ลูกจ้างสแตนเล่ย์ ร้องเลขาสปส.คุ้มครองสิทธิประกันสังคม

20140205_135001สปส.ฉะเชิงเทราแจง สิทธิ 44 ลูกจ้างสแตนเล่ย์ หลังถูกนายจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ปิดงานยาวกว่า 6 เดือน เนื่องจากการพิพาทแรงงานยื่นข้อเรียกร้องตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ลูกจ้างหวั่นขาดสิทธิเดืนสายร้องเลขาสำนักงานประกันสังคม

วันที่ 10 เม.ย. 57 นางสาวนัยยนันท์ น้อยธิ ประธานสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงการที่ ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เรื่องขอให้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิในกองทุนประกันสังคม ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ถูกนายจ้างปิดงานรวม 44 คน จากสมาชิกทั้งสิ้น 295 คน (ลูกจ้างทั้งหมด 382 คน) ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์แล้ว โดยมีเนื้อหากล่าวถึงสถานการณ์ที่ บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการวัดตรวจสอบทดลอง และนำร่องเพื่อจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยมีผู้ถือหุ้นสำคัญมีสัญชาติอเมริกัน นายโนอาห์ เซฟเฟิร์ด เป็นนกรรมการบริหาร ได้ใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่ไม่สร้างสรรค์ และเป็นธรรม และได้ประกาศปิดงานบางส่วนที่เป็นสมาชิกจำนวน 44 คน มีคนท้อง 3 คน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม จนกระทั้งปัจจุบันเกือบ 6 เดือน ส่งผลให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานกังวลเรื่องสิทธิประกันสังคมจะส่งผลกระทบด้วยนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง และไม่มีการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สหภาพแรงงานจึงได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามถึงผลกระทบ และขอให้ทางสำนักงานประกันสังคมช่วยหาแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือคนงาน

ซึ่งในส่วนของ นายอดิเทพ สุวรรณวัตน์ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการทำหนังสือชี้แจงต่อประธานสหภาพแรงงาน เรื่องสิทธิในกองทุนประกันสังคมของสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกนายจ้างปิดงาน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ชี้แจงดังนี้

1. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประสานสอบถามข้อมูลไปยังสำนักงานสวัสดิการจังหวัดได้ความว่า ตามที่ลูกจ้างจำนวน 44 คน ซึ่งถูกปิดงานได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)ว่า การปิดงานของบริษัทฯเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมกระบวนการปิดงานไม่ชอบด้วยกำหมาย นั้น ครส.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 และมีมติว่าการปิดงานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และยกคำร้องของลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ และไม่มีค่าจ้าง ทำให้ไม่มีการนำส่งเงินสมทบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากตามมาตรา 121 (1) แห่งพระราชาบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานได้นัดชุมนุม ทำคำร้องยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา ดังนั้น ในระหว่างนี้นิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้าง ลูกจ้างยังคงอยู่ สถานการณ์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชาบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 จึงยังไม่สิ้นสุดลงแต่อย่างใด และย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวอย่างครบถ้วน

2. อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีต่างๆ หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของระยะเวลาในการส่งเงินสมทบของประโยชน์ทดแทนแต่ละกรณีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 ด้วย ซึ่งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทได้นำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างซึ่งถูกปิดงานจำนวน 44 คน ไว้ถึงเดือนตุลาคม 2556 เป็นเดือนสุดท้าย ดังนั้น หากลูกจ้างมีประวัติการส่งเงินสมทบต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกเดือนจนถึงเดือนตุลาคม 2556 และหากลูกจ้างไม่กลับเข้าทำงาน หรือมิได้ลาออก และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้

21. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหากประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 หลังจากนั้นสามารถใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ โยต้องขอหนังสือรับรองจากสำนักงานประกันสังคมไปแสดง

2.2 กรณีคลอดบุตร จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหากคลอดบุตรอย่างช้าที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม 2557

2.3 กรณีทุพพลภาพ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหากทุพพลภาพอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2557

2.4 กรณีตาย จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหากเสียชีวิตอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2558

2.5 กรณีสงเคราะห์บุตร จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหากคลอดบุตรอย่างช้าสุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2558

2.6 กรณีว่างงานจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน หากนายจ้างมีการเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกอย่างช้าที่สุดภายในเดือนสิงหาคม 2557

3. สำหรับลูกจ้างที่ถูกปิดงาน และกำลังตั้งครรภ์ จำนวน 3 คน จะได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้หรือไม่นั้น สำนักงานประกันสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลการนำส่งเงินสมทบของลูกจ้างแล้วขอชี้แจงดังนี้

3.1 นางสาวลัดดาวัลย์ กุลธนทัต คลอดบุตรคนที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 ซึ่งลูกจ้างได้ใช้สิทธิเบิกประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรแล้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม2557 นอกจากนี้ยังมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรในอัตราเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2557 ซึ่งหากบริษัทฯไม่รับกลับเข้าทำงานหรือไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะมีสิทธิได้รับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นเดือนสุดท้าย

3.2 นางสาวเนตรนภา แจวกระโทก หากคลอดบุตรคนที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2557 จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเป็นเงินค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีคลอดบุตรจำนวนร้อยละ 50 ของค่าจ้างสามเดือนที่สูงที่สุดภายในเก้าเดือนก่อนการคลอดบุตร ทั้งจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นเงินเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่วันที่คลอดบุตร ซึ่งหากบริษัทฯไม่รับกลับเข้าทำงาน หรือไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะมีสิทธิได้รับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นเดือนสุดท้าย

3.3 นางพิชชาภา นันทา เคยใช้สิทธิเบิกประโยชน์ทดแทนกรณีคลอบุตรครบ 2 ครั้งแล้ว สำหรับคนที่ 3 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 สามีได้เป็นผู้ใช้สิทธิเบิกประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร และกรณีสงเคราะห์บุตรแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 โดยหากสามีมีการนำส่งเงินสมทบต่อเนื่องตลอดไปจะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจนถึงเดือนมกราคม 2563 เป็นเดือนสุดท้าย

“ทั้งนี้เพื่อติดตามและได้เข้าพบเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ซึ่งไม่ได้ให้คำตอบต่อประเด็นการขยายสิทธิ หรือผ่อนผันการจ่ายไปก่อนตามที่ตนกับพวกเสนอ เพื่อการต่ออายุการส่งเงินสมทบออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งทางเลขาฯขอไปแก้ระเบียบกรณีลูกจ้างจะส่งเงินสมทบประกันสังคมเอง ซึ่งตอนนี้ก็ขยายสิทธิเรื่องไม่ส่งเงินสมทบไปอีก 1 เดือน เพื่อคงสิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 ไว้” นางสาวนัยยนันท์ น้อยธิ ประธานสหภาพแรงงานสแตนเลย์ฯกล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน