ปัญหาลูกจ้างทำงานในบ้าน

 

ปัญหาลูกจ้างทำงานในบ้าน

สถานี Thai PBS ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555

ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การทำงานเกินเวลารวมถึงไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานนั้นเป็นปัญหาที่ทางเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านและทางภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันให้ภาครัฐนั้นทำการแก้ไขนานกว่า 9 ปี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อที่จะคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน

สมจิตร ครบุรี ที่ยึดอาชีพทำงานบ้านมากว่า 40 ปี ยอมรับว่าเธอไม่เคยมีวันหยุดประจำสัปดาห์และต้องทำงานเกินเวลาอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง โดยได้รับค่าตอบแทนไม่เกินเดือนละ 5, 000 บาท และบางครั้งยังถูกเจ้าของบ้านหักเงินเดือนวันละ 200-500 บาท หากป่วยจนไปทำงานไม่ได้

                “ถ้าฝรั่ง ญี่ปุ่น มันจะต่างกันตรงที่ว่า ถ้าเขาให้ทำ 8 โมง ถึงเที่ยง อัตราเงินเดือนก็ไม่เหมือนกัน  ถ้าคนไทยอยู่ถึงคืนนี้อัตราเงินเดือนยัง 4,000 บาท ถ้าฝรั่ง เขาให้ทำถึงเที่ยงเขาให้ 3,000 บาท ถ้าทำอาหารเขาจะให้ถึง 7,000 บาท ทำอาหารใส่ไว้ในตู้เย็นเขากลับมาก็จัดการกินเอง แต่คนไทยเขาทำอาหารเบ็ดเสร็จหมดเลย ซักเสื้อผ้าทุกอย่างอัตราเงินเดือน 4,000 บาท โดยไม่มีวันหยุด”

 

ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ชั่งโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานเป็นปัญหาของลูกจ้างทำงานบ้านทั่วโลก ซึ่งเป็นที่มาของการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงาน เช่น ลูกจ้างทำงานบ้านจะต้องได้รับสิทธิเงื่อนไขการจ้างงานที่เป็นธรรม มีสิทธิเสรีที่จะออกจากบ้านนายจ้างในวันหยุด ได้รับความคุ้มครองด้านความมั่นคงทางสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการคุ้มครองการเป็นมารดาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO. ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2554 แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการรับรองอนุสัญญานี้ มีเพียงการออกกฎกระทรวงที่มีสาระสำคัญในการขยายความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานปี 2541 เพิ่มเติม เช่น มีวันหยุดประจำสัปดาห์ สิทธิลาป่วย  โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันหยุด แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพจึงเรียกร้องให้ออกกฎกระทรวงฉบับนี้โดยเร็วที่สุดและควรพัฒนาให้เทียบเท่ากับมาตรฐานแรงงานสากลในอนุสัญญาฉบับที่ 189

                พูนทรัพย์ สวนเมือง  ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ “เขาจะได้วันหยุด ซึ่งเขาต้องการมาก การที่เขามีวันหยุดก็คือเขาได้พักผ่อนและในขณะเดียวกัน เขามีพัฒนาตัวเอง อาจจะไปอบรมอาชีพอื่นๆ ไม่ต้องทำอาชีพทำงานบ้านจนแก่ และในขณะเดียวกันก็มีวันที่ต้องลา เช่น ลูกจ้างส่วนมากคนไทยสงกรานต์เขาก็อยากกลับบ้าน ปีใหม่หรือเข้าพรรษา เขาก็อยากกลับบ้านอยากลาได้”

กฎกระทรวงเป็นความหวังเดียวที่จะคุ้มครองพวกเขามองอย่างนั้นได้ไหม? “ได้ค่ะเพราะตอนนี้กฎหมายที่คุ้มครองมันคุ้มครองน้อยมาก”

 

ด้านนายอาทิตย์ อิสสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า ขณะนี้การออกกฎกระทรวงว่าด้วยการทำงานของลูกจ้างทำงานในบ้าน ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้อีกไม่เกิน 1 เดือน ส่วนการรับรองอนุสัญญา ILO.ฉบับที่ 189 นั้น ประเทศไทยยังต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆก่อนเพราะลักษณะความสัมพันธ์ของลูกจ้างทำงานในบ้านของประเทศไทยเหมือนกับคนในครอบครัวซึ่งต่างกับต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นลูกจ้างกับนายจ้าง

พงศ์อิทธิ์ เชิชูวงศ์ สถานี Thai PBS