อารมณ์ พงศ์พงัน

อารมณ์ พงศ์พงัน เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2489 ในครอบครัวที่มีฐานะพอกินพอใช้ ทำสวนมะพร้าวและค้าขายบนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่เป็นชาวเกาะพะงัน ส่วนพ่อเป็นชาวจีนไหหลำอพยพมาที่เกาะสมุยทำงานจับกังแบกมะพร้าวขนข้าวสาร แล้วไปก่อร่างสร้างตัวที่เกาะพะงัน เริ่มจากเป็นบ๋อยร้านกาแฟ ต่อมาได้เป็นนายท่าเรือของกรมโลหะกิจ ดูแลการรับส่งแร่ดีบุกลงเรือ  อารมณ์มีพี่ชาย 1 คน และน้องสาว 1 คน ตัวเขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดราฏษร์เจริญ  และเริ่มรู้จักการใช้แรงงานหาเงินช่วยทางบ้านขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม1 ถึง 6 ที่โรงเรียนพะงันวิทยา โดยทุกเช้าไปทำงานบนเรือรับจ้างรับส่งผู้โดยสาร และขนมะพร้าวบนเรือเดินทะเลในช่วงกลางคืน  เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมต้นก็ต้องหยุดเรียนต่อ เพราะเหตุผลเรื่องการเงิน ต้องไปเป็นคนงานเรือประมง  ไปช่วยญาติที่ตะกั่วป่าเก็บไข่เต่าตนุขาย แล้วจากบ้านไปไกลเป็นคนงานไร่มันสำปะหลังที่จังหวัดระยอง ได้เงินเดือน 200 บาท พร้อมอาหาร 2 มื้อ ราว 1 ปี พี่ชายก็ไปรับกลับมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ กรุงเทพ   
 
เมื่อเรียนจบชั้น ม.ศ.5  ในปี พ.ศ.2510 ไปสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี คณะเครื่องกล  แต่เพียงแค่ปีแรกก็ไปไม่รอดเพราะเริ่มสนใจเรื่องของสังคม ชอบอ่านหนังสือด้านปรัชญา การเมือง รวมทั้งวรรณกรรมตะวันตกและตะวันออกมากกว่าเรื่องเครื่องยนต์กลไก  แต่เมื่อหันไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคโคราช  แผนกวิชาช่างโยธา ที่นี่ อารมณ์กลับได้รับกิตติคุณบัตรในฐานะนักศึกษาเรียนดี ทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุมภาษาและหนังสือ เป็นสาราณียากรจัดทำหนังสือประจำปี และเป็นประธานนักศึกษาของวิทยาลัยด้วย แต่ระหว่างเรียนอยู่นั้นขัดสนด้านการเงิน ด้วยพี่ชายส่งเงินให้ใช้เพียงเดือนละ 500 บาท จึงต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินให้พอกับค่าใช้จ่าย โดยการเขียนหนังสือ เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ และบทกวี ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ อาทิเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ สยามรัฐ ชาวกรุง สามยอด และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคประชาธิปัตย์ จนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเมื่อปี พ.ศ.2514
 
อารมณ์เข้าทำงานที่การประปานครหลวงเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2515 ในตำแหน่งช่างตรี ฝ่ายวิศวกรรม เริ่มงานที่กองสำรวจและออกแบบ และยังคงทำงานอดิเรกเขียนบทความในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราช ซึ่งก็มีเรื่องเกี่ยวกับการคัดค้านสงครามเวียดนาม เรื่องค่าแรงคนงาน เรื่องข้าวของแพง  ต่อมาปลายปี พ.ศ.2515  แต่งงานกับ อมรลักษณ์ ซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกัน และพบรักกันตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5  และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ เบญจาภา พงศ์พงัน
 
ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  อารมณ์ได้ชักชวนเพื่อนๆเข้าร่วมชุมนุมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ด้วยเชื่อมั่นต่อพลังมวลชน  และไม่ไว้ใจอำนาจเผด็จการ  ทั้งยังเชื่อในลัทธิสหภาพแรงงานว่าเป็นองค์กรคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กรรมกรผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งประชาธิปไตย ต้องไม่เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว   เมื่อสหภาพแรงงานการประปานครหลวงแห่งใหม่ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2518  อารมณ์ก็กลายเป็นกำลังหลักขององค์กร อยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสาร ถังสูง ของสหภาพแรงงานการประปานครหลวง รับภาระในการเขียนข้อเขียนต่างๆ  และในปีเดียวกันนั้น ยังได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ที่มี ไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นประธาน
บทบาทที่โดดเด่นของอารมณ์ ทำให้เกิดการยอมรับทั้งภายใน และภายนอกองค์กรแรงงาน  หรือแม้กระทั่งในแวดวงเกษตรกร เช่นการเข้าไปช่วยเหลือ กรณีกรรมกรฮาร่า โดยได้รับเลือกให้เป็น คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกรรมกรชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน  เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างหลายโรงงาน  เคยเป็นตัวแทนกรรมกรไทยไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO    และเมื่อครั้งกลุ่มสหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานทั่วประเทศเมื่อวันที่ 2-6 มกราคม พ.ศ.2519 เพื่อคัดค้านรัฐบาลการเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูกของรัฐบาลเพราะไม่ได้ช่วยเหลือชาวนาจริง  อารมณ์ก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ร่วมกับรัฐบาล นิสิตนักศึกษา และผู้ประกอบการโรงสี
 
อารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงจุดอ่อนของขบวนกรรมกรไทยไว้ในหนังสือ กรรมกร  ว่า มีผู้นำกรรมกรขายตัวเข้ามาทำลายความสามัคคีภายในหมู่กรรมกร  ทำลายเจตนารมณ์ที่คัดค้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการ  เข้ามาแทรกแซง ปลุกระดมให้เกิดความลุ่มหลงในลัทธิคลั่งชาติ เกลียดชังคอมมิวนิสต์  และมีการกล่าวหาว่าผู้นำกรรมกรว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังเช่นมีผู้ที่ใช้นามปากกาว่า กระแช่  เขียนข้อความในหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2519 ว่า "อารมณ์ พงศ์พงัน จะจัดงานฉลองวันชาติรัสเซียขึ้นที่สวนลุมพินีในวันที่ 1 พฤษภาคม 2519"  ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์  6 ตุลา 2519 ขึ้น สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ก็ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งยุบเลิกไปในอีกไม่กี่วันต่อมา  
 
แล้วภัยเผด็จการก็รุกคืบเข้าคุกคาม  อารมณ์ถูกจับที่บ้านพัก
ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2519 ตอนแรกถูกข้อหาภัย ต่อมาก็เจอข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฎ จลาจล พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สะสมอาวุธ และซ่องโจร  ช่วง 2 ปีที่อยู่ในคุก โรคร้ายก็เริ่มคุกคามอย่างหนัก  ถึงกระนั้นอารมณ์ก็ใช้เวลาในคุกเขียนหนังสือออกมามากมาย ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร ซึ่งล้วนสะท้อนอุดมการณ์ และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ของอารมณ์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งอารมณ์เห็นว่า กรรมกรต้องรวมตัวเป็นเอกภาพอย่างจริงจัง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง และเข้าสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันจะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมต่อกรรมกร ชาวไร่ชาวนา และประชาชนทั่วไปได้อย่างแท้จริง โดยวิถีทางที่สันติ
 
 
16 กันยายน พ.ศ.2521 มีการประกาศนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ อิสรภาพกลับคืนสู่อารมณ์อีกครั้ง ท่ามกลางความสุขความยินดีของครอบครัวและผู้ใช้แรงงาน  และทันทีที่ออกมา อารมณ์ก็เข้าแบกรับงานด้านแรงงาน โดยได้ร่วมทำวารสาร ข่าวคนงาน ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และทำหน้าที่เป็นประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวงอีกครั้ง  ต่อมาก็ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือจากเรื่อง “เพลงลาบทสุดท้าย” รวมทั้งได้รับรางวัลบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย  
 
หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมเพียง 10 เดือน โรคร้ายก็กำเริบ อารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลชลประทานถึง 4 ครั้ง สุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ในวัยเพียง 34 ปี 
 
เรื่องการเจ็บป่วยของอารมณ์นั้น  อมรลักษณ์ พงศ์พงัน  ภรรยาของอารมณ์ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น กัญญธร เขียนไว้ในหนังสือ อารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการแรงงาน ว่า “ความขมขื่นที่ตัวเขาเองได้รับจากอำนาจแห่งความไม่เป็นธรรมร่วมเวลา 2 ปี กับความมุมานะขยันหมั่นเพียรที่จะช่วยเหลือเพื่อนกรรมกรด้วยกัน จึงมีอาการของโรคร้ายแทรกซ้อนมาโดยไม่รู้ตัว” 
ทั้งยังเขียนถึงอารมณ์ไว้อีกว่า เป็นกรรมกรที่มีความเชื่อในระบบสหภาพแรงงานเสรี ความคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากกว่า ที่ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ฝังอยู่ในสายเลือดเขาตลอดเวลา  เขาจึงพร้อมเสมอที่จะรับใช้ทุกๆคน  ไปทุกๆแห่งที่คิดว่าเขาจะมีประโยชน์
 
   
 
คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเขาที่มีต่อขบวนการแรงงาน ทำให้กลุ่มผู้นำแรงงานและญาติมิตรร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525  ได้รับทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2526 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้วิชาการด้านแรงงาน รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาฝึกอบรมเรื่องสิทธิสวัสดิการแรงงาน 
ด้านกิจกรรมของมูลนิธิก็ประกอบด้วย การศึกษาวิจัยปัญหาของแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ  การรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิอันพึงมีพึงได้  มีการจัดสัมมนา เสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน  มีการฝึกอบรมและจัดเก็บข้อมูลความรู้ด้านแรงงาน  มีการจัดพิมพ์เอกสารและหนังสือวิชาการด้านแรงงาน  รวมทั้งมีการผลิตจดหมายข่าวรายเดือนชื่อ แรงงานปริทัศน์ เริ่มฉบับแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนกว่า 300 ฉบับแล้ว
 
อารมณ์ พงศ์พงัน ไม่เพียงเป็นที่รักของครอบครัวและลูก เขายังเป็นที่รักใคร่และไว้วางใจของผู้ใช้แรงงาน เป็นแบบอย่างที่ดีของเพื่อนๆและผู้ใฝ่หาความเป็นธรรม  
 
แต่สำหรับผู้โกงชาติบ้านเมือง และนักเผด็จการทุกคนแล้ว เขาเป็นกลับเป็นปีศาจร้ายที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง