แรงงานโรงแรมและบริการ-มัคคุเทศก์ กระทบหนักเสนอแผนเยียวยา-รักษางาน และส่งเสริมไทยเที่ยวไทย

ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมฯ ร่วมกับมัคคุเทศ ยื่นข้อเสนอกระทรวงแรงงานให้เยียวยาเพื่อรักษางาน พร้อมส่งเสริมไทยเที่ยวไทย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกระทบหนัก

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด นำโดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต ได้เข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล เพื่อยื่นข้อเสนอ และร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานภาคบริการ ซึ่งนางสาวอำพันธ์ ธุรวิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มาร่วมรับฟังข้อเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนั้น

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์ธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต ได้ยื่น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อกระทรวงแรงงานเรื่อง การฟื้นฟูแรงงานภาคการท่องเที่ยว ดังนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง สร้างรายได้คิดเป็น 22% ของ GDP ประเทศ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ มีการจ้างงานประมาณ 6 ล้านคน แรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีหลายกลุ่ม โดยกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ แรงงานในกิจการโรงแรมและกิจการการขนส่ง แรงงานแทบทั้งหมดต้องหยุดงานตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด ปัจจุบัน แม้สถานการณ์จะดีขึ้นมาก แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวยังเปิดบริการเพียงบางส่วน แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้กลับมาทำงาน ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาระยะแรกก็สิ้นสุดลงแล้ว จึงกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ

ผู้ใช้แรงงานภาคการท่องเที่ยวในกิจการโรงแรม การขนส่งทางอากาศและมัคคุเทศก์ ได้ปรึกษาหารือกันถึงปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า และมีข้อเสนอเพื่อปรึกษาหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาการขาดรายได้และไม่มีเงินเลี้ยงชีพ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือกรณีประกันว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 62% เป็นเวลา 3 เดือน ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้กลับเข้าทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โดยไม่มีความชัดเจนจากนายจ้างว่าจะจ้างงานต่อหรือไม่

            ข้อเสนอ ให้ขยายเวลาการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างและรักษาการจ้างงานโดยมีเงื่อนไข กล่าวคือ จัดให้มีคณะกรรมการทำการตรวจสอบกลั่นกรองศักยภาพทางการเงินของสถานประกอบการ และกำหนดแนวปฏิบัติต่อลูกจ้างตามศักยภาพทางการเงิน ดังนี้

            (1.) กรณีสถานประกอบการที่ยังมีศักยภาพและจะดำเนินธุรกิจต่อ แต่ยังไม่ได้เปิดบริการตอนนี้ ต้องจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

            (2.) กรณีสถานประกอบการที่จะลดขนาดกิจการหรือปิดกิจการ ต้องการเลิกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมด ต้องจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

(3.) กรณีสถานประกอบการที่ประสงค์จะดำเนินกิจการต่อแต่มีปัญหาทางการเงิน ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือโดยขยายเวลาการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างหรือสมทบการจ่ายค่าจ้าง เป็นเวลา ….. เดือน โดยใช้งบประมาณจากกระทรวงการคลัง และต้องกำหนดเงื่อนไขว่านายจ้างต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้างภายในเวลา ….  ปี

  1. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวนมากโดยอ้างเหตุจากโควิด เช่น การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ การไม่จ่ายค่าจ้าง/ค่าชดเชยตามกฎหมาย การบังคับให้เซ็นเอกสารลาออก/ลดสวัสดิการ เหล่านี้ทางฝ่ายลูกจ้างอยู่ในภาวะจำยอม และไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย

ข้อเสนอ ขอปรึกษาหารือว่า ทำอย่างไรจึงจะบังคับใช้กฎหมายได้โดยไม่เป็นภาระต่อลูกจ้าง

  1. 1. ปัญหาการว่างงาน

            ข้อเสนอ

            1) พัฒนาฝีมือแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ การขายของออนไลน์ ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาบทบาทเชิงรุกของหน่วยงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น การประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้กว้างขวาง จัดบริการที่เข้าถึงได้ง่ายและอุดหนุนด้านการเงิน

            2) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ไทยเที่ยวไทย”

            3) พัฒนาระบบการจัดหางาน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย

4) พัฒนาระบบการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการหางานใหม่โดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา

5) สินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย สำหรับคนที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำมาลงทุนทำธุรกิจขนาดเล็กโดยช่วยประสานนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

  1. ปัญหาหนี้สินค้างชำระ จากการซื้อ รถ บ้าน ฯลฯ

ข้อเสนอ ขยายเวลาการพักชำระหนี้ อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2563  โดยช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน