แรงงานบุกสภาจี้!รัฐรับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับประชาชน)

แรงงานบุกสภาฯยื่นหนังสือทวงความจริงใจรัฐบาลกรณีวาระเร่งด่วนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับประชาชน ฝากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าฝ่ายค้านช่วยตาม พร้อมยื่นถามประธานรัฐสภา เสนอร่างฯเข้าที่ประชุมและรับหลักการให้ทันสมัยประชุมนี้ ก่อนค่อยมาร่วมกันพิจารณาหลังตั้งอนุกรรมาธิการฯ

 
วันที่ 22 มีนาคม 2555 เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประมาณ 500 คน นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา เลขาสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ได้รวมตัวกันเดินเท้าไปที่รัฐสภา เพื่อทวงถามความจริงใจของรัฐบาล และฝ่ายค้าน กรณีร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งทางรัฐบาลได้เซ็นต์รับรองร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯเป็นวาระเร่งด่วนอันดับที่ 9 แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการนำมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวว่า การที่คนงานออกมาเดินทวงถามในวันนี้เพราะเห็นว่า ทางรัฐบาลยังไม่ได้มีการนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าวมาพิจารณา ซึ่งตามจริงแล้ว ทาง

ขบวนการแรงงานได้ให้เวลาในการทำงานของรัฐบาลในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัตินี้ โดยได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคประชาธิปัตย์แล้ว วันนี้จึงต้องมาทวงถามว่าเมื่อไรจะมีการเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯเสียที ซึ่งมีหนังสือยื่นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ปรันสังคมฯ และช่วยทวงถามรัฐบาลแทนภาคประชาชน ส่วนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อให้เสนอบรรจุร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯเข้าสู่การพิจารณาให้สภารับหลักการ และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ให้มีการติดตามแทนแรงงานด้วย "อยากให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้เข้าสู่การประชุมสภาเพื่อรับหลักการก่อนปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติวันที่ 18 เมษายนนี้ จากนั้นจะเข้าสู่การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ ซึ่งก็สามารรถที่จะมีการนำร่างพ.ร.บ.ข้องรัฐฐาล หรือฝ่ายค้านมาประกบ ช่วยกันพิจารณาร่างร่วมกันได้ " การเสนอกฎหมายของภาคประชาชนนั้น กระทำภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีความมั่นคงทางสังคม และหลักประกันทางสังคม ซึ่งถือว่า เป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงประกันสังคมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ"
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทางเครือข่ายแรงงานจึงนำเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันระยะเวลาการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ ก่อนจะปิดสมัยการประชุมในวันที่ 18 เมษายน 2555 นี้

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินออกมารับหนังสือ พร้อมกล่าวต่อผู้ใช้แรงงานว่า "มีความยินดี และรับปากพร้อมที่จะทวงถามแทนผู้ใช้แรงงาน และประชาชนที่ได้มีการลงลายมือชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับนี้ต่อรัฐบาล หากรัฐบาลมีความจริงใจจริงอย่างที่กล่าว ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้เข้าสภาเพื่อพิจารณารับรองได้เลย และทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านยินดี และสนับสนุน พร้อมที่จะนำร่างที่ลงชื่อ 20 ส.ส.เสนอประกบเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์"
 
ส่วนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาได้มอบหมายให้นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล รับหนังสือแทน และกล่าวว่า "ทางรัฐบาลมีความจริงใจต่อผู้ใช้แรงงาน และจะนำข้อเสนอของแรงงานเสนอต่อรัฐสภา โดยขอรับรองว่า หนังสือของผู้ใช้แรงงานจะไม่เป็นเพียงเศษกระดาษ จดหมายฉบับนี้จะไม่ถูกทิ้งแน่นอน อย่างไรก็ตามรัฐบาลขอรับไว้ และจะนำมาพิจารณาอย่างแน่นอนวันนี้ได้รับทราบแล้วว่า ทางกระทรวงแรงงานได้มีการนำส่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่.. พ.ศ. …. รอการพิจารณาคณะรัฐมนตรีแล้วไม่ช้าคงได้นำเข้าสู่วาระพิจารณาแน่นอน"
 
ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เดินทางออกมารับหนังสือ และว่า ได้เห็นปัญหาแรงงานตอนนี้มีหลากเรื่อง ทั้งปัญหาผลกระทบหลังน้ำท่วม ประเด็นถูกเลิกจ้างและไม่ถูกเลิกจ้าง ที่มีผู้ใช้แรงงานเดินทางไปร้องที่กระทรวงแรงงานก็บ่อย สิ่งที่กลัวคือ การที่ข่าวปัญหาแรงงานการเดินขบวนประท้วงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน อยากให้มาพูดคุยกัน
 
วันนี้แม้ว่า "ขบวนแรงงานจะเดินมาถึงรัฐสภาผู้แทนราษฎรก็ยินดี รับหนังสือข้อเรียกร้องไว้ที่จะให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ อย่างไรคงต้องมีการพูดคุยกันบ้าง เพื่อหาทางแก้ไข ตอนนี้มีหลายเรื่องที่กระทรวงแรงงานต้องแก้ปัญหา ทั้งกรณีการล่อลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ค่าหัวคิว กรณีผลกระทบน้ำท่วมปัญหาใหญ่ที่นายทุนยังไม่วางใจเป็นต้น"
 

ต่อมาทางผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งรัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสมัยนี้ ว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการ รวมถึงระบบการรองรับเพื่อให้แรงงานได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามสิทธิพื้นฐานภายใต้ระบบประกันสังคม ยังไม่เอื้อให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมต่อแรงงาน แม้ระบบประกันสังคมไทยจะดำเนินงานมากว่า 21 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้อง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน กล่าวคือ 
1. กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย
2. สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
3. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
4. การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนางานประกันสังคมเป็นประโยชน์แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และสังคมส่วนรวมมากที่สุด จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพสำนักงานประกันสังคมจากส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งไม่ใช่หน่วยราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการบริหารในรูปแบบราชการ และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารกองทุน มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมมากขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรในภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจึงได้ตรากฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ขึ้นมา
 
โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้
(1) เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 
(2) มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส มีกระบวนการและกลไกตรวจสอบการบริหารงานที่ชัดเจน โดยมีประธาน เลขาธิการ คณะกรรมการและผู้ทรงวุฒิชุดต่างๆมาจากการสรรหา มีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม 
(3) การขยายความคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างให้ครอบคลุมแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40
(4) บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล
(5) ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ, ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน
 
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
(1) สำนักงานประกันสังคมต้องมีการบริหารงานแบบอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
(2) การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมืออาชีพ
(3) เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม
(4) กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

(5) ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ                                
(6) ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย
(7) ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
(8) ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม
(9) ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์
(10) ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน และให้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเวลา 1 ปี
(11) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออก เงินสมทบ 2 เท่า 
(12) ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
(13) พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน   
(14) ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวการณ์จ้างงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ  เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงา
————————————————————————————————————-
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย