บทบาทสหภาพกับแรงงานข้ามชาติ

Untitled-7

โดย พรทิพย์ ยันตะพันธ์
นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่

คำว่า สหภาพแรงงาน ในอดีตอาจจำกัดนิยามและขอบเขตในการเป็นสมาชิกเพราะในอดีตสหภาพแรงงานในสังคมยังไม่มีการยอมรับเท่าที่ควร ยังถูกกีดกันทั้งจากรัฐบาล โดยเฉพาะนายทุนหากบริษัทไหนทราบว่าในบริษัทของตัวเองมีสหภาพแรงงานมักจะหาทางกำจัดและล้มสหภาพ ทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้มีสหภาพแม้ต้องจ้างทนายหรือนักกฎหมายมาเพราะนายทุนต่างก็รู้ดีว่า สหภาพแรงงานเป็นเสมือนตัวแทนที่จะคอยดูแลคนงาน สวัสดิการต่างๆของแรงงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่า เป็นชนชาติไหน หรือมาจากการจ้างงานแบบใด

ปัจจุบันมีหลายพื้นที่หลายบริษัทที่มีการก่อตั้งและจดทะเบียนสหภาพในบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ และนายจ้างเริ่มมีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น ภายใต้การจ้างงานแรงงานไทยที่ลดลงบ้าง ด้วยสภาพการปรับตัวทางเศรษฐกิจของนายจ้างเพื่อต้องการลดต้นทุนบางอย่าง เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วยกัน สหภาพแรงงานบางองค์กรได้เปิดข้อบังคับให้กว้างมากขึ้น รับสมาชิกที่เป็นแรงงานข้ามชาติแต่ด้วยกฎหมายแรงงานไทยให้แรงงานข้ามชาติเป็นได้แค่สมาชิกไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารสหภาพได้

แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นแรงงานข้ามชาติก็ให้ความสนใจในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จากการสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติในพื้นที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาครที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และคนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก แรงงานข้ามชาติหญิงรายหนึ่งกล่าวถึงการที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานว่า “ เคยทำงานที่บริษัทอื่นนายจ้างก็จะเซ็นต์รับว่าเราเป็นพนักงานงานบริษัทนั้นๆ แต่เมื่อมาสมัครเข้าทำงานที่บริษัทแห่งนี้ทำงานมาก็เกือบจะ 5 เดือนแล้วแต่ทางบริษัทยังไม่เซ็นต์รับว่าเป็นนายจ้างเลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม?” เพื่อหาข้อเท็จจริงที่แตกต่างผู้เขียนจึงสอบถามแรงงานข้ามชาติอีกคน ซึ่งเธอบอกว่าได้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในบริษัทแห่งนี้แล้ว “อยากเป็นสมาชิกสหภาพเพราะถ้าเดือดร้อนคิดว่าพี่ๆสหภาพแรงงานเขาน่าจะช่วยได้ ทั้งเรื่องของประกันสังคม การลางานและสวัสดิการต่างๆ บางครั้งบริษัทก็คิดว่าแรงงานข้ามชาติไม่รู้เรื่องจะทำอะไรก็ได้จะหักสวัสดิการก็ได้ เพราะไม่รู้ภาษาไทย เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออกแต่พอเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพก็ปกป้องสิทธิของเราปรึกษาได้คุยได้ และเวลามีกิจกรรมสหภาพเราก็จะเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง จึงได้ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมายแรงงานในประเทศไทยที่ให้การคุ้มครองเราด้วย ที่เข้ามาเป็นสมาชิกเพราะสนใจไม่มีใครชวนเห็นพี่เขาช่วยคนงานไทยได้ก็คิดว่าคงช่วยเราได้เหมือนกัน สนใจมาสมัครเป็นสมาชิก”

P5010079PC160098

ยังคงมีอีกหลายสหภาพแรงานที่ยังละเลยที่จะเปิดข้อบังคับเพื่อรับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานเช่นเดียวกับเราเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่กันและกัน และยังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและยังเดือดร้อน ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง นายหน้าจากหลายบริษัท และไม่กล้ามีปากมีเสียงเพราะไม่มีตัวแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะแรงงานข้ามชาติเท่านั้นที่ถูกเอาเปรียบแรงงานคนไทยเองก็ยังโดนเหมือนกัน อาจต่างจากแรงงานข้ามชาติตรงที่คนไทยรู้ภาษา และสามารถพูดคุยและเรียกร้องได้มากกว่าแรงงานข้ามชาติ เพราะแรงงานข้ามชาติเมื่อถูกเอาเปรียบถ้าไม่มีตัวแทนหรือใครเรียกร้องสิทธิให้ก็ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ของตัวเอง

ในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐมเองมีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบอาศัยอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน แต่คนเหล่านี้ยังคงถูกนายจ้างละเมิดสิทธิทางประกันสังคม และสวัสดิการ รวมถึงสิทธิที่พึงจะได้อีกมากมาย หากบริษัทไม่หักเงินลูกจ้างสมทบประกันสังคมตามกฎหมาย แต่บางสถานประกอบการที่มีสหภาพแรงงานและมีแรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิก หากแรงงานข้ามชาติมีปัญหาหรือถูกละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานก็สามารถเข้าไปเป็นตัวแทนในการเจรจาให้กับแรงงานข้ามชาติได้

migrant-workers

จากการสัมภาษณ์คุณดาวเรือง ชานก ประธานสหภาพแรงงานแอลทียู แอฟฟาเรล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสหภาพแรงงานที่เปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกว่า “สหภาพแรงงานมองว่า แรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้แตกต่างจากแรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากต่างจังหวัดจึงมีความเข้าใจคนที่จากบ้านมา แต่แรงงานข้ามชาติไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม และกฎเกณฑ์ของสังคมไทย จึงต้องปรับตัวมากกว่าแรงงานไทยที่ย้ายถิ่นมา ทั้งด้านภาษาการสื่อสารกันก็ไม่ค่อยเข้าใจ ” และในความเป็นจริงการทำงานของสหภาพแรงงานกับแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้แบ่งแยกว่า เป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกสหภาพ เมื่อเกิดปัญหาด้านสิทธิแรงงานก็เข้าไปขอพูดคุยกับฝ่ายบริษัทถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน การใช้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติเมื่อเข้ามาทำงานในบริษัทส่วนใหญ่ก็จะอยู่หอพักที่บริษัทจัดให้ ซึ่งถ้าเป็นสามีภรรยากันก็จะให้อยู่ห้องเดียวกันห้องละ 3 ครอบครัว โดยแรงงานข้ามชาติจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นทั้งค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ มีสวัสดิการข้าวเปล่าฟรีทั้งหมด ซึ่งได้รับสวัสดิการทุกอย่างเหมือนแรงงานไทย

แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องการรวมตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ยังมองเรื่องของรายได้ ตามประสงค์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มากกว่าที่จะมองเรื่องการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ และความมั่นคงในการทำงาน เพราะเวลาที่บริษัทไม่มีงานล่วงเวลา(OT.) ให้ทำเขาก็พร้อมที่จะลาออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ เมื่อบริษัทเดิมมีOT. ก็จะกลับมาสมัครเข้าทำงานอีก

แรงงานข้ามชาติที่มาเป็นสมาชิกสหภาพเขามีความเข้าใจว่า เมื่อเรารวมตัวกันได้ก็จะไม่ถูกเขาเอารัดเอาเปรียบ และเข้าใจว่าสหภาพแรงงานทำเพื่อคนงานทุกคนจึงเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก แต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาเพื่อให้สหภาพช่วยพูดคุยในปัญหาของตนเอง พอได้สิทธิก็มาขอลาออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นเพียงบางคนเท่านั้น แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแต่มาขอคำปรึกษาหรือให้สหภาพให้ไปเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับนายจ้างให้ก็มี

ในอนาคตปี พ.ศ. 2558 ที่จะถึงนี้อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันกลับมามองแรงงานในประเทศของตัวเองบ้างว่าควรจะพัฒนาแรงงานในประเทศให้มีศักยภาพเทียบเท่าต่างประเทศได้อย่างไร แต่ที่สำคัญอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งว่า ด้วยสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม ประเทศไทยโดยรัฐบาลยังไม่ลงสัตยาบันรับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับ ที่ขบวนการแรงงานได้มีการต่อสู้และเรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอดนับ 10 ปี ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการจ้างงาน สวัสดิการจึงเกิดขึ้นและมีให้เห็นอยู่แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย คำถามคือจะต้องรออีกกี่รัฐบาลหรือต้องรออีกนานแค่ไหนประเทศไทยถึงจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ อย่างที่หลายประเทศที่ที่รัฐบาลยอมรับสนับสนุนและได้ให้สัตยาบันสัญญาอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 ให้กับประเทศของตัวเองได้มีเสรีภาพทางการค้ากับประเทศอื่นๆเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานในประเทศได้มีรายได้จากประเทศอื่นๆที่มาลงทุนในประเทศของตนเป็นการสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศของตัวเองได้….