คสรท.แถลงค้านประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

DSCN8004คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เน้นเป็นพ.ร.ก.ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจัดการกับการชุมนุม การจับกุม ควบคุมตัวบุคคลใดๆที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหา หวั่นสถานการณ์อาจเดินหน้าไปสู่ความรุนแรงในอนาคต แนะรัฐบาลยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติในการจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมได้ ย้ำพ.ร.ก.นี้ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่นๆทั่วไป รวมถึงเสรีภาพการสื่อสารด้วยการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประกอบด้วยสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 60 วัน ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2557 เป็นต้นไป
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงแถลง ขอคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติให้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 60 วัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเช่น การห้ามการชุมนุมของกลุ่มคนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหา การกำหนดเคอร์ฟิว และการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน เป็นต้น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ยิ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการจัดการกับการชุมนุมมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าสถานการณ์อาจเดินหน้าไปสู่ความรุนแรงในอนาคต อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติในการจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมได้ รวมทั้งการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับ ค้นและควบคุมตัวบุคคลใดๆที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหา นี้จึงเป็นการละเลยถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เพียงต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กลับได้รับความคุ้มกันทั้งทางแพ่ง อาญาและทางวินัย ทำให้ประชาชนไม่อาจเรียกร้องใดๆต่อเจ้าหน้าที่ได้

DSCN8062DSCN8047

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

(1) คสรท. ขอคัดค้านอย่างยิ่งต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นกฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ผ่านมาก็มีบทเรียนชัดเจนว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่เป็นไปตามหลักการสากล และนำไปสู่การปราบปรามที่จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเอื้อให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบเอาผิดได้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ อาทิเช่น การซ้อมทรมานบังคับประชาชนที่ถูกสงสัยให้รับสารภาพ และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยมิชอบ ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที

(2) ข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องปกติในรัฐประชาธิปไตย การปิดถนนและการยึดพื้นที่สาธารณะบางส่วนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้ รัฐบาลเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม หากการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายใด รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาบังคับใช้

(3) คสรท. ขอประณามและไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกรณีการข่มขู่และการปาระเบิดเข้าสู่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธถือเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐประชาธิปไตย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน