สรส.ยื่นทวน มติปรับค่าจ้างรัฐวิสาหกิจ

พนักงานรัฐวิสาหกิจ ยื่นรมว.แรงงาน ให้ทบทวนมติครม.ปรับค่าจ้างรัฐวิสาหกิจเงินเดือนไม่เกิน 50,000 บาทปรับขึ้นร้อยละ 5 ส่วนข้าราชการปรับให้ร้อยละ 5 ไม่มีเงื่อนไข พ้อไม่มีความเป็นธรรม มีผลต่อโครงสร้างเงินเดือน และไม่เคารพหลักการไตรีภาคี  

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างรับวิสาหกิจตามมติคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างข้าราชการภาคส่วนต่างๆในอัตราร้อยละ 5 เท่ากันทุกตำแหน่ง และที่ประชุมครส.ได้มีมติปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตามแนวทางการปรับเงินขึ้นของข้าราชการเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 และกระทรวงแรงงานได้มีการนำเสนอครม.แล้วในเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนราชการ ซึ่งมติครม.ในวันที่ 28 มีนาคม ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 5 ให้มีผลวันที่ 1 เมษายน 2554 และเมื่อมีการปรับค่าจ้างแล้วลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นต้องได้รับเงินเดือนไม่เกิน 50,000 บาท ผลจากมติครม.ส่งผลกระทบในหลายด้าน คือ

1. ไม่เคารพหลักการไตรภาคี 2. ไม่มีความเป็นธรรม และมีการเลือกปฏิบัติ 3. ทำให้เกิดความแตกแยกในองค์กร 4. มีผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละแห่ง 5. ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับการปรับขาดกำลังใจ 6. เกิดปัญหาการบริหารจัดการภายในองค์กรแต่ละแห่งฯลฯสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องดังกล่าวเข้าครมเพื่อทบทวนมติวันที่ 28 มีนาคม 2554  แต่ครม.ก็ไม่ได้มีการทบทวนเพียงแต่ได้สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้ส่งข้อมูลเพื่อดูผลกระทบต่างๆหากมีการปรับตามมติ 

ขณะนี้เวลาครบ 1 ปี แต่คนงานรัฐวิสาหกิจยังคงประสบปัญหาในการปรับขึ้นค่าจ้าง จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมการเสนอทบทวนมิติครมอีกครั้ง ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างตามแนวทางของข้าราชการ และมติคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คือปรับให้ทุกตำแหน่งในอัตราร้อยละ 5 โดยเร่งด่วน

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน