ผู้ป่วยร้อง ก. แรงงานไม่สนข้อเสนอเครือข่ายแรงงาน ดันคสรท.เคลื่อนก่อนประชาพิจารณ์

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เดือด กระทรวงแรงงาน ไม่แลเสียงข้างน้อย เร่งจัดประชาพิจารณ์เฉพาะกลุ่ม ปิดกั้นผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ เตรียมกำลังลงพื้นที่ 9 กลุ่ม จัดเสวนาหาทางออกร่วมก่อนเคลื่อนไหว 

ว่านนี้ (23ม.ค.54) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมโครงการเวทีทำความเข้าใจสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. สำหรับแกนนำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาแวดล้อมในการทำงาน หลังจากที่บังคับใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ได้มีการแต่ตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯซึ่งมีตัวแทนคือ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และนางสมบุญ สีคำดอกแค ผลยังมีปัญหาข้อโต้แย้ง ของเครือข่ายฯ คือสถาบันฯมีภารกิจในการค้นคว้าความรู้ทางวิชาการ การจำแนกแยกแยะปัญหา การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนการบูรณาการความรู้ คือ 1. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้องเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆที่ซับซ้อน สถาบันฯควรมีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนปัญหา ซึ่ง ตั้งเป็นศูนย์ เพื่อจะทำให้สถาบันฯเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์จริงข้อมูลสดไม่ใช่ข้อมูลจาการรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทางเดียว 2. ช่วยติดตามประสานงานการแก้ไขปัญหานั้นๆ 3. ให้แรงงานสามารถเข้าถึงการร้องทุกข์ได้ง่ายขึ้น 4. สถาบันฯช่วยทำหน้าที่ประสานงานกับกรมสวัสดิการฯ 5. จะทำให้สถาบันฯพัฒนาข้อเสนอแนะในการปรับปรุง ระเบียบกฎหมายรวมทั้งนโยบายความปลอดภัย ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน 6. สามารถทำวิจัยเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

ประเด็นต่อมา คือปัญหาคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ส่วนของเครือข่ายเสนอเรื่องของสัดส่วนของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯจำนวน 11 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร ต้องไม่ใช่ข้าราชการ 1 คน กรรมการโดยตำแหน่งจากข้าราชการ 2 คน กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทน ฝ่ายลูกจ้าง จำนวนฝ่ายละ 2 คน รวม 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ผู้อำนวยการสถาบันฯ 1 คน ซึ่งการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ได้เสนอคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลางสำหรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนตัวแทนจากนายจ้าง และลูกจ้างจำนวน 4 คน อาจใช้วิธีสรรหา เช่นเดียวกัน หรืออาจใช้การเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว คณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยภาครัฐ ไม่เห็นด้วย โดยในส่วนของการรับเรื่องราวร้องทุกข์เป็นงานที่ทางราชการมีการทำอยู่แล้ว และคณะกรรมการบริหารก็ยังคงความไม่เป็นอิสระจากข้าราชการ และเป็นการเลือกตั้งในส่วนของไตรภาคี โดยสหภาพแรงงานซึ่งเป็นรูปแบบเดิม

นางสมบุญ สีคำดอกแค ยังกล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญของสถาบันฯคือการเป็นองค์กรอิสระ และการทำหน้าที่ของสถาบันฯต้องสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานจริงๆ การที่กระทรวงแรงงานจะมีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานภายใต้ความไม่เห็นด้วยของเครือข่ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่มีการรับฟังแรงงานทุกกลุ่มเน้นเพียงกลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของแรงงานทั้งหมด เรื่องการขับเคลื่อนผลักดันข้อเสนอคงต้องให้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายนี้มาตลอดเป็นผู้ที่จะคิดว่าจะทำอย่างไร?ให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานได้รับการตอบสนอง

นายชาลี ลอยสูงประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานมีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯครั้งนี้ เป็นการประชาพิจารณ์แบบปิดกั้น เพราะการเปิดรับฟังความคิดเห็นต้องเปิดเวทีไปทำภาคของแรงงาน ไม่ควรเน้นเพียงสหภาพแรงงาน หรือสภาองค์การลูกจ้างซึ่งสภาส่วนใหญ่อยู่ที่สมุทรปราการ ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ยังมีแรงงานอีกกว่า 10 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสหภาพแรงงาน ทำไมรัฐจึงมองเพียงคนส่วนน้อยในระบบสหภาพเท่านั้นหรือเพราะสามารถที่จะควบคุมกำหนดได้

เรื่องสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน เป็นเรื่องใหญ่และสถาบันฯนี้ มีผลกระทบกลับแรงงานจำนวนมาก การประชาพิจารณ์เพียงคนกลุ่มเดียวหากผ่านมาก็ไม่ถือว่าเป็นความคิดเห็นของแรงงานทุกกลุ่ม ในการขับเคลื่อนของแรงงานก็ต้องชัดว่า เราต้องการประชาธิปไตย การเลือกตั้งต้องมีส่วนร่วมของแรงงานโดยตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตย ของคนกลุ่มเดียว ในฐานองค์กรนำแรงงานอยากตั้งคำถามต่อการบริหารกระทรวงแรงงานว่า การเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายแรงงานเป็นเรื่องดี แต่การปฏิบัติที่เลือกจัด การไม่ฟังเสียงคนส่วนน้อยของคณะอนุกรรมการฯ แม้ว่าข้อเสนอนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ใช้อำนาจในการกำหนด อันนี้เป็นอำนาจราชการที่ล้าสมัย อยากให้ตรองให้ดี เรื่องการจัดประชาพิจารณ์ควรทำกับแรงงานทั้งประเทศทุกภูมิภาค และมาสรุปในส่วนกลาง และการเข้าร่วมต้องเป็นแรงงาน ไม่ใช้การส่งหนังสือให้ผู้บริหารบริษัทเลือกส่งคนเข้าร่วม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาได้ว่า รัฐจัดแบบกินรวบ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน

ทั้งนี้ในส่วนของคสรท.ในช่วงนี้ให้ลงพื้นที่ 9 กลุ่มทำความเข้าใจก่อนกำหนดเคลื่อนไหวร่วมกัน โดยจะมีการประชุม จัดเสวนา หาทางออก และกำหนดท่าทีต่อกระทรวงแรงงาน ในการประชาพิจารณ์ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง กล่าวว่า อย่างไรกระทรวงแรงงานก็ประชาพิจารณ์ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯฉบับนี้อย่าสงแน่นอน แม้ว่าจะมีเสียงไม่เห็นด้วยจากผู้ใช้แรงงาน เพราะนี้คือความคิดของเขาที่ต้องการดำรงซึ่งอำนาจของราชการไว้ อะไรที่แตกต่างจะไม่ถูกนำมาเขียนไว้อย่างแน่นอน การที่จะเข้าร่วมประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 หรือไม่จึงไม่กระทบอะไรกระทรวงแรงงาน ขบวนการแรงงานจะต้องชัดเจนว่า สิ่งที่กระทรวงทำวันนี้ คือไม่สนใจว่าชีวิตของแรงงานที่ได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จะรับรู้หรือไม่ และมีส่วนร่วมอย่างไร กระทรวงเห็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่คุมอยู่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต้องทำให้สังคม ผู้ใช้แรงงานได้รู้ว่า กฎมายฉบับนี้ไม่ชอบธรรม และการที่ออกมาแบบผิดรูปจะส่งผลร้ายต่อแรงงาน หรือแม้แต่ที่มีการขับเคลื่อนจนได้กฎหมายมาก็ไม่ได้ส่งผลเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใช้แรงงานไปกว่าเดิม

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน