คณะทำงานเด็กเล็กฯ โชว์พื้นที่นำร่อง สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ด้านนักวิชาการชี้ชัด ลงทุนในเด็ก 1 บาท ได้กลับคืน 9 บาท

คณะทำงานเด็กเล็กฯ โชว์พื้นที่นำร่อง สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ด้านนักวิชาการชี้ชัด ลงทุนในเด็ก 1 บาท ได้กลับคืน 9 บาท ทุกฝ่ายประสานเสียงแก้ระเบียบ หนุนท้องถิ่นจัดการตนเอง

 หาก “เด็ก คืออนาคตของชาติ” แต่ทำไมเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ปี ยังเป็นกลุ่มประชากร ที่ไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับเด็กกลุ่มนี้ และ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา The Active ร่วมกับคณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และ เครือข่ายกว่า 450 องค์กร  ได้จัดเวทีในการขับเคลื่อน ผลักดันแนวคิดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าและการกระจายอำนาจ ภายใต้ความร่วมมือ หน่วยงานรัฐ สภาผู้แทนราษฎร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ้น สถาบันวิชาการ และภาคประชาสังคม ภายใต้งาน Policy Forum นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยในช่วงแรกของเวที เป็นการนำเสนอผลงานศึกษาวิจัย  ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ “สวัสดิการเด็กเล็ก”     

งานวิจัย ระบุ เด็กเกิด 1 คน รายได้แม่ลดลง 20 %  

เสนอลดภาษีเอกชนดึงร่วมโครงการฯ

เรืองรวี พิชัยกุล       ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา  ได้นำเสนองานวิจัยในประเด็น “เศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดาในประเทศไทย” โดยเรืองรวี กล่าวว่า มารดา ไม่ได้หมายถึงแม่ที่คลอดลูก แต่สามารถครอบคลุมทุกเพศสภาพที่รับหน้าที่ดูแลเด็ก  จากงานวิจัยระบุว่า ผู้หญิงที่มีลูก 1 คน จะมีรายได้ลดลง 20 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงลูก เนื่องมาจากการมีลูกต้องทำให้แม่ทำงานน้อยลง แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  งานวิจัย ยังระบุด้วยว่า ต้นทุนการเลี้ยงดูลูกในวัย 0-6 ปี ให้มีคุณภาพใช้เงินประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคน ดังนั้นเมื่อแม่มีลูก 1 คน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาส แม่อาจจะต้องลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก อีกต้นทุนประเทศที่ไม่ใช่การเงิน  นอกจากนี้แนวโน้มสถานการณ์ประชากรในอนาคต เด็กเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้นและไม่มีเงินเก็บเพื่อเลี้ยงตัวเอง

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย จากงานวิจัยดังกล่าว คือ ให้ขยายวันลาคลอดแบบรับค่าจ้างเป็น 180 วัน  เพิ่มวันลาทั้งในราชการและเอกชน จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ที่มีความยากลำบาก รวมไปถึงมีเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และที่สำคัญคือการเพิ่มบทบาทการมมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายนี้ ด้วยการลดภาษีสำหรับเอกชนที่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวพนักงาน และลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่บริจาคให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ด้านนักวิชาการ ระบุระบบฐานข้อมูลประชากรของประเทศมีปัญหา

 รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ     วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แนวโน้มประชากรที่มีอัตราการเกิดน้อย ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามเพราะไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ในการจัดการเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการดูแลเด็กวัย 0-6 ปี ที่ยังไม่มีนโยบาย รวมไปถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รองรับเด็กเพียง 52 เปอร์เซนต์ เด็กอีก 48 เปอร์เซนต์อยู่นอกระบบ  

ทั้งนี้ รศ.รัตพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเด็กตกหล่นส่วนใหญ่เกิดจากระบบการบริหารจัดการข้อมูล เช่น  เด็กอายุ  0-6 ปี มีจำนวน  4,497,476 คน มีเด็ก 2.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 47.2 เปอร์ ไม่ได้รับเงินสนับสนุน และไม่มีฐานข้อมูลว่าเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหน ภาครัฐขาดการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นระบบระหว่างหน่วยงานระดับชาติกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น ทำให้ภาครัฐจัดสรรงบไม่สอดคล้องกับปัญหา ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับประเทศ

ข้อเสนอต่อรัฐบาล สร้างระบบที่เป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐ ดำเนินนโยบายสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อความยั่งยืน ศึกษาปัญหาอุปสรรคและทางออก

คณะทำงาน โชว์ 4 พื้นที่นำร่อง พร้อมย้ำต้องกระจายอำนาจ

ส่วน เกรียงไกร ชีช่วง     คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ได้นำเสนอข้อสรุปจากการจัดเวทีในพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ ในภาคเหนือ อบต.แม่วิน จังหวัดเชียงใหม่ ท้องถิ่นสามารถดำเนินการขยายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรับเด็กอายุเริ่มตั้งแต่ 2 ขวบ และสามารถรองรับเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ได้ด้วย  ส่วน ภาคอิสาน  เทศบาลสังขะ จ.สุรินทร์เ ชุมชนใกล้เมืองที่ติดขอบชายแดน เทศบาลสามารถจัดระบบรองรับเด็กได้เพียงพอและยังดูแลเด็กเล็กจากพื้นที่ใกล้เคียงได้ด้วย รวมถึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็กด้วย    ด้าน ภาคตะวันตก คณะทำงานได้เลือกพื้นที่บ้านปรังเผล จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน พื้นที่ค่อนข้างลำบาก อบต.สามารถจัดรถรับส่งเด็กๆมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้   ในขณะที่ภาคใต้ บ้านคูเต่า เด็กเล็กที่นี่ได้รับสวัสดิการ 100 เปอร์เซนต์ มีการมอนิเตอร์ที่ดี เมื่อมีเด็กตกหล่นจะมีการแก้ปัญหาอย่างเร็ว อย่างไรก็ตามภาคใต้ มีปัญหาทุพโภชนาการของเด็ก  

        เกรียงไกร ยังได้นำเสนอถึงข้อจำกัดและปัญหาที่พบจากพื้นที่นำร่อง คือ ท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแล แต่นโยบายไม่ชัดเจน งบประมาณไม่ลงมาในพื้นที่ ทำให้ทำงานลำบาก ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงขอย้ำข้อเสนอคือการกระจายอำนาจ

ลงทุนในเด็ก 1 บาท จะได้กำไรกลับมา 7-9 บาท ในอนาคต

ในขณะที่นักวิชาการอย่าง  ฉัตร คำแสง  ผู้อำนวยการ 101 PUB  ได้นำเสนอว่า จากการศึกษาในประเด็นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าพบว่า ว่า เด็ก 70 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศอยู่ในครัวเรือนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คืออยู่ในครอบครัวค่อนข้างขัดสน นอกจากนี้เด็กยังอยู่ในกับลุ่มเปราะบางซ้ำซ้อน  ยากตน ติดยาเสพติด  และจากการศึกษา ยังระบุด้วยว่า ไทยยังลงทุนในเด็กน้อยเกินไป เพียงแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์  ในขณะที่ UNICEF กำหนดไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งข้อมูลจากการศึกษา บอกว่า หากลงทุนในเด็ก 1 บาท จะมีกำไรในอนาคต 7-9 บาท  อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการเลี้ยงดูเด็กในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือยากจนคือ 2,500/เดือน  ซึ่งจำนวนเงิน 2,000 บาท จะใช้งบประมานเท่ากับเบี้ยผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า  มีเด็กตกหล่นที่เข้าไม่ถึงประมาณ แสนกว่าคน 

นอกจากนี้ ฉัตร ยังกล่าวอีกว่า การที่รัฐจะดูแลเด็กอย่างครบวงจร ยังต้องทำงานอีกหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ดูแลคนเป็นแม่ให้มีสุขภาพดี  ครอบครัวต้องมีความปลอดภัย มั่นคง  ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด  ซึ่งเด็กที่โตขึ้นมาต้องได้รับการดูแลที่ดี เพื่อจะโตมาเป็นแรงงานที่ดี เพื่อดูแลสังคมสูงวัยต่อไป

ส่วนประเด็นนโยบายกระจายอำนาจ ควรระบุเรื่อง นโยบายที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่นเรื่องระดับชาติที่รัฐกลางดำเนินการเอง  เพื่อท้องถิ่นจะได้มีความยืดหยุ่นดำเนินการได้มากขึ้น 

หมอชลน่าน รับนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

นพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอแนะนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าจากคณะทำงาน 450 องค์กร ถึงนายกรัฐมนตรี  และกล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้มีความสำคัญมาก แม้รัฐบาลจะไม่ได้แถลงให้เป็นนโยบายของ แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ ในอนาคตจำนวนประชากรวัยทำงานของเราจะลดลง ซึ่งเป็นมหันตภัยร้ายแรงของประเทศและโลก  ซึ่งจำนวนเด็กที่เกิดน้อยและยังด้อยคุณภาพด้วย  กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงส่งเสริมการมีบุตร ตั้งแต่ก่อนคลอด ระหว่างและหลังคอลอด และจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

จากนั้นในช่วงบ่ายเป็น เวทีเสวนา “แนวคิด หลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอำนาจ”

นักวิชาการ ระบุ รัฐสวัสดิการเกิดยากในระบอบอุปถัมภ์

 ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร   คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์  กล่าวว่าเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของอนาคต เศรษฐกิจและสังคม ที่ขึ้นอยู่กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กประถมวัย 0- 6 ปี จะโตขึ้นมามีคุณภาพได้อย่างไร การที่สวัสดิการเด็กมีความสำคัญ ต้องย้อนไปในอดีตเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้คนจำนวนมาก เพราะเรามีอัตราการเกิดที่สูงถึง 30 % ต่อปี ในขณะที่ตอนนี้อัตราการเจริญพันธ์ของเราลดลง แรงงานลดลง ซึ่งเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประการที่ 2 ในอดีตประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก และประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทั้งเงินทุนและ เทคโนโลยีต่าง ๆ   แต่ในปัจจุบันสิ่งต่าง ๆที่เคยมีเช่น ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง ทุกๆอย่างลดลง และประเทศมหาอำนาจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านของ  ไทยจึงต้องหันมาพึ่งกำลังภายใน คือ ทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะเด็กที่ต้องดูแลให้เป็นทรัพยากรชั้นยอด  ดังนั้นเราจึงถูกทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้าน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป จะทำให้มีปัญหาไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้จากการสำรวจครัวเรือนพบว่า สิ่งที่ครอบครัวอยากได้จากรัฐบาลคือการส่งเสียให้เด็กเรียนจนจบปริญญาตรี เพื่อแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่ความเป็นจริงการการอุดหนุนเงิน 0-6 ปี ในปัจจุบันยังมีการตกหล่นและไม่ได้รับอย่างถ้วนหน้า

ในขณะที่ การกระจายอำนาจนั้น ผาสุก กล่าวว่า  เป็นประเด็นสำคัญเพราะปัจจุบันทั้งอำนาจ งบประมาณ คน กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง  ในขณะที่คนส่วนกลางไม่รู้ศักยภาพของท้องถิ่นอย่างเพียงพอ และไม่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และใช้ประโยชน์ของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังนั้นต้องคิดใหม่เรื่องกระจายอำนาจอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ผาสุกปิดท้ายว่า สวัสดิการเด็ก คืออนาคตประเทศไทย การจะได้สวัสดิการเด็กไม่ง่าย เพราะประเทศกลับเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรงมาก แต่ผู้มีอำนาจปัจจุบันคุยกับเค้าได้อย่างยื่นหมูยื่นแมว  อยู่ที่ว่าเราจะยื่นอะไรให้เขา และเขายื่นอะไรกลับมาให้เรา อย่างไรก็ตาม มีแสงสว่างในปลายอุโมงค์เสมอ สำหรับคนที่ช่างคิด อำนาจที่จะได้มาต้องมาจากความพอใจของประชาชน  หมดสมัยแล้วที่อำนาจมาจากระบอบอุปถัมภ์เท่านั้น

เสนอรื้อระเบียบท้องถิ่น แก้ปัญหาสวัสดิการเด็กเล็กถ้วยนหน้า

           พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ  นายกเทศมนตรีนครยะลา   กล่าวว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับอนาคตลูก มากกว่าการสร้างความเจริญใด ๆ หากเรายื่นอนาคตที่ดีให้กับลูก คะแนนเสียงจากการโหวตจะได้มาอย่างอัติโนมัติ   ทั้งนี้จากตัวเลขงานวิจัย ระบุว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ การลงทุนในเด็ก 1 บาท จะมีกำไร 7-9 บาท เป็นตัวทวีคูณทางเศรษฐศาสตร์  GDP ของประเทศจะโตขึ้น 3% ซึ่งนักการเมืองมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากการลงทุนในเด็กเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลานาน  แต่รากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาเด็กเล็ก 0-5 ขวบ ที่ยังมีช่องว่างอยู่  

        หากรัฐมีการกระจายอำนาจมากขึ้น จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งหากรัฐส่วนกลางไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้ ก็ควรให้ท้องถิ่นหาเงินให้ได้มากขึ้น เช่นการหาในเชิงพาณิชย์ เช่นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ที่มีการเปลี่ยนระบบทำให้รายได้เปลี่ยนไป  ควรจะมีการเปลี่ยนระเบียบหลายข้อ ซึ่งอำนาจหน้าที่ค่อนข้างล้าสมัย หากมีการปลดล็อคให้หารายได้ได้บางส่วน จะสามารถสนับสนุนงบประมาณนโยบายนี้ได้  

          นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเสนอให้แก้เงื่อนไขเด็กที่จะเข้ามาสู่ศูนย์เด็กเล็ก ให้แก้จาก 3-5 ปี เป็น 2-5 ปี เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้ดูแลเด็กได้ตั้งแต่ 2 ปี  2.เสนอ อปท.ออกระเบียบดูแลเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนแบบต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่การสงเคราะห์ระยะสั้น

“หากวันนี้เรายังไม่ปรับเปลี่ยน จะเข้าสู่กับดักขนาดใหญ่ ถึงเวลาแล้วต้องมีการปฏิรูประบบราชการที่ซ้ำซ้อน ควรเสริมความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น คนที่รู้ดีที่สุดคือคนที่อยู่ใกล้ ปัญหาที่แก้ได้ในระดับกระทรวงควรจะดำเนินการได้เลย”

·          ผศ.สุนี ไชยรส   คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 

กล่าวว่า ข้อเสนอจากเครือข่ายทั้ง 450 องค์กร ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจ  ข้อเรียกร้องคือ ทำไมต้องถ้วนหน้า ซึ่งคำว่าถ้วนหน้าปรากฏอยู่ในระบบประกันสังคมที่มีคนอยู่เพียง 11 ล้านคน จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีถ้วนหน้าคือทุกคนต้องได้  ข้อเรียกร้องจึงพัฒนาขึ้น โดยเรียกร้องตั้งแต่คุณแม่ตั้งท้อง สร้างระบบฐานข้อมูลให้มั่นคง  การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เริ่มเปลี่ยนแปลงจากข้อเสนอต่าง ๆ ส่วนเรื่องถ้วนหน้านั้น  ทุกช่วงวัยได้ระบบถ้วนหน้าหมด กลุ่มเปราะบาง เหลือเพียงเด็กเล็กที่เป็นช่องโหว่ 

สุนี กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน 9 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาใหญ่อยู่ 3 เรื่อง คือ ไม่มีเงิน ในขณะที่บางส่วนบอกว่า เงินมีแต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจให้จ่ายกับนโยบายนี้   เรื่องการกระจายอำนาจ จะดำเนินการไม่ได้ หากไม่มีมติครม. เงินอุดหนุนถ้วนหน้าคือเงินใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน ส่วนที่ 3 ให้ทุกคนถ้วนหน้า จะทำให้สวัสดิการเด็กถ้วนหน้าเป็นพื้นฐาน

“เราแปลกใจทำไมนโยบายของรัฐบาลไม่เร่งรัด เพราะชีวิตเด็กตกหล่นไปเรื่อยๆ และไม่สามารถย้อนกลับมาได้”

ก้าวไกล เสนอ พม.ตั้งงบฯสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  เตรียมใช้ กมธ.ติดตามนโยบาย

·      ณัฐวุฒิ บัวประทุม   รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  กล่าวว่า การมองนโยบายเงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ไม่ใช่มองแค่ถ้วนหน้าหรือจำนวนเงินเท่าไหร่ แต่ต้องเป็นการคุ้มครองดูแลเด็ก ขณะนี้มีเด็ก 2 แสนกว่าคนหลุดจากระบบการศึกษา  จุดยืนของพรรคก้าวไกล ย้ำว่าต้องถ้วนหน้า แต่จำนวนเท่าใดต้องถกเถียงกัน เงินจากแหล่งใดต้องนำเสนอในรายละเอียดต่อไป 

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่ออีกว่า การติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พรรคก้าวไกลจะใช้กลไกของกรรมาธิการติดตามนโยบายดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญว่า สส.จะแปรญัตติเพิ่มงบประมาณไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือ ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งงบประมาณเรื่องดังกล่าว ให้เป็นถ้วนหน้า และหากมีเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณ ขอให้กลไกของสภาฯ ชี้แจง และประเด็นสุดท้าย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าไม่ใช่การยื่นหมูยื่นแมว แต่เลือกว่าจะใช้หัวใจหรือสายตาในการตัดสิน ให้มองว่าเด็กเป็นพลเมืองโลกคนหนึ่ง

เพื่อไทย บอก จะรายงานนายกฯ ข้อเสนอสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

        ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์   รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย   ในรัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้มีการดำเนินการวางแผนงานเรื่องเด็กและผู้หญิง รวมถึงการดำเนินการแอพลิเคชั่น พรรคเพื่อไทย เรามองเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน ปัจจุบัน 1 family 1 soft power ที่จะผลักดัน ซึ่งจะเกี่ยวพันกับสวัสิดการเด็กเล็กถ้วนหน้า  ทำงานบนฐานข้อมูล  พรรคเพื่อไทยจะเน้นบูรณาการนโยบายต่าง ๆ และผลักดันครอบครัวให้มีรายได้ 20,000   บาทต่อเดือน เมื่อทุกครอบครัวเศรษฐกิจดี ก็จะมีเงินมาเสียภาษี  ล่าสุดนายกรัฐมนตรีอนุมัติเงิน 900   ล้านบาท เพื่อให้เด็กที่ตกหลานจากนโยบายสวัสดิการเด็ก ซึ่ง จะนำเรียนหัวหน้าพรรค 600 บาท อย่างน้อยถ้วนหน้า  พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่มีครอบครัวเป็นตัวตั้ง

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยอมรับ ยังไม่เห็นงบฯ สวัสดิการเด็กฯ        

  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง     หัวหน้าพรรคประชาชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นโยบายของพรรคประชาชาติ จะสนับสนุนนโยบายจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สนับสนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า การนำประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการจะโยงถึงการเป็นประเทศที่มีหลักนิติธรรม  วันนี้ยังไม่ได้เห็นงบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  แต่พยายามจะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น

แนวทางการกระจายอำนาจ ประเทศไทยอาจจะมีวิธีคิดหลายอย่าง แต่ที่คิดแล้วไม่เคยทำคือเรื่องการกระจายอำนาจ งบประมาณส่วนใหญ่จะอยู่ส่วนกลาง  ในขณะที่อินโดนีเซียใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เจริญแบบก้าวกระโดด เพราะมีการกระจายอำนาจ งบประมาณลงไปท้องที่ ประมาณ 14%  ในขณะที่ไทยมีอยู่ที่ 7%

         ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย รวมศูนย์อำนาจมากเกินไป และระบบราชการเป็นใหญ่ ประการที่ 3 ระบบการผูกขาดจำนวนมาก และการแก้เรื่องธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ผ่านนพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอีก 3 พรรคการเมือง คือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล ซึ่งคณะทำงานฯ ได้นำเสนอต่อทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

ในการนี้คณะทำงานฯ จึงมีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ขอให้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนเด็กถึงอายุ 6 ปี คนละ 3,000 บาท/เดือน

2. ขอให้มีมติคณะรัฐมนตรี ขยายสิทธิลาคลอด เป็น 180 วัน เพิ่มระยะให้แม่และพ่อได้เลี้ยงดูลูก    อย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน

3. ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีจำนวนมากพอ กระจายตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ให้ยืดหยุ่นเวลา เปิด – ปิด สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และวิถีชีวิตการทำงานพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

4. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้การสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรโดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยชุมชนและเอกชน ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนจัดตั้ง ให้สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรฐาน

5. สนับสนุนให้มีนโยบายการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจังแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดอำนาจหน้าที่ ในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ให้มีคุณภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ขอให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาข้อเรียกร้องของคณะทำงานฯ และมีนโยบายในการดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กทุกคนในสังคมไทย