สหภาพแรงงาน ชวนมองหลังโควิด-19 การจ้างงานแบบใหม่ ซ้ำเติมลูกจ้าง

สหภาพแรงงาน ชวนมองการจ้างงานแบบใหม่หลังโควิด-19 ทำให้ขาดความมั่นคง และไร้การคุ้มครองคนทำงาน พร้อมเสนอรัฐควรปรับมาตรการกฎหมายให้เท่าทัน ต้องฟื้นฟูอาชีพ พัฒนาทักษะเพื่อเสริมอาชีพสำรอง และส่งเสริมการออม

นางสาวศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง เลขาธิการสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้สัมภาษณ์กับ ภาคีสังคมแรงงานสู้โควิด ถึงสถานการณ์แรงงานหลังโควิด-19 ความพร้อมเพื่อการฟื้นฟู เพื่อความมั่นคงของชีวิต

คำถาม :  มีข้อกังวลห่วงใยอะไรบ้างกับการเลิกจ้างว่างงานหลังสถานการณ์โควิด

คำตอบ : ในฐานะที่เป็นกรรมการสหภาพยังมีข้อกังวลอยู่ แรงงานมีการเตรียมพร้อม โดย ต้องแยกเป็น 2 สถานะ สถานะของกลุ่มลูกจ้างที่เปราะบางอาจจะเป็นพนักงานเหมาค่าแรง เป็นพนักงานสัญญาจ้าง แน่นอนมันเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะมาตรฐานการจ้างงานที่มันต่ำ และอำนาจการต่อรองก็ไม่มี ฉะนั้น เมื่อเกิดวิกฤตคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบตามที่ได้เห็นตามหน้าสื่อต่างๆ หรือว่า แต่ในส่วนของลูกจ้างประจำเรามีค่าจ้าง มีสวัสดิการ มีโบนัสตามสถานประกอบการ ที่ก่อนหน้านั้นมันดีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่วางแผนเลย เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันได้รับผลกระทบต่อตัวลูกจ้างแน่นอน

ความกังวลใจที่จะเกิดกับสถานการณ์ก็คือว่า จะมีการปรับลดขนาดองค์กรลงอย่างแน่นอน เพราะว่าบริษัทขนาดใหญ่ยังไงก็ต้องมีการลดขนาดของกิจการลง การจ้างงานต้องลดลง และเลือกในส่วนของงานที่มันจำเป็นต้องใช้กำลังแรงงาน คือ คนที่อยู่ในส่วนของงานผลิต ฝ่ายผลิตมันก็ต้องลดลงตามไปด้วย และคนที่ทำงานด้านงานซับพอตต่างๆพวกงานบริหาร งานบัญชี งานจัดซื้อ อนาคตเขาอาจจะไม่ต้องมาทำงานที่บริษัท เป็นการ work from home ก็ได้ ความมั่นคงในการจ้างงานความคุ้มครองในการทำงานของเขาก็จะหายไป ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน เจ็บป่วยแล้วแรงงานทำงานอยู่บ้านถือว่า เป็นการเจ็บป่วยด้วยไหม เป็นความคุ้มครองของนายจ้างที่ต้องดูแลระหว่างที่แรงงานทำงานที่บ้านด้วยหรือไม่ คือ สถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป การจ้างงานมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆแต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานมันยังเหมือนเดิม มันยังไม่ได้มีการแก้ไขอะไรที่มารองรับการจ้างงานเป็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะเป็นรายเดือน เป็นรายวัน เป็นรายชั่วโมง เป็นสัญญาจ้างชั่วคราว

ฉะนั้น เมื่อกฎหมายไม่ได้คุ้มครองแล้ว จะทำยังไงนี่ก็คือปัญหาเหมือนกันในมิติในส่วนของคนที่ทำงานด้านแรงงาน และกลุ่มที่เป็นพนักงานประจำตอนนี้ก็เริ่มมีการปลดออก เลิกจ้าง หรือให้ออกเองในลักษณะที่ว่า กลุ่มคนที่ขาด ลา มาสายบ่อย กลุ่มคนที่เจ็บป่วยบ่อย กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่เป็นภาระ เป็นต้นทุนของบริษัท คงจะมีมาตรการในการที่จะคัดกรองในกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากวิกฤตโควิดคนกลุ่มนี้จะถูกปลดออกหรือเลิกจ้างมากขึ้น การคืนตัวเหมาค่าแรงไปยังบริษัทซับคอนแทรค เพราะออร์เดอร์ที่ลดลงทำให้กำลังแรงงานล้นเกินความต้องการนี่คือปัญหา บางแห่งอาจจะดีหน่อยจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเหมาค่าแรง เพื่อให้เขามีทุนที่จะไปดำรงชีวิต หรือหางานใหม่ หรือหางานประเภทอื่นๆ เพราะว่า นายจ้างยังมีคุณธรรมอยู่บ้าง แต่นายจ้างอาจจะไม่มีคุณธรรม หรือสถานะของบริษัทมันแย่จริงๆ เขาอาจจะเลือกที่จะคืนตัวคนงานเหมาค่าแรงไปยังบริษัทต้นสังกัด และอาจไม่มีงานให้ทำ ลูกจ้างอยู่ไม่ได้และต้องลาออกไปในที่สุด นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นและความกังวลใจไม่ว่า จะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหญิง หรือชาย แน่นอนว่า มันต้องเกิดปัญหาอันนี้ เมื่อหลังจากที่วิกฤตโควิดจะเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

คำถาม :ในเรื่องดังกล่าวความร่วมมือ ภาคแรงงาน ภาคสังคม หรือว่าในส่วนของภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิดความร่วมมือตรงนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง

คำตอบ : ในส่วนของภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิดเห็นด้วยที่มาทำกลุ่มนี้ขึ้นร่วมกัน เพื่อที่จะได้มีการส่งต่อ และแชร์ข้อมูลในกลุ่มแรงงานต่างๆ ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่ว่าได้มีการพูดคุยหรือหามาตรการจะได้มาแชร์ข้อมูลส่งต่อปัญหาได้เร็วขึ้น อาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องไม่ได้ถูกสะท้อนออกไปในภาพสื่อหลัก กลุ่มNGOs, หรือกลุ่มมูลนิธิต่างๆที่อาจจะรับทราบปัญหา การที่เราได้มีโอกาสสะท้อนแลกเปลี่ยนในสื่อออนไลน์ก็จะได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบที่อาจจะเข้าไม่ถึงสิทธิในหลายๆเรื่อง

ในกลุ่มนี้เองก็จะมีทั้งนักวิชาการ แล้วก็อุตสาหกรรมหลายๆอุตสาหกรรม ตัวแทนไม่ว่า จะเป็นระดับประธาน รองประธานเลขาของกลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้า กลุ่มสิ่งทอโลหะหรือว่า อุตสาหกรรมที่มีในประเทศไทย ได้มาร่วมแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพราะว่าสิ่งที่นำเสนอไปมันเป็นความจำเป็นของแรงงานจริงๆที่จะต้องได้รับการดูเยียวยาช่วยเหลือในสถานการณ์ของโควิด แน่นอนว่าเศรษฐกิจมันไม่มีทางที่จะเติบโตไปได้หรือขับเคลื่อนไปได้ ถ้ากลุ่มกำลังแรงงานยังไม่มีงานทำ ยังไม่มีรายได้จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะกู้เงินมาฟื้นฟูก็ตามแต่ถ้าคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักในระบบที่มี 12 ล้านคน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และกลุ่มคนงานนอกระบบ 20 กว่าล้านคน ถ้าไม่มีงานทำแน่นอนว่าเศรษฐกิจมันไม่มีทางที่จะขับเคลื่อน ธุรกิจก็ต้องเจ๊งแน่นอนถ้าเป็นแบบนี้ถ้าเกิดเราฟื้นฟูไม่ถูกจุด

คำถาม : คิดว่าในแผนฟื้นฟูที่รัฐพยายามนำเสนอ เรามีข้อเสนออะไรต่อรัฐบ้าง

คำตอบ : ในข้อเสนอต่อรัฐเห็นหลายๆคน มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แล้ว ตอนนี้ถ้ามองแยกเป็นปัญหาจำเป็นเร่งด่วนก่อนว่า ในกรณีที่มีการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย เมื่อลูกจ้างไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน เพื่อไปขอใช้สิทธิในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รัฐควรจะมีมาตรการในการออกคำสั่งที่มันรวดเร็ว เพื่อให้ลูกจ้างได้เงินส่วนนี้ เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตต่อได้ระหว่างนี้ และทางกระทรวงฯไปเรียกปรับเอากับนายจ้าง ไปตามสืบเอาว่า เป็นยังไงบ้าง ควรมีมาตรการที่ไม่ควรเกิน 7 วัน ลูกจ้างควรจะได้รับเงินสงเคราะห์ลูกจ้างตามสัดส่วน เพราะคนกลุ่มนี้บางคนก็เป็นแรงงานในระบบที่ประกันสังคมมาตรา 33 ที่เขาไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเลย 5,000 บาทด้วย

ช่วงนี้ยังมาให้ไปทำงานบ้าง ไม่ให้ไปทำงานบ้าง ไหนจะไปตีในเรื่องเหตุสุดวิสัยอีกกว่าจะได้ 62% พอดีข้าวสารก็ไม่มีกรอกหม้อนี่คือปัญหา ภาครัฐต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น นี่เป็นสิ่งเร่งด่วน ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มโทษด้วยในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายด้วย ไม่ใช่เป็นเสือกระดาษเขียนไว้แต่ไม่เคยมีนายจ้างคนไหนถูกดำเนินคดี นั่นคือประเด็นที่ว่าเขาก็ยังใช้อำนาจของเขาในทางที่ไม่ชอบและใช้สิทธิของเขาในการไปละเมิดสิทธิของลูกจ้างทั้งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

เรื่องแผนงานในอนาคต สิ่งที่มันจำเป็นจะต้องมี คืออาชีพให้กับคนงานมากกว่า 1 อาชีพ คือเดินเข้าไปในโรงงานทำงานประจำ ควรมีโอกาสให้เขาได้ไปฝึกอบรมพัฒนาตัวเองในเรื่องของอาชีพทางเลือก หรือเขาอยากต่อยอดในสายงานที่เขาทำเขาควรจะได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างแล้วก็ภาครัฐ และเรื่องที่สองคือ เรื่องการวางแผนการเงิน จำเป็นต้องมีเพราะทุกคนไม่เคยพูดเรื่องนี้เลยพอเราตกงานถามพรุ่งนี้จะกินอะไร แสดงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยคิดวางแผนเมื่อได้เงินมาควรจะต้องออมส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรอง หรือบริษัทจะต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกรณีบริษัทไม่มีกองทุนเลี้ยงชีพภาครัฐก็ต้องออกมาตรการให้ต้องจัดให้มี เพื่อเป็นแหล่งเงินออมของลูกจ้าง เข้าใจว่ากินค่าแรงขั้นต่ำรายวัน แต่ต้องเข้าใจว่าถ้าไม่เก็บไม่ออมถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้าเราก็ต้องมาพูดว่าไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลอีก และควรวางหลักสูตรตั้งแต่สถาบันการศึกษาในโรงเรียนเรื่องการออมเงิน การวางแผนรองรับการเกษียณอายุด้วย เมื่อมาทำงานก็ควรจะให้นายจ้างมีการบรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับพนักงานด้วย เพื่อเขาจะได้มีการวางแผนชีวิตตัวเองได้ถูกต้อง และไม่ประมาทในการใช้ชีวิตระหว่างที่เขายังมีงานทำอยู่