กระทุ้งเปิดข้อมูลสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

สหภาพแรงงานรฟท. ยื่นหนังสือถึงนายก ให้เปิดเผยข้อมูลสัญญาร่วมทุนโครงการความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีบริษัทยื่นประมูล 31 ราย แต่เหลือผู้ยื่นซองประมูลเพียง 2 รายที่ได้รับคัดเลือก บนเงื่อนไข 12 ข้อ ย้ำทำรัฐเสียประโยชน์

วันที่21 มิถุนายน 2562 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ได้ยื่นหนังสือเรื่อง  “ขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสํานักงานปลัด สํานักนายกรัฐมนตรี ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ประชาชน สำงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล

นายภิญโญ เรือนเพ็ชร รองประธานฝ่ายวิชาการสร.รฟท. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศนโยบายเรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และต่อมาได้ออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ รวมถึงส่วนต่อขยาย และเห็นชอบให้ สกพอ.ร่วมกับ รฟท. ศึกษารูปแบบการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 โดยให้เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 ได้เปิดให้เอกชนร่วมประมูลโครงการซึ่งปรากฏว่า บริษัทที่ประสงค์ยื่นประมูลโครงการ 31 ราย และที่สุดจากการเจรจากันเองของเอกชนจึงเหลือผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย ซึ่งปรากฏว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเพราะยื่นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนเหนือคู่แข่ง และมีการเจรจาในเงื่อนไข 12 ข้อ ระหว่าง รฟท.กับ กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ในช่วงเวลานั้น สร.รฟท. ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเจรจาที่ขัดต่อหลักการและสาระสำคัญ อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์จนไม่อาจบรรลุข้อตกลงได้ ต่อมาเรื่องการเจรจาถูกนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบผลการคัดเลือก การเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักอัยการสูงสุด และมีมติส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีมติเห็นชอบโดยที่สาธารณชนไม่รับทราบว่าการเจรจาที่ติดขัดและมีปัญหายืดเยื้อกว่า 6 เดือนนั้นมีเงื่อนไขเป็นอย่างไร

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตจากภาคส่วนต่างๆ ที่ควรแก่การพิจารณา เช่น มูลค่าที่ดินมักกะสันกำหนดค่าตอบแทนให้แก่การรถไฟฯต่ำมาก จำนวน 150 ไร่ เพียง 52,000 ล้านบาท อายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี เมื่อเปรียบเทียบราคาในอนาคต รวมถึงเรื่องรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ที่จะถูกผนวกใน โครงการยกให้เอกชน โดยเอกชนจ่ายเงินให้แก่การรถไฟฯเพียงแค่ 11,000 ล้านบาทโดย การรถไฟฯยังคงรับภาระหนี้ต่อ 25,000 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูลจะได้ดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ระยอง จันทบุรี ตราด พ่วงต่อไปด้วย เป็นต้น ซึ่ง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้พยายามตั้งข้อสังเกตหลายครั้งผ่านการออกแถลงการณ์ จัดเวทีระดมความคิดเห็น และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสของโครงการ การมีส่วนร่วมของประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลย้ำเสมอต่อสาธารณะ แต่เมื่อมีการเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาที่จะลงนามร่วมกันให้สาธารณชน สื่อมวลชนได้รับทราบ ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล

ดังนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จึงขอยืนยันในเจตนารมณ์เดิม เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าโครงการสูงถึง 224,544 ล้านบาท และรัฐร่วมลงทุนถึง 140,000 ล้านบาท จึงสมควรที่จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ร่วมกันตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับรัฐ และเกิดผลกระทบต่อการรถไฟฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเหมือนกับความเสียหายจากโครงการโฮปเวลล์ โดยในขณะนี้มีปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ดิน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนโครงการโฮปเวลล์ในอดีต จึงขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยสาระสำคัญในร่างสัญญาที่จะลงนามกำหนดไว้เป็นอย่างไร เพื่อร่วมกันปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

นักสื่อสารแรงงาน สร.รฟท. รายงาน