้วยความเห็นพ้องตามกฎหมายประกันสังคมที่ระบุสิทธิประโยชน์ไว้” นายสมพร กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน