ข้อเสนอช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

 

ข้อเสนอช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

สถานี Thai PBS ออกอากาศเมื่อวันที่  16 ธันวาคม 2554

แม้ว่าหลายมาตรการ ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อเยียวยาภาคอุตสาหกรรมและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นเงินทดแทนการประกันการว่างงาน รวมไปถึงสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยฟื้นฟูสถานประกอบการ แต่ว่านักวิชาการด้านแรงงานกลับมองว่ายังไม่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมกว่า 40,000 คน เพราะว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในหลายด้าน จึงข้อเสนอไปถึงรัฐบาลให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อจะได้ฟื้นฟูอาชีพให้กลับมาโดยเร็ว

 

พอน้ำเข้ามาในบ้านเกินกว่าเอวแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ไว้ของต้องปล่อยตัวเอง วันแรกนี่จิตตกเลย

น้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความรู้สึกของนิรมล สุทธิพันธ์พงศ์ ประธานกลุ่มตัดเย็บสตรีสหกรณ์เครดิตยูเนียน เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง เมื่อถูกถามถึงทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำท่วมบ้าน โดยเฉพาะจักรเย็บผ้าอุปกรณ์ที่ใช้ทำกินมานานเกือบ 3 ปี  เพราะหลังจากน้ำลดเหลือเพียงจักรเย็บผ้าและจักรเย็บกระดุมเพียง 2 หลังนี้เท่านั้นที่ยังพอนำกลับมาซ่อมใช้งานได้ ส่วนจักรเย็บผ้าที่เหลืออีก 4 หลัง ถูกสนิมเกาะเสียหายหลังจมน้ำมานานนับเดือนจนต้องขายทิ้งเป็นเศษเหล็ก นี่จึงกลายเป็นผลกระทบหลักต่อการประกอบอาชีพของเธอ

คนที่เคยจ้างงานเราเขาไม่สามารถจะรอเรานานถึงเป็นเดือนและก็เอาไปจ่ายที่กลุ่มอื่น ต่อจากนี้ไปเรายังไม่รู้ว่างานที่เรารับทำจะเหลือสักเท่าไหร่ที่จะมาให้เราทำต่อไปและตอนนี้สภาพก็ยังไม่พร้อมที่จะทำงาน เพราะว่าต้องซ่อมอีกเยอะ

คิดว่าเวลาที่เราต้องฟื้นฟูตรงนี้กว่าจะกลับมาทำงานได้ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาก็เป็นเดือน

การเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเพื่อนำมาฟื้นฟูอาชีพตามนโยบายของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบเป็นห่วง เพราะข้อจำกัดเรื่องรายได้ไม่แน่นอนรวมถึงแรงงานมีการเคลื่อนย้าย จึงเป็นอุปสรรคต่อการขอรับเงินเยียวยาจึงเสนอให้ภาครัฐเร่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบ เพื่อช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

สุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ “แกนนำในชุมชนหรือกรรมการชุมชน หรือเขตอะไรก็แล้วแต่ฝ่ายพัฒนามีข้อมูล ต้องไปหา ไปเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลให้รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลไปจัดทำเป็นนโยบายที่จะช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ซึ่งเขาเป็นแรงงานที่ส่วนมากรัฐบาลบอกไม่เห็นตัวตนที่ชัดเจน”

สอดคล้องกับนักวิชาการด้านแรงงานที่มองว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐยังมองแบบเหมารวม โดยให้น้ำหนักไปที่สถานประกอบการนักลุงทุน ส่วนแรงงานจะเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในระบบทั้งมาตรการเงินทดแทน ประกันว่างงาน แต่กับแรงงานนอกระบบยังให้ความสำคัญในหลักประกันต่อเนื่องการทำงานและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนน้อยมาก

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน  เพราะถ้าดูจากข้อมูลที่รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีทั้งพักหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงต่ำสุด หรือว่ามีระยะเวลาขยายการชำรพหนี้ อันนี้ก็ใช้สูตรเดียวกันแต่ว่าต้องคำนึงถึงผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ เพราะลูกจ้างในสถานประกอบการก็มีสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินออกไป 3 แบงค์ ละให้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างกู้อันนี้คือแรงงานในระบบ แต่ว่าแรงงานนอกระบบเขาไม่มีสิทธิหรือว่ามีสิทธิน้อยมากที่จะเข้าถึงระบบนี้ได้”

ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ระบุว่าขณะนี้มีแรงงานนอกระบบที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมแล้วกว่า 40,000 คน จึงเสนอให้รัฐบาลหามาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ให้กกระทรวงแรงงานจัดหางานรองรับ สนับสนุนอุปกรณ์และสถานที่ทำงานที่ได้รับความเสียหายเพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพได้โดยเร็ว