ผู้นำแรงงาน ห่วงตกงานหางานไม่ได้ เสนอรัฐฟื้นฟูการจ้างงานเพื่อความมั่นคง

สาวิทย์ชี้ การช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย คนที่มีอาชีพไม่มั่นคง คนตกงาน ว่างงาน น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ ควรเป็นประเด็นหลัก ให้รีบฟื้นฟูอาชีพใหม่เพื่อสร้างงานที่มั่นคง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ให้สัมภาษณ์กับภาคีสังคมแรงงานสู้โควิด ต่อประเด็นสถานการณ์แรงงาน ผลกระทบ และการฟื้นฟูแรงงานหลังโควิด-19 ในฟื้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

คำถาม : ข้อเสนอ ข้อกังวล ข้อห่วงใยที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างและการว่างงานหลังสถานการณ์โควิด

คำตอบ : เรื่องของภาวะการตกงานว่างงานในสถานการณ์โควิดก็เป็นเรื่องที่มีความวิตกกันมาก ความจริงมันมีการจัดระบบก่อนหน้านี้แล้วคือฝ่ายนายจ้างเอาระบบเอไอเข้ามา เอาระบบออโตเมชั่นเข้ามามีการปลดคนงานเลิกจ้างคนงานไประดับหนึ่งแล้ว ทีนี้มาเจอสถานการณ์โควิดสถานการณ์ก็ยิ่งยากลำบากไปกันใหญ่ ซึ่งก็เป็นการรับรู้ทั่วกันไม่ว่าสถานการณ์ไทยสถานการณ์โลกก็มีการวิเคราะห์กันเกือบทุกสำนักว่าจะมีตกงาน ว่างงานมหาศาลในประเทศไทยก็คิดว่าหนีไม่พ้นประเด็นเหล่านี้ก็คงไม่แตกต่างกัน

คำถาม : อันนั้นเป็นสถานการณ์แต่ข้อที่เราเป็นห่วงเป็นใย

คำตอบ : เป็นห่วงก็คือว่าในสถานการณ์ขณะนี้ที่เป็นห่วงตำแหน่งที่มันพักซึ่งขณะนี้แต่ละที่ก็ไม่มีสถานชัดเจนบางแห่งก็ปิดกิจการแล้ว บางแห่งปิดกิจการชั่วคราวและบางแห่งก็ยังไม่ชัดเจน สิ่งที่คิดว่า จะเกิดขึ้น แน่นอนที่สุดคนจำนวนหนึ่งจะปรับเข้าสู่ตำแหน่งงานเดิมไม่ได้ จากสถานการณ์ขณะที่พยายามจัดระบบแล้ว จำนวนหนึ่งก็ไม่น้อยเหมือนกันจะไม่มีงานทำตำแหน่งงานไม่สามารถรองรับได้ก็จะหลุดออกไป ประเด็นก็คือว่า คนเหล่านี้จะไปทำอะไรกลับไปชนบททำไร่ไถนาแบบเดิมเหมือนวิกฤตปี 40 อันนี้มันเป็นไปไม่ได้แล้วเมื่อ 20 ปี ที่แล้วกับวันนี้มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว

ดังนั้นจะมีภาวะการว่างงานเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ของการสนับสนุนทางภาครัฐก็ยังมีข้อจำกัดมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยาตามนโยบายของรัฐบาล 5,000 บาท เราไม่ทิ้งก็แค่เดือนมิถุนายน 2563แม้กระทั่งเรื่องประกันสังคมที่พยายามเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ กติกา แต่ว่าเอาเข้าจริง ขณะนี้มีคนจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม สิ่งที่เป็นความห่วงใยของพวกเราก็คือว่า คนงานจะมีชีวิตอยู่ยังไงซึ่งคิดว่า ไม่ใช่ตัวคนงานเพียงอย่างเดียวคนที่พ่วงอยู่ข้างหลังไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ รวมทั้งเรื่องของการดำเนินชีวิต การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัยแม้กระทั่งการประกอบอาชีพที่ตกงาน ว่างงานไม่มีงานทำรายได้ยังชีพไม่มีที่จะประกอบธุรกิจใหม่ ในขณะที่คนตกงาน ว่างงานจำนวมากทุกตนพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด อาจจะมีการค้าขายอะไรต่างๆเกิดขึ้นแต่ว่าคนขายมากกว่าคนซื้อมันจะอยู่กันอย่างสไร สิ่งนี้ที่เป็นห่วงเป็นใยคิดว่าต้องหาแนวทางร่วมกันว่าแก้ไขปัญหายังไง

คำถาม : อยากให้พูดถึงความพยายามของหลายๆฝ่ายที่มาร่วมมือกันเพื่อที่จะหาทางช่วยเหลือในส่วนของสถานการณ์ที่เราเรียกว่าภาคีสังคมแรงงาน ซึ่งมีนักวิชาการ มีแรงงานซึ่งคุณสาวิทย์ก็มีส่วนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยคิดว่ามันจะมีส่วนที่จะช่วยให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้อย่างไร

คำตอบ : อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ความจริงในแต่ละเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นสภาแรงงาน ภาคเอกชนหรือกลุ่มที่ขับเคลื่อนด้านแรงงานก็พยายามที่จะหาแนวทางที่จะสะท้อนปัญหาไปสู่รัฐบาล ซึ่งก็มีจังหวะก้าวในแต่ละส่วนก็แตกต่างกันออกไป บางส่วนก็ข้อเสนอก็เหมือนกันบางส่วนก็ยังแตกต่างกัน เช่น เรื่องของประกันสังคมที่จะต้องจ่ายตามมาตรฐานของมาตรา 75 ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปว่า ด้านหนึ่งก็เป็นมุมมองที่รับฟังได้บางภาคส่วน คิดว่า ข้อเสนอทั้งหมดมันอาจจะต้องมีความเป็นเอกภาพระดับหนึ่งในการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ข้อเรียกร้องเหล่านั้นมีพลัง

แต่ว่า มันจะได้มากน้อยแค่ไหนอันนี้อาจจะต้องคุยกันหรือถ้ามันไม่สามารถจะมานั่งเวทีคุยกันได้ก็อาจจะ เช่น ภาคีสังคมแรงงานฯนี้ก็ได้ หรือใครก็ได้เตรียมข้อเสนอที่มันรับกันได้ ก่อนนำเสนอก็มาพูดคุยกันนิดหนึ่ง ผ่านขบวนการอะไรก็แล้วแต่ แล้วนำเสนออย่างเป็นขบวนการและขับเคลื่อนให้มีพลัง เป็นเอกภาพในข้อเรียกร้อง ในประเด็นที่เห็นว่า มันตกผลึกแล้วซึ่งข้อเรียกร้องอาจจะเสนอต่อรัฐบาลไม่จำเป็นต้องครั้งเดียวก็ได้ สิ่งไหนที่ตรงกันแล้วก็เสนอไป และก็พร้อมขับเคลื่อนในการที่หาแรงงานสนับสนุนจากมวลชนจากพื้นที่ต่างๆ แม้กระทั่งภาควิชาการ หรือสื่อมวลชนเองก็ดี ซึ่งก็ได้รับผลกระทบแบบนี้ก็ช่วยกันผลักดันในประเด็นที่มันตรงกันแล้ว ส่วนประเด็นไหนที่มันต่างกันก็คุยกันได้ข้อสรุปและก็ยอมรับร่วมกันในประเด็นนั้นคืออะไร แล้วก็ขับเคลื่อนยื่นเสนอไปด้วยกัน ซึ่งมันอาจจะไม่จำเป็นในครั้งเดียว แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าเร่งด่วนที่ คิดว่า มันสมควร และจำเป็นเสนอกันไปอย่างเป็นเอกภาพ คิดว่า ในส่วนหลายเวทีที่มีการรวบรวมกันแม้กระทั่งภาคีที่คุยกันอยู่ในขณะนี้ก็มีข้อเสนอบางส่วนแล้ว เช่น ข้อเสนอตัวหนึ่งที่คิดว่าตรงกันแต่ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทำก็คือเรื่องของที่เสนอให้มีกลไกพิเศษขึ้นมาในการที่จะเข้าไปร่วมกันตรวจสอบ กรณีนายจ้างปิดกิจการจริงไหมและก็ปรับให้คนงานไปรับจากสถานการณ์เรื่องของเหตุสุดวิสัยเหล่านี้เป็นต้น

ซึ่งก็มีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่เดือดร้อนจริงและก็มีบางส่วนไม่เดือดร้อนจริงอาศัยสถานการณ์เหล่านี้เป็นต้น เพื่อที่จะให้มันเกิดความยุติธรรมที่สุดให้กับตัวคนงานเอง และให้ผู้ประกอบการเอง ไม่ใช่ว่าใช้สถานการณ์โควิดแล้วก็ทำให้ตัวเองหลุดพ้น ในขณะที่ภาระทั้งหมดไปตกอยู่กับประกันสังคม ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาระยะยาวอันนี้ผมยกตัวอย่างสั้นๆซึ่งมันน่าจะเป็นเอกภาพที่เราเห็นพ้องต้องกันเป็นชุดๆออกไป ชุดแรกกี่ข้อซึ่งมันอาจจะไม่จบทีเดียวเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงได้และข้อเสนอชุดที่ 2ก็ตามไปที่สำคัญก็คือว่ามันต้องมีความเป็นเอกภาพ

คำถาม: อยากจะชวนพูดไปถึงแผนฟื้นฟู อยากฟังทัศนะอย่างไรต่อแผนฟื้นฟูเพราะดูแล้วมันไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นจริงเท่าไหร่ แผนฟื้นฟูของรัฐบาลที่กู้เงินมา 4 แสนล้านแล้วออกแผนฟื้นฟู ฝ่ายแรงงานอย่างที่คุณสาวิทย์พูดแรงงานต่อไปได้รับผลกระทบแน่ แต่ทีนี้แผนฟื้นฟูที่มันจะมาสู่แรงงานส่วนที่เราพูดถึงในระบบมันมักเทไปเกษตรกร แต่ในระบบที่ตกงานกันเยอะมันดูเหมือนจะไม่ชัดเจนในส่วนนี้มีทัศนะยังไงกับแผนฟื้นฟู

คำตอบ : ด้านหนึ่งต้องเข้าใจทัศนะของรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมดเพราะเป็นตัวแทนของพวกชนชั้นนายทุนทั้งหมด วิธีการก็คือ เวลาที่เขาจะช่วยเหลือ เช่น กลุ่มทุนธุรกิจเข้าถึงกันคล้ายๆกับใช้ทฤษฎีน้ำล้นแก้ว คือ ให้ตัวนายทุนมีศักยภาพมีความสามารถเพียงพอก่อนน้ำก็จะไหลลงมาสู่ข้างล่างเกิดการจ้างงาน หลายสิบปีที่ผ่านมาทฤษฎีนี้มันผิด ดังนั้น วิธีการคิดแบบนี้มันไม่ถูกต้องมาขยับที่คนจำนวนมาก คือคนทำงานซึ่งวันนี้เรามมี 40 ล้านคนไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติอีก 4-5 ล้านคน ประเด็นในส่วนของขบวนการแรงงานยังมีปัญหาในแง่ของข้อเสนอ ในแง่ของความเป็นเอกภาพ อันนี้เห็นอยู่เราก็ไม่ปฏิเสธ สิ่งที่เสนอในตอนต้นข้อเสนอบางส่วนที่ไม่เป็นอกภาพ และเสนออย่างมีพลังและช่วยกันผลักดัน เพื่อเอามาตรการในการฟื้นฟูในการเยียวยาช่วยเหลือมาช่วยกลุ่มภาคแรงงาน อันนี้ต้องทำเป็นขบวนการ ถ้าปล่อยให้รัฐบาลกำหนดอย่างเดียว รัฐบาลจะมองว่า เกษตรกรยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรมีจำนวน 10 กว่าล้านคนขณะที่เป็นแรงงานนอกระบบภาคบริการทั้งหลาย 20 กว่าล้านคน แรงงานในระบบถ้าดูจากประกันสังคมก็ประมาณ 12-13 ล้านคน เกษตรกรก็เป็นคนจำนวนน้อย

แต่ว่าภาคชนบทความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยังมองไปที่เกษตรเป็นตัวหลัก ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด เขาก็มีสิทธิที่จะได้เพียงแต่ในความเป็นจริงในภาคสังคมโดยทั่วไป เกษตรกรที่เป็นตัวจริงเสียงจริงมันมีน้อย ดูจากปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่ดินจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของนายทุน เพราะฉะนั้นคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมจริงๆเป็นลักษณะการเช่าที่ดินมาประกอบอาชีพ ตัวอย่างกรณีสวนยาง เวลาที่เขาจะช่วยเหลือเกษตรกรต้องมีโฉนด มีที่ดิน เอาเข้าจริงๆแล้วคนที่ไปกรีดยาง ไปตัดยางมันไม่ใช่เจ้าของที่ดินเลยไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ

โดยสภาพความเป็นจริงของมันดูจากคนที่ทำงาน เกษตรกรคือผู้ใช้แรงงานการที่ไปช่วยเหลือคือไม่ใช่ช่วยเหลือเกษตรกรนิยามของความเป็นเกษตรกรคืออะไร คิดว่า การช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย คนที่มีอาชีพไม่มั่นคง คนตกงาน ว่างงาน น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ ควรเป็นประเด็นหลัก เราไม่สามารถที่จะรวมคนให้มันมีพลังมากเพียงพอที่จะดึงส่วนที่คิดว่า จะให้ขบวนการแรงงานหรือคนใช้แรงงานได้สัดส่วนที่มันน่าพึงพอใจมันหายไป

ควรที่จะหาแนวทางที่เป็นข้อเสนอที่เป็นเอกภาพอย่างที่เรียนมาทั้งหมด ถ้ารัฐบาลเดินลักษณะเช่นนี้การกู้เงินมาก็เหมือนมันกลายเป็นว่า เอาเงินไปแจกเขาในขณะที่เราไม่ได้เสริมสร้างอาชีพให้กับแรงงาน ประเด็นคือว่าเอาไปช่วย 3 เดือน มิถุนายนนี้หมดแล้ว จากมิถุนายนไปไม่มีเงินจะเกิดขึ้น และอีกจำนวนหนึ่ง 4-5 แสนล้านบาทจะไปช่วย SME ถือว่าจำเป็น การจ้างงานส่วนมากอยู่ที่ SME การช่วยเหลือ SME ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลพยายามช่วย ขณะเดียวกันคนงานที่ทำงานใน SME ยังไม่ได้รับการใส่ใจดูแลเท่าที่ควร ไม่ได้รับเงินจัดแจงแบ่งบันในส่วนการเยียวยาที่เป็นธรรม แต่ถ้ามองในบริบททีทัศนะของรัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นลักษณะที่เป็นคุณทั้งหมด

ข้อเสนอคือว่า ความเป็นเอกภาพในเรื่องข้อเสนอของขบวนการแรงงานและการขับเคลื่อนมันอาจจะมานั่งพูดคุยกันทั้งไม่ได้อะไรที่มันเป็นตรงกันเป็นเอกภาพก็เสนอเข้าและช่วยกันขับเคลื่อนให้มันเกิดความเป็นจริงอันนี้จะเป็นแนวทาง

คำถาม : ถ้าเจาะไปถึงการฟื้นฟูเจาะไปที่แรงงานที่เป็นลูกจ้างหรือเรียกว่าเป็นแรงงานในระบบ ในทัศนะคุณสาวิทย์มองว่า การฟื้นฟูมันจะฟื้นฟูในด้านไหนอย่างไรกับแรงงานในระบบ อย่างระบบเขาหาที่ทำกิน หาเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ว่าในระบบซึ่งเป็นลูกจ้างที่ตกงานรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโยลีด้วยในระยะต่อไปจะฟื้นฟูยังไงดี

คำตอบ : การฟื้นฟูต้องหางานให้แรงงานทำ การแจกเงินคงไม่ได้ งานที่เขาทำคืองานอะไร โรงงานเขาพยายามรีเซ็ตตัวเอาระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนคนจำนวนไม่น้อย และมีนายทุนจำนวนหนึ่งที่เคยมาอยู่ประเทศไทยที่เคยต้องการใช้แรงงานที่เข้มข้น พอรูปการมันเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมาแทนคนได้ ธุรกิจเหล่านี้ก็จะกลับประเทศของเขา เพราะไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งก็จะตกงานไป

อาชีพที่เข้ามาเสริมมาจากใคร มีภาคเกษตร เกษตรอินทรีย์ การผลิตอาหาร ซึ่งคิดว่า อาจจะเป็นการจ้างโดยรัฐก็ได้ และให้ฝึกอาชีพเกษตรอินทรีย์ หรืออะไรก็ได้ การที่จะเอาเงินไปจ่ายแจกไม่น่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง แม้กระทั่งเรื่องสวัสดิการที่เราเสนอก่อนหน้านี้ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษาหรือการเข้าถึงบริการสาธารณะ น้ำ ไฟฟ้าตัวนี้ รัฐต้องมาซัพพอร์ทด้วย เพื่อให้เขาลดค่าใช้จ่ายลงไป ถ้ามีเงินก็ประกอบอาชีพใหม่ ถ้ารัฐไม่มีที่จะไปจ้างก็ลดรายจ่ายด้านนี้ลง ให้เขามีเงินที่จะไปทำอาชีพอื่นเสริมขึ้นมา ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว ถ้าแจกเงินจะไม่เกิดประโยชน์

ฉะนั้นรูปแบบการจ้างงานอาจจะไม่ไปดูที่โรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวต่อจากนี้ ท้องไร่ ท้องนาชนบททั้งหลาย ไม่ว่า รัฐบาลมีกลไก มีกระทรวงมากมายกระทรวงเกษตรต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน ทดลองว่า มีงานประเภทไหนที่จะให้อาชีพได้ พวกสินค้าระดับตำบลOTOPให้รัฐบาลหาตลาด ใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาหนุนช่วยพึ่งพาอาศัย เป็นอีกหนทางแก้ไขปัญหาได้

เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด New normal ที่เขาพูดถึงกันอยู่ จะจัดระบบโดยตัวของมันเอง ถ้าไม่มีมาตรการ รัฐบาลไม่วางแผนระยะยาว ก็จะเกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้าเหมือนกับความวุ่นวายในอเมริกา ไม่ใช่แค่เรื่อง จอร์จ ฟลอยด์ อย่างเดียวพื้นฐานอเมริกาที่มันเกิดขึ้นขณะนี้มันเป็นเรื่องของความเหลือมล้ำที่มีอยู่จำนวนมากที่เกิดความวุ่นวาย ซึ่งคิดว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการแก้ไข ปราศจากการมีส่วน ความวุ่นวาย การไร้ระเบียบอะไรมันก็เกิดขึ้นได้นี่ก็เป็นความห่วงใยโดยภาพรวม