คนทำการผลิตในบ้าน เสนอ“ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง”

ยกระดับคนทำการผลิตในบ้านแม่หญิงและเด็กผู้ขับเคลื่อนGDP ที่ปราศจากความรุนแรง

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้อง AUDITERIUM ชั้น M TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานนออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้จัดงาน “ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง” Ending violence in the world of work “ยุติความรุนแรงในโลกแห่งการทำงาน” เพื่อแสดงจุดยืนและรวมพลังการรณรงค์ 16 วันในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

โสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ผู้หญิงแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นอกจากความรุนแรงจะพุ่งสูงขึ้นแล้ว ผู้หญิงแรงงานส่วนใหญ่ที่ประสบกับเหตุแห่งความรุนแรง เลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากบริการต่างๆ หรือกระทั่งขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงซ้ำอีก หรือเกิดความอับอายต่อสังคม

ปัจจุบันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงมีอัตราสูง โดยความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นกว่า 163 ประเทศทั่วโลก และความรุนแรงในครอบครัวไทยติดอยู่ในสิบอันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแรงงานหญิงที่เปราะบาง มีข้อจำกัดทางภาษา และต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงตลอดเวลา

กนกวรรณ ด้วงเงิน ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบในกรุงเทพฯ อธิบายว่า ความรุนแรงในกลุ่มผู้หญิงลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน หาใช่มีเพียงเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น หากแต่เป็น “ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถหาเงินให้พอใช้จับจ่ายได้ในแต่ละวัน

บางครอบครัวไม่อยากมีลูกด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ บางครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะที่ลูกหลานติดยาเสพติด หรือบางคนที่มีลูกเล็ก ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของลูกหลานจากการทำงาน เช่น ฝุ่นจากงานเย็บผ้า สารเคมีจากตะกั่ว เพราะบางโรงงานและชุมชนไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็ก

ทางด้าน Kyan Par ผู้หญิงลูกจ้างทำงานบ้านชาวเมียนมา และรองประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านประเทศไทย เสริมว่า ผู้หญิงลูกจ้างทำงานบ้านต้องเผชิญกับความรุนแรง ไม่ว่าจะจากครอบครัวหรือนายจ้าง ทั้งวาจาดูหมิ่นเสียดสี ทำร้ายจิตใจและร่างกาย ขณะที่สถานะของการทำงานก็ต่ำกว่ามาตรฐาน เวลาส่วนตัวน้อย ขาดสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม

ขณะที่ลูกจ้างทำงานบ้านมักถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไปทำธุรกรรมต่างๆ หรือกระทั่งเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เช่น เจ้าหน้าที่พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะดำเนินการ หรือต้องเขียนคำร้องในแบบฟอร์มที่เป็นภาษาไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้

ทางด้าน พรรณี รวมทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ อธิบายว่า กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีหน้าที่ในการส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนหรือผู้มาติดต่อได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความบกพร่องของเจ้าหน้าที่บางท่านได้ ซึ่งทางหน่วยงานก็พยายามพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่จะดูแลลูกจ้างอยู่ 4 ฉบับ เช่น กฎกระทรวงผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ร.บ.คุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งเราก็มีการปรับปรุงให้ทันสถานการณ์ต่างๆ เช่น ออกแนวปฏิบัติการส่งเสริมคุ้มครองสตรีมีครรภ์ให้นมบุตรหรือหลังคลอดบุตรที่เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อจะรองรับอนุสัญญา 177 ที่ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน

ขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 14 ที่มีการแก้ไขปรับปรุง 11 เรื่อง และขณะนี้ อยู่ในระหว่างขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทางด้าน เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) เสริมว่า เราต้องรีบเร่งมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ เพราะผู้หญิงแรงงานแทบทุกคนอยู่ในระบบนิเวศของความรุนแรง เพราะเมื่อก้าวสู่ความเป็นแม่หรือเมีย ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียงานและชีวิตทั้งชีวิตของพวกเธอ และต้องเผชิญกับความภาวะความเครียดที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ หรือกระทั่งต้องเป็นหนี้มากมายจากกองทุนชุมชนต่างๆ

หากนำงานดูแลเหล่านี้มาจัดสันปันส่วนใน GDP จะคิดเป็นถึง 26.8% นับเป็นมูลค่ากว่า 18.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่จะใหญ่ติด 1 ใน 4 ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นหากเราเสริมในส่วนนี้  และสนับสนุนในเรื่องผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมุมนมแม่หรือศูนย์เลี้ยงเด็ก ประเทศไทยอาจได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 16% จากเหล่าผู้หญิงที่มีเวลาออกไปทำงานและเสียภาษี

“พวกคุณควรจะเล่นตัวได้แล้ว มันไม่มีงานไหนที่จะแพงเท่านี้อีกแล้ว ตอนนี้มันขึ้นยิ่งกว่าวิศวกรอีก เพราะงั้นการรวมตัวเพื่อต่อรองมันดีมาก มันขึ้นสูงมาก เพราะงานนี้ไม่มีใครอยากทำ และนายจ้างที่เขาจ้าง เขาจะจ้างใคร จ้างผู้หญิง ถ้าเราไม่ให้คุณค่าแรงงาน care เราก็จะสูญเสียเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ แล้วสังคมจะมั่นคงได้ยังไง” เรืองรวีทิ้งท้าย