9 ปีผ่านไปยังพบชุมชนไม่เคยรู้เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ด้านเครือข่ายสุขภาพเตรียมผลักดันเข้าสู่แผนสุขภาพชองชาติ พร้อมเสนอกลไกชุมชนในการดูแลเด็ก

คณะทำงานขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ยังพบบางหมู่บ้านในพื้นที่ ชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่องเงินอุดหนุนเด็ก ด้านเครือข่ายสุขภาพ เตรียมทำข้อมูลวิชาการผลักดันเข้าแผนสุขภาพแห่งชาติ ร่วมสร้างกลไกชุมชน รับจบทุกปัญหา

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่สอง ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของเครือข่ายเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ณ โรงแรม Gallery Lake view จังหวัดขอนแก่น โดยในวันนี้เป็นการเสวนาในหัวข้อ บทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจากภาคีเครือข่าย ต่อข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”
เรียนรู้ ถ่ายทอด ส่งต่อ ฟื้นฟูพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

เมธาวี นินนานนท์ ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า การเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เริ่มต้นมากจากการทำงานกับเด็กและเยาวชน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพบว่า การที่เด็กจะเติบโตอย่างดี ต้องมีเบ้าหลอมและการเลี้ยงดูอย่างดี และการทำงานกับเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กส่วนใหญ่อยู่กับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเลี้ยงดูแบบตามมีตามเกิด จึงไม่เพียงพอต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็กในปัจจุบัน รวมถึงเด็กในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท เพราะผู้ปกครองไม่รู้เรื่องนี้ โครงการฯ จึงได้ปรึกษาคณะทำงาน และเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดส่งต่อในพื้นที่ และเราประสบความสำเร็จเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ได้รับสวัสดิการ ไม่มีตกหล่น
ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น จังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่ออีกว่า การทำงานโครงการฯจะลงชุมชนติดตามอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่แม่ท้องจนคลอด ทำให้เด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ได้รับสวัสดิการ สร้างเครือข่ายทำความเข้าใจกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. ครูพี่เลี้ยงเด็ก ผู้ปกครอง เพื่อทำให้เด็กมีพัฒนาการ สุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้เงินอุดหนุนเด็กต้องไปถึงบัญชีของผู้ที่ดูแลเด็กจริง ๆ แม้เงินในส่วนนี้จะไม่มากนัก แต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ การได้ถ้วนหน้าจะทำให้การเลี้ยงดูเด็กดีขึ้น

สร้างกลไกให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถดูแลเด็กได้ด้วยตนเองแบบครบวงจรในพื้นที่

ด้านศักดิ์ชัย ไชยเนตร มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ คณะทำงานส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย กล่าวถึงว่า มูลนิธิฯเป็นหน่วยงานที่ทำงานกับเด็กอยู่แล้ว โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ขณะนี้ขยายไป 4 จังหวัด 5 ตำบล ทั้งนี้ จากการทำงานลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ จะพบปัญหาเด็กที่เกิดกับแม่วัยใส เด็กที่อยู่กับผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงอายุ สิ่งที่เราทำคือการสร้างความร่วมมือ และบูรณาการเครื่องมือในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับเด็กและครอบครัว ครอบครัวที่เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ความยากจน หนี้สิน ซึ่งการดูแลนี้โยงไปถึงสวัสดิการที่จะได้รับ ที่เรียกร้องให้ถ้วนหน้าและเพิ่มเป็น 3,000 บาท ทำให้เกิดปัญหากับพัฒนาการของเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังพบปัญหาครอบครัวใช้ความรุนแรง พ่อแม่ติดยาเสพติด ความเชื่อที่ผิดทำให้เด็กเกิดปัญหา ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เด็กออทิสติก พัฒนาการล่าช้าจากการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม

สำหรับการทำงานนั้น ศักดิ์ชัย จากมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ บอกว่า มูลนิธิฯ ใช้วิธีการทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาและมีประสบการณ์ เข้าใจปัญหา และสร้างกลไกให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถดูแลเด็กได้ด้วยตนเองแบบครบวงจรในพื้นที่ รวมถึงเลือกกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ พี่เลี้ยง โค้ชในชุมชน ทีมพี่เลี้ยง ทีมกลไก 20 คน ประกอบด้วย อสม. อบต. และที่สำคัญนักวิชาการที่มาช่วยแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก
“บริบทการทำงานของมูลนิธิฯ คือการขยายพื้นที่ไปจังหวัดต่างๆ สร้างกลไกเพื่อเสริมการทำงานในพื้นที่ ให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น สร้างโค้ชชิ่งทำงานใกล้ชิดกับครอบครัวผู้ปกครอง และส่งเสริมให้มีการสร้างระบบนิเวศของเด็กและชุมชน”

เสนอกลไก คขป. จับมืออปท. จัดทำแผนสุขภาพผลักดันให้เป็นนโนบายระดับประเทศ 
ในขณะที่  วิรัช มั่นในบุญธรรม    รองประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน หรือ คขป. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยใช้กลไก คขป. เชื่อมร้อยองค์กรภาคส่วนต่าง ๆและทำงานร่วมกัน 12 เขต ทั่วประเทศ ยึดเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนปัญหาในพื้นที่ยกเป็นนโยบายสาธารณะ

วิรัช กล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจ มติสมัชชาชาติครั้งที่ 16 ได้มีมติเรื่อง การเกิด โตอย่างมีคุณภาพ เน้นให้เด็กโตอย่างมีคุณภาพภายใน 2500  วัน เนื่องจากสังคมประเทศไทยใกล้จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานลดลง แนวโน้มการเกิดของเด็กลดลงเรื่อยๆ คขป.จึงขับเคลื่อนเรื่องเด็กเกิดและโตอย่างมีคุณภาพ      
    “ ขณะนี้มีเรื่องกระจายอำนาจทั่วประเทศ ที่เทศบาล อบจ. จะมีงบประมาณที่น่าจะนำมาใช้ได้ และยังมีกองทุนสุขภาพ โดยผ่าน อบต.  เข้าในหมวดกองทุนศึกษาปัญหาในพื้นที่ โดยเรื่องเหล่านี้จะต้องบรรจุในแผนสุขภาพพื้นที่ เวลาทำประชาคมต้องไปเข้าร่วมเพื่อจะได้ร่วมในการเขียนแผน”

ย้ำประชาชนในอนาคต เลือก อบจ.ที่มีนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
ด้าน มยุรี อัครบาล นักข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ภาคอีสาน กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอสเริ่มตั้งขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 อาจจะเป็นสื่อแรกๆ ที่เผยแพร่เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสื่อมวลชนเผยแพร่ประเด็นฯ นี้ แต่เงินสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท ยังมีเด็กตกหล่น ทำไมเด็กถึงไม่ได้แบบถ้วนหน้า

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังให้ความสนใจเด็กชายขอบที่ตกหล่น รวมทั้งกฎ ระเบียบของรัฐ ที่ริดรอนสิทธิเด็กทำให้เด็กตกหล่น รวมถึงการจ่ายเงินไม่ถึงเด็ก เช่นให้พ่อแม่ที่ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงดูแต่ได้เงิน ในขณะที่ ปู่ย่าตายายผู้เลี้ยงดู แต่ไม่ได้เงิน หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ไม่ทราบเรื่องนี้ ทำให้สิทธินี้ตกหล่นไม่ได้รับ
“ ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสเคยลงพื้นที่ไปทำสกู๊ป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ไปสู่นโยบาย ในครั้งนั้น อบจ.มุกดาหารลงไปดูแลว่ายังมีเด็กตกหล่นเท่าไหร่ และดำเนินการให้เด็กได้รับสิทธิ”
อย่างไรก็ตาม อีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า จะมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ขอให้ประชาชนเลือก อบจ.ที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายนี้ด้วย
ฝากรัฐบาลนำเงินอนาคตสร้างรัฐสวัสดิการให้เด็กไทย

อริสรา แตงกระโทก ตัวแทนคนรุ่นใหม่ อดีตคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบอร์ด กดยช. ได้มีส่วนขับเคลื่อนให้ประเด็นนี้เงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งบอร์ด กดยช.มีเพียงตัวแทนเด็กจากทั่วประเทศเพียง 3 คน ที่จะไปนำเสนอประเด็นของเด็กร่วมกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก อนาคตอยากให้เด็กและเยาวชน มีอัตราส่วนในบอร์ดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ อริสรา ยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐคิดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ รัฐควรจะนำเงินในอนาคตมาสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กแบบถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยไม่ควรจะมีการคัดกรองเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม มีเครือข่ายฯ จากดงมะไฟ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า เพิ่งรับรู้ว่าเงินสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท นี้ ให้กับเด็กทั่วประเทศ เพราะในพื้นที่บ้านของตนเองนั้น ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเรื่องนี้ให้รับรู้เลย และรับรู้จากการที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ ในพื้นที่จึงยังมีเด็กตกหล่นกันทั้งตำบล ดังนั้นจึงขอฝากคณะทำงานฯ ว่ายังมีชาวบ้านที่ไม่รับรู้ และยังมีเด็กที่ไม่ได้รับเงิน
นอกจากนี้ ผู้แทนจากเครือข่ายฯ ยังได้นำเสนอให้มีการทบทวน แก้ไข กฎ ระเบียบของรัฐบาล ที่เป็นการริดรอนสิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับเงินโดยตรง และขอให้โอนเงินไปสู่บัญชีที่เป็นผู้ดูแลเด็กโดยตรง เพื่อเงินสวัสดิการนี้จะไปสู่เด็กโดยตรง ไม่ตกหล่น
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอให้สร้างชุมชนที่มีศักยภาพในการดูแลเด็ก โดยให้ผู้ปกครองที่พอมีกำลัง ได้มีส่วสนร่วมในการออกแบบดูแลเด็ก อยู่ร่วม อยู่รอด อย่างมีความหมาย และขอให้เยาวชน เด็กรุ่นใหม่ได้มีส่วนในการจัดทำสื่อ ตามความถนัดเพื่อร่วมเผยแพร่นโยบายนี้ให้ทุกคน ในทุกพื้นที่ได้รับรู้กันอย่างทั่วถึง