กลุ่มทอเสื่อ แรงงานนอกระบบ จ.ขอนแก่น

 

รายการวาระประเทศไทย : แรงงานนอกระบบ

สถานี Thai PBS

ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2555

 

แรงงานนอกระบบที่ไม่รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนใหญ่นั้นเป็นแรงงานที่ไม่มีนายจ้างแน่นอน ทำให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาการทำงานได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน อย่างอาชีพทอเสื่อของชาวบ้านในอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น พวกเขาต้องทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนบางคนนั้นป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ก็ไม่สามารถหยุดพักรักษาตัวได้

 ต้นธูปฤาษีที่ประพันธ์เดินทางไปเก็บมาจากอำเภอใกล้เคียงถูกนำมาตากแดด เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อ ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและส่งหลานสาวเรียนหนังสือ ประพันธ์ต้องเร่งผลิตชิ้นงานให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 6-7 ผืน เพื่อขายส่งในราคาผืนละ 17 บาท โดยแต่ละผืนจะต้องใช้เวลาในการทอไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ในแต่ละวันประพันธ์ต้องนั่งทำงานในลักษณะท่าทางแบบนี้ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ

ประพันธ์ ไชยรา แรงงานนอกระบบ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น “ต้องทำแต่เช้า ตี 4-5 บางวันก็ 6โมงเช้า แล้วแต่โอกาสว่าจะว่างเวลาไหน”

วันหนึ่งได้กี่ผืน “ถ้าทำคนเดียวได้ 5 ผืน ถ้ามีคนช่วยสอดก็ได้วันละ 10 ผืน “

ตกวันละเท่าไหร่กี่บาท “ตกวันละ 170 บาท หักค่าอุปกรณ์ออกเหลือประมาณ 100 บาท “

 

การต้องนั่งทำงานนานๆ ทำให้หลายครั้ง ที่ประพันธ์มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบต้องบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการให้หลานสาวบีบนวด เพราะไม่ต้องการเสียเงินไปกับการเดินทางไปยังโรงพยาบาล รวมถึงเสียเวลาในการทำงานอาการปวดเมื่อยจึงเป็นโรคเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้ ไม่แตกต่างจากครอบของสองตายายในหมู่บ้านเดียวกัน ที่แม้จะเป็นช่วงวันหยุดยาว และร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงแต่ก็ยังคงต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุดพักผ่อนเหมือนแรงงานในระบบกลุ่มอื่นๆที่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานบังคับใช้ สำหรับคนใน ต.น้ำพอง ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะการเป็นแรงงานนอกระบบทำให้ต้องผลิตชิ้นงานแข่งกับเวลา ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจึงส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอีกหลายด้าน

 

อรุณี ดวงพรหม ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานนอกระบบ อ.น้ำพอง จ. ขอนแก่น

“ถ้าเป็นกลุ่มทอเสื่อ จะมีปัญหาเรื่องระบบกล้ามเนื้อ และกระเพาะปัสสวะอักเสบ เพราะว่าการที่เขานั่งทำงานนานๆ อั้นนานๆ มันก็จะมีปัญหา เรื่องของรายได้ ค่าชิ้นงานที่ได้มันไม่ค่อยเป็นธรรมกับเขาเท่าไหร่”

แรงงานนอกระบบภาคการผลิต ในฐานะผู้ผลิตเพื่อขายและผู้ผลิตที่รับงานไปทำที่บ้าน ถือเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานภาคการเกษตรและภาคบริการ ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครอง แต่ในความเป็นพวกเขาบอกว่ากฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่เท่าทันกับระบบการจ้างงานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 ความจริงแล้วเรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบฉบับหนึ่งแล้วคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็เป็นการคุ้มครองเฉพาะแรงงานที่ลักษณะการรับงานไปทำที่บ้านเท่านั้น ซึ่งก็มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน ขณะที่อีกกว่า 24 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง อย่างกรณีของชาวบ้านที่ทำอาชีพทอเสื่อใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พวกเขายังขาดการคุ้มครองในฐานะแรงงาน เช่น เรื่องของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเพื่อแลกกับเงินทีจะได้จากการขายชิ้นงานหรือแม้แต่การคุ้มครองด้านสุขภาพ อย่างการเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 คนกลุ่มนี้ก็ยังถือว่าได้รับสิทธิประโยชน์น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในระบบแล้ว ขณะที่การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนภาครัฐเครือข่ายแรงงานนอกระบบก็มองว่าเป็นนโยบายของแต่ละรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีความมั่นคง และไม่สามารถเป็นหลักประกันให้กับชีวิตหลังวัยทำงานของแรงงานนอกระบบได้

สุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ “ปัจจุบันนี้พวกเราก็เลยเข้าไปร่วมกับในระบบผลักดันเรื่องประกันสังคมฉบับล่ารายชื่อของภาคประชาชน เพื่อให้ขยายออกมาคุ้มครองคนที่รับงานไปทำที่บ้าน และให้คนรับงานไปทำที่บ้านมีสิทธิที่จะเข้ามาตรา 33 เพราะว่าเขาเป็นลูกจ้างที่มีคนจ้างงานชัดเจน แต่อาชีพอิสระทั่วไปเราก็ผลักดันให้เข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งมาตรา 40 เราก็เรียกร้องว่าขอให้มีรัฐสมทบในมาตรา 40 ครึ่งหนึ่งของผู้ประกันตนสมทบ ส่วนในมาตรา 40 ก็ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์”

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของปี 2548 – 2551 พบว่าแนวโน้มคนทำงานนอกระบบนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านคน และถือว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับสถิติการเกิดอุบัติเหตุของแรงงานนอกระบบที่สูงขึ้น ทั้งกรณีถูกของมีคมบาด พลัดตกหกล้ม และการชนกระแทกวัสดุ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็เป็นผลมาจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการต้องเร่งผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณให้ได้ค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ เครือข่ายแรงงานนอกระบบจึงมองถึงปัญหานี้ว่านอกจากการเพิ่มค่าแรงแล้ว รัฐบาลยังต้องควบคุมราคาสินค้าเพื่อการครองชีพและปัจจัยการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย ราคาอาหารสัตว์เพื่อเป็นปัจจัยเสริมให้แรงงานนอกระบบนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้น