วาระเพื่อการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด
Better New Deal
ข้อตกลงใหม่ที่ดีกว่าเดิมสำหรับแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
“โรคโควิด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานทั้งเล็กทั้งใหญ่ จำนวนมากต้องหยุดการผลิต เพราะไม่มีออเดอร์จากองค์กรและตลาดขายส่ง เพราะตลาดขายปลีกเองก็ขายได้น้อยลง เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ของเราก็เหมือนกัน ในช่วงปิดเมือง โรงงานสมานฉันท์ก็หยุดงาน พอเปิดทำงานใหม่ ออเดอร์มีน้อยมาก คนทำงานก็มีรายได้ไม่พอกิน ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปต่อกันยังไงดี” มานพ แก้วผกา ตัวแทนโรงงานสมานฉันท์ เล่าไว้ในวงเสวนาเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2563
โรงงานสมานฉันท์ คือ กลุ่มคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ถูกเลิกจ้างช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วมารวมกลุ่มกันจัดตั้งกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าของตนเอง ผ่านอุปสรรคมากมายมากว่าสิบปี จนพอจะเลี้ยงตนเองได้ มีสมาชิก 30 คน แต่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้คนงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่
โรงงานสมานฉันท์เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของแรงงานนอกระบบในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 21 ล้านคน และจำนวนมากยังเดือดร้อนจนถึงปัจจุบัน
Marty Chen นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาคเศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลก จาก Harvard Kennedy School และองค์กร WEIGO กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิดคราวนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนจนที่หาเช้ากินค่ำ คนจนกลุ่มนี้เป็นฐานของปิรามิดระบบเศรษฐกิจ และเป็นคนที่ผลิตสินค้าและบริการพื้นฐานสำหรับคนทั้งสังคม เช่น บริการด้านสุขภาพ อาหาร การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ การขนส่ง และสุขอนามัย ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติครั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญและเริ่มต้นที่ฐานของปิรามิด ไม่ใช่ยอดของปิรามิด โดยได้เสนอวาระเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ข้อตกลงใหม่ที่ดีกว่าเดิม (Better New Deal) ซึ่งมีหลักการว่าต้อง
- ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กล่าวคือ นโยบายการเยียวยา ฟื้นฟูและปฏิรูปหลังโควิด ต้องมุ่งที่บุคคล/ครอบครัว/ชุมชนที่ยากจนที่สุดและเสียเปรียบที่สุดก่อน รวมทั้งคนทำงานที่ยากจนและไม่สามารถทำมาหากินได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
- ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก กล่าวคือ องค์กรปกครองท้องถิ่นและตำรวจไม่ควรใช้มาตรการแบบเดิม ที่ใช้ลงโทษคนทำงานที่ยากจน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เช่น การทำลายพื้นที่ทำมาหากิน หรือที่อยู่อาศัย หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยอ้างเหตุเรื่องสุขอนามัย
- ไม่อ้างว่าทำสิ่งใดเพื่อแรงงานนอกระบบ โดยขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ เพราะแรงงาน โดยเฉพาะที่รวมกลุ่มกันเป็นองค์กร คือผู้ที่ทราบปัญหาและความต้องการของตนดีที่สุด
- เปลี่ยนวิสัยทัศน์การพัฒนา สังคมจำเป็นต้องมีโมเดลใหม่ของงานและการผลิตที่มีความเสมอภาคและกระจายความมั่งคั่ง นั่นคือ ต้องยอมรับและเห็นคุณค่าของงานทุกประเภท และต้องเริ่มเปลี่ยนไปสู่โมเดลใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ โดยการทำแผนฟื้นฟูที่เริ่มจากฐานของปิรามิดทางเศรษฐกิจ
ในกรณีของประเทศไทย รัฐให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบในระดับหนึ่ง กล่าวคือ แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา แต่เมื่อมาตรการนี้จบลง แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังกลับมาสู่วิถีการทำมาหากินในสถานการณ์หลังโควิดไม่ได้ การปรับตัวมาประกอบอาชีพในสถานการณ์ใหม่ต้องใช้ต้นทุน แต่แรงงานนอกระบบมีต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำ เพราะขาดเงินออม ขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป
แรงงานนอกระบบในประเทศไทยเข้าใจข้อจำกัดของตนเองดี จึงได้รวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์แรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทยหลายปีแล้ว และได้ร่วมกันเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตนเองมาโดยตลอด ในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทางสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายด้านวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี ข้อเสนอที่สำคัญได้แก่ การประกันการมีงานทำ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดสรรโควตางานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้แก่แรงงานนอกระบบ การคืนพื้นที่ค้าขายให้แก่หาบเร่แผงลอยและผู้ประกอบการค้ารายย่อย และการอุดหนุนค่าจ้างแก่กิจการรายย่อยเพื่อป้องกันการเลิกจ้างแรงงาน ข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แรงงานนอกระบบและครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ได้ และที่สำคัญจะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสังคมทุกภาคส่วน
ทางสมาพัน์ฯ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจะจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบาย – แรงงานนอกระบบและการท่องเที่ยว วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00-16.00 น.
ผู้สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดได้ทางเฟสบุ๊ค voicelabour
*******มหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ยอมรับว่า เสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองเป็นการปฏิวัติเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งที่เหลือคือ เสรีภาพและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ*******