ลูกจ้างทำงานบ้านยื่นข้อเรียกร้องสร้างมาตรฐานการคุ้มครอง

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย เข้าพบตัวแทนรัฐ ลูกจ้าง นายจ้าง ให้การสนับสนุน และเสนอข้อเรียกร้องต่อ ILO สร้างมาตรฐานคุ้มครอง รวมถึงกฎหมายแรงงานที่สอดคล้อง

กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Home Net) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Map) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเอ็มพาว์เวอร์ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และAsia Pacific Forum on Women, Law and Development – APWLD ได้ออกแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องลูกจ้างทำงานบ้านแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 โดยเครือข่ายลูกจ้างคนทำงานบ้านได้มีการขอเข้าพบนายปกรณ์ อมรชีวิน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนางสาวเบญจมาศ  จิตตานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ตัวแทนภาครัฐ เพื่อยื่นข้อเสนอในประเด็นการสนับสนุนเนื้อหาในอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ( ILO) ว่าด้วยลูกจ้างทำงานบ้าน พร้อมเข้าพบผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เพื่อขอความร่วมมือในการนำข้อเสนอของลูกจ้างทำงานบ้าน

เนื่องในโอกาสผู้แทนจากรัฐบาลไทย และผู้แทนลูกจ้างเดินทางไปเข้าร่วมประชุม ประจำปีองค์การระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 100 ณ นครเจนีวา ในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ประกอบด้วย แรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่ายคณะทำงานเพื่อลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย มีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ให้รัฐบาลไทย และคณะผู้ร่วมประชุมฝ่ายไทยอันประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง และผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง สนับสนุนเนื้อหาในร่างอนุสัญญาเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน และข้อแนะ ที่จัดเตรียมโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ    ( ILO)

2.  ให้กระทรวงแรงงานเร่งประกาศกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย  ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 เพื่อให้สอดคล้องกับวาระที่วันที่ 28 สิงหาคม เป็นวันแม่บ้านสากล

ทั้งนี้คณะทำงานลูกจ้างทำงานบ้านมีกำหนดการจะเข้าพบนางสิริวรรณ ร่มฉัตรทอง ผู้แทนนายจ้างที่จะเข้าร่วมประชุมILO ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ เพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนเช่นกัน

เครือข่ายแรงงานคนทำงานบ้านแถลงว่า ในฐานะที่ลูกจ้างทำงานบ้านมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างเศรษฐกิจโดยรวม ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีเงินสะพัดในกลุ่มอาชีพนี้ทั่วโลกจำนวนสูงถึง 27,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันลูกจ้างทำงานบ้านก็มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจในครอบครัว เพราะช่วยทำให้ผู้หญิงได้ออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

ในประเทศไทยลูกจ้างทำงานบ้านทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทย มีจำนวนมาก จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2552 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจำนวนลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลมีอยู่ประมาณ 230,000 คน นอกจากนั้นสถิติอย่างเป็นทางการล่าสุดจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว พบว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนขอบัตรอนุญาตทำงานอาชีพทำงานในบ้านในปี พ.ศ. 2553 มีถึง 129,000  คน ในขณะที่ความต้องการลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่สมาชิกวัยแรงงานของครอบครัวส่วนใหญ่ ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถดูแลงานในบ้านได้ด้วยตนเอง  จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ลูกจ้างทำงานบ้าน เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยราบรื่น

สภาพการทำงานรวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานทำงานในบ้าน กลับไม่มีความราบรื่นอย่างที่แรงงานพึงได้รับ เนื่องจากกฎหมายแรงงานยังไม่ให้การยอมรับว่า “งานบ้านคืองาน” ทำให้งานบ้านถูกรวมเข้าเป็นงานนอกระบบ ที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานเหล่านี้ คนทำงานในบ้านจึงขาดกลไกการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประจำปี เวลาทำงานที่แน่นอน ค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย การขาดการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้ชีวิตของแรงงานทำงานในบ้านไม่ต่างกับการเสี่ยงโชค ไม่รู้ว่าตนจะเจอนายจ้างแบบไหน ค่าจ้างจะได้เท่าไร สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ในบ้านนายจ้างจะเป็นเช่นไร และที่สำคัญแรงงานทำงานในบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มเข้ามาอีก  จึงอาจกล่าวได้ว่าแรงงานทำงานในบ้านในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ขององค์การแรงงงานระหว่างประเทศ

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าวกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในบ้านในประเทศไทยร่วมกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานทำงานในบ้านมาโดยตลอด และหวังได้มีมาตรฐานสากลในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน  และการมีกฎหมายแรงงานไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เช่นเดียวกัน

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน