ปัญหาคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ปัญหาคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

สถานี Thai PBS ออกอากาศวันที่ 17 มิถุนายน 2555

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปี 2553 นั้นเป็นกฎหมายที่ทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบร่วมกันผลักดันตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่จะให้หลักประกันและคุ้มครองการทำงานของแรงงานนอกระบบได้ แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี กฎหมายฉบับนี้ ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากทางกระทรวงแรงงานนั้นยังไม่ออกกฎกระทรวงหรือว่ากฎหมายลูกมารองรับ

สมุดบันทึกรายรับที่ได้จากการรับประกอบเสื้อของปรีญา เลิศประเสริฐ แรงงานนอกระบบที่รับงานมาทำที่บ้านแสดงให้เห็นว่าเธอต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าสมัยที่ทำงานอยู่ในโรงงานเย็บเสื้อผ้าอย่างน้อยวัยละ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ชิ้นงานจำนวนมากขึ้นให้เพียงพอกับรายจ่าย แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยขอค่าจ้างแต่ละชิ้นจากผู้จ้างงาน โดยหวังว่าจะลดชั่วโมงการทำงานให้น้อยลงเพื่อจะได้มีเวลาให้กับครอบครัว แต่เธอก็ถูกปฏิเสธและไม่กล้าต่อรองขอขึ้นราคาอีกเพราะกลัวว่าจะไม่ได้งานทำ

                ปรีญา เลิศประเสริฐ แรงงานนอกระบบ “เราเอามาแล้วต่อเขา 15 บาท ใช่ไหมต้องเอาขึ้นไป 16 บาท เพราะว่าเราเอางานเขามาแล้ว แล้วเขาก็บอกว่ามันมีค่าตัด ค่าขนส่ง ถ้าเราขอขึ้นเจ้าอื่นก็ต้องขอขึ้นด้วย เพราะว่างานตรงนี้บางทีมันเป็นงานด่วนเราก็ต้องทำถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่มีงานเพราะเราต้องรับงานช่วงนี้ให้เสร็จเราถึงจะรับเจ้าอื่นได้ เพราะว่าถ้าเขาเอางานกลับเขาก็จะไม่จ่ายตังค์และก็จะไม่มีงานทำ”

การกำหนดค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาของแรงงานนอกระบบประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเร่งออกกฎกระทรวงมารองรับให้กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปี 2553 มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด หลังจากที่ยังไม่มีความคืบหน้าทั้งๆที่กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2554  เนื่องจากมีเนื้อหาที่กำหนดเรื่องค่าตอบแทน เช่น การจ่ายค่าตอบแทนต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ให้ผู้จ้างงานเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ กรณีผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับอันตรายจากวัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ที่ผู้จ้างงานนำมาให้ทำ ซึ่งถือว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่จะคุ้มครองและแก้ปัญหาของแรงงานนอกระบบ

สุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ “เรามั่นใจถึง 100% ไหม เราก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยเราก็มี พ.ร.บ. ที่คุ้มครองเราและเราถ้ามีปัญหามันก็ยังสามารถอ้างอิง พ.ร.บ. ตัวนี้ได้ว่าเรามี พ.ร.บ. ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แล้วเขาไม่ปฏิบัติตาม”

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า ขณะนี้สามารถออกกฎหมายลูกไปแล้ว 6 ฉบับ จากทั้งหมด 14 ฉบับ เหลืออีก 8 ฉบับ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมายกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะการคัดสรรกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาพิจารณาค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งยังมีข้อท้วงติงจากเครือข่ายต่างๆ โดยคาดว่าการออกกฎกระทรวงทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและ

ให้มีผลบังคับใช้อีก 2 เดือนข้างหน้า

พงศ์อิทธิ์ เชิชูวงศ์ สถานี Thai PBS