ปชป.รับฟังปัญหาแรงงาน พร้อมช่วยผลักดันกฎหมายสำคัญ

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรับฟังปํญหาจากผู้นำแรงงาน  รับปากพร้อมช่วยดันรัฐบาลพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม อนุสัญญาองค์ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และช่วยดูกฎหมายแรงงานที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แรงงานนอกระบบโอด รัฐบาลหยุดสมทบประกันสังคม ม.40 หวั่นกองทุนล้ม

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหนาพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการพรรค นายไพฑูรย์ แก้วทอง      อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประสานงานเชิญ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย น.ส.สงวน ขุนทรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่  นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์  นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และ นาย มงคล  วรรณสุทธิ์ ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สภาฯ เพื่อเข้าร่วมรับประทานอาหาร และรับฟังปัญหาของผู้ใช้แรงงาน พร้อมข้อเสนอด้านนโยบายแรงงาน ที่ร้านอาหารไซน่าเพลส ถนนพระราม 6

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาแรงงานที่ผ่านมาโดยรวมว่า ตั้งแต่มีการยุบสภาพรรคการเมืองต่างๆได้มีการหาเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยที่เล็งเห็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นฐานคะแนนเสียง ซึ่งนโยบายที่โดนใจผู้ใช้แรงงาน คือเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดสวัสดิการให้กับคนยากคนจน นี้คือความหวังของคนส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้แรงงานมีความหวัง ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วันนี้ผ่านการเลือกตั้งได้รัฐบาลเพื่อไทยที่มีนโยบายโดนใจผู้ใช้แรงงานที่กล้าที่จะเสนอนโยบายประชานิยม ทั้งค่าจ้าง 300 บาท รับจำนำข้าว การจัดสวัสดิการ เบี้ยยังชีพคนชราฯลฯ แต่พอถึงเวลากลับบิดเบี้ยวนโยบายไม่ทำตามสัญญา

ปีที่ผ่านมาแรงงานต้องทุกข์หนักกับน้ำที่หลากท่วมนิคมอุตสาหกรรม โรงงานที่เป็นความหวังในการที่จะทำให้มีรายได้ต้องปิด ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง เลิกจ้าง หรือกดดันให้ลาออก รัฐมีมาตรการที่ลงมาดูแลเพียงนายจ้างที่เห็นชัด ส่วนแรงงาน ยังให้แนวทางนายจ้างจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 เงินช่วยเหลือนายจ้างที่ร่วมมือว่าจะไม่เลิกจ้างแรงงาน 3 เดือน คนละ 2,000 บาท โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ลดเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งปัญหาคือ ดูแล้วมาตรการไหนช่วยแรงงาน รวมทั้งช่วงน้ำท่วมแรงงานไม่ได้รับการดูแลจากท้องถิ่นด้วยถูกมองเป็นประชากรแฝง ไม่มีทะเบียนบ้าน อันนี้ถ้ามีการกำหนดให้แรงงานอยู่ที่ไหนเลือกตั้งที่นั้นจะทำให้ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมืองในพื้นที่นั้น แล้วยังมีปัญหาของเรื่องข้อเสนอแรงงานที่ค้างค่าอยู่ คือ ร่างกฎหมายประกันสังคม ร่างกฎมายจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย แรงงานสัมพันธ์ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง มาตรการการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมอาเซียน ร่วมทั้งยังมีเรื่องของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่ตั้งอยู่ถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องผู้ใช้แรงงานไทย ถือเป็นประโยชน์ในการให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของแรงงาน ที่มีนักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในสถานที่ตั้ง ตั้งแต่มีแนวคิดเรื่องการสร้างแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งจะให้ผู้นำแรงงานช่วยกันสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นการหารือร่วมกัน

นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีการพบปะผู้นำแรงงานในครั้งนี้ เป็นการพูดคุย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการทำงานฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เองก็ต้องดูและทบทวนตนเองในการทำงานร่วมกับประชาชน องค์กรแรงงาน ซึ่งจะมีการจัดพูดคุยกันเป็นระยะ รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆด้วย การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานโยบายพรรคถือว่าเป็นการทำงานที่ต้องการให้เป็นนโยบายที่ทำได้จริง แม้แต่เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 25% หากมาดูการปรับขึ้นค่าจ้างของรัฐบาลภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต่าง ยิ่งมีการมาปรับ 300 บาท แต่ให้มีการไม่ปรับขึ้น 2-3 ปี อันนี้ถือว่าไม่สมควรเมื่อเรานำเสนอนโยบายต้องยืนบนฐานที่ทำได้ หากรู้ว่าทำไม่ได้จะต้องไม่หลอกประชาชน แต่ก็ต้องเห็นใจ เพราะปัญหาที่ไม่ยอมนำนโยบายที่รัฐบาลชุดก่อนมาทำต่อ ต้องหาแนวทางเสนอใหม่ เช่นการรับจำนำข้าว กับประกันราคาข้าว และยังมีเรื่องนำนโยบาย 30 บาทกลับมาอีก ถามว่ารักษาฟรีมาเก็บเงิน 30 บาทจะได้เงินเท่าไร ปัญหาน้ำท่วม การที่จะนำเงินมาจ่ายให้แรงงานโดยตรงคนละ 2,000 บาทคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

คิดว่า ควรมีการพิจารณาแก้กฎหมายประกันสังคมกรณีประกันการว่างงาน ให้สอดคล้องว่าการที่ประสบปัญหาภัยพิบัติไม่มีรายได้ ทำงานไม่ได้จะถือว่าเป็นการว่างงานนำเงินมาจ่ายชดเชยการชาดรายได้ได้หรือไม่ เรื่องร่างกฎหมายแรงงานต่างๆ ที่ยังต้องให้พรรคสนับสนุนก็ให้ผู้นำแรงงานเสนอมา ทั้งการส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมาธิการกฎหมายฉบับไหนก็ให้บอกมา ทางพรรคยินดี หน้าเสียดายในส่วนของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ประกันสังคมมาตรา 40 ที่รัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้มีการดำเนินงานต่อ พรรคเองก็เสียดายที่ไม่ได้ทำให้เกิดการคุ้มครองมากกว่านี้ ยังมีเรื่องที่เป็นประโยชน์เช่นเรื่องโฉนดชุมชน การประกันราคาข้าวฯลฯ ที่เสนอไว้ แต่รัฐบาลชุดนี้พยายาม บิดเรื่องชื่อ และไม่ทำต่อ

ในส่วนของผู้นำแรงงานได้ร่วมกันนำเสนอสภาพปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ในปีที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอ โดยสรุปได้ดังนี้

1. เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ ตอนนี้คนงานเกิดความไม่มั่นใจเพราะมีการบิดเบือนรวมถึงการตั้งเงื่อนไขต่างๆ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จากวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประกอบการ นำร่องปรับขึ้นค่าจ้าง300 บาทแค่ 7 จังหวัด โดยให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 39.5% ใน 70 จังหวัด และจะปรับขั้น 300 บาทให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม เท่ากับรัฐบาลเปิดช่องว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอีกเป็นเวลา 2-3 ปี คณะกรรมการสมานฉันท์ฯมีความเห็นว่าค่าจ้างต้องมีการปรับขึ้นทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอให้มีโครงสร้างค่าจ้าง หรือควรมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นระบบขั้นบันไดตามอายุงาน เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการปรับค่าจ้างประจำปี อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าจ้างในเดือนเมษายน 2555 มีแนวโน้มว่านโยบายดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นจริง ซึ่งทางฝ่ายแรงงานก็จะมีการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด ร่วมถึงการฟ้องร้องกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย คิดว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังจุดชนวนระเบิดกับผู้ใช้แรงงาน กรณีคนงานที่รู้สึกถึงความผิดหวังที่รัฐบาลไม่ทำตามนโยบาย และคนงานที่ทำงานมานานกับคนงานที่เข้าใหม่จะมีค่าจ้างที่เท่ากัน เพราะนายจ้างบ้างที่ไม่มีการปรับค่าจ้างส่วนต่างตามอายุงานให้ เนื่องจากไม่มีสหภาพแรงงานที่ทำหน้าที่ในการต่อรองส่วนต่างค่าจ้างให้ ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์จะลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็น และรณรงค์กับคนงานเรื่องนโยบายแรงงานของรัฐบาล รวมถึงเรื่องค่าจ้าง 300 บาทด้วย

2. เรื่องการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ98 และ ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งเรื่องถึงประธานรัฐสภา เพื่อนำเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เรื่องสิทธิในการจัดตั้งและเจรจาต่อรอง เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 7 แต่คณะรัฐมนตรีได้ขอถอนเรื่องออกจากระเบียบวาระการประชุม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อลงนามรับรอง แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสู่รัฐบาลภายใต้การพรรคเพื่อไทยอนุสัญญาฯ ดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองและกระทรวงแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนหลักการเหตุผลใหม่ทั้งหมด

ข้อเสนอของแรงงาน คือ อยากให้พรรคฝ่ายค้านช่วยผลักดันอนุสัญญาดังกล่าวให้ได้รับการรับรองให้เร็วที่สุด เพราะจะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และเกี่ยวข้องกับการกฎหมายพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518ที่มีการใช้อยู่ปัจจุบันก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งขบวนการแรงงานได้มีการร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เพื่อให้สอดคล้องในทางปฏิบัติขึ้นใหม่ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็มีการร่าง และแก้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เช่นกัน ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ คงต้องให้ทางพรรคช่วยให้การสนับสนุนทวงถาม และติดตามความคืบหน้า เพราะทั้งอนุสัญญา และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน

3. ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับของผู้ใช้แรงงาน ที่ล่าลายมือชื่อ14,00กว่าชื่อเสนอ สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เซ็นรับรองไว้ก่อนยุบสภา ขณะนี้ได้เข้าไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาเป็นวาระเร่งด่วนพร้อมกับกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอกว่า 20 ฉบับ แต่ยังไม่มีการพิจารณา ต้องมีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ของรัฐบาลเสนอประกบถึงจะมีการพิจารณาได้ ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เสนอแนวทางในการเคลื่อนไหว คือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะเสนอความเห็นต่อสภาเพื่อให้เร่งพิจารณากฎหมายที่ประชาชนเสนอ และการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการพิจารณา โดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายฉบับอื่นมาประกบ เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือรัฐบาลชุดนี้ จะสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอิสระ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ของรัฐบาลเพื่อส่งมาประกบอยู่ ซึ่งสงสัยว่าทำไม่ไม่นำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่แล้วของกระทรวงแรงงานมาประกบ ทำไมต้องปรับหรือเขียนใหม่ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลา

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานฯ กล่าวว่า กรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 แบบที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท (ประชาชนจ่าย 70 บาท/เดือน รัฐบาลจะร่วมจ่ายในปีแรก 30 บาท/เดือน) จะได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี คือ 1.  กรณีจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อมีการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป 2.  กรณีทุพพลภาพ 3.  กรณีเสียชีวิต และ แบบที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท (ประชาชนจ่าย 100 บาท/เดือน รัฐบาลจะร่วมจ่ายในปีแรก 50 บาท/เดือน) จะได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี คือ 1.  กรณีจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อมีการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป 2.  กรณีทุพพลภาพ 3.  กรณีเสียชีวิต 4.  กรณีชราภาพ ***หากผู้ประกันตน เลือกชำระเงินสมทบในทางเลือกที่ 2 คือ จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน จะมีการคุ้มครองกรณีบำเหน็จชราภาพ

ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบที่เข้าไปเป็นผู้ประกันตนกว่า 5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกประกันแบบที่ 2  แต่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ส่วนใหญ่ต้องการสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ และการจ่ายเงินสมทบ แรงงานนอกระบบผลักดันให้รัฐจ่ายเงินสมทบกึ่งหนึ่ง แต่กฎหมายที่ออกมาเป็นไม่เกินกึ่งหนึ่ง และการเลือกตั้งที่ใช้ระบบไตรภาคีซึ่งจะอิงการรวมตัวของสหภาพแรงงาน ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพราะแรงงานนอกระบบไม่มีสหภาพแรงงาน และการสมทบของรัฐบาล เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไปรัฐบาลเพื่อไทยมา ตอนนี้ไม่มีการส่งสมทบในส่วนรัฐบาลแล้ว ซึ่งหวั่นใจเหมือนกันกลัวกองทุนจะไม่เติบโต และอยู่ไม่ได้ล้มหากไม่มีแรงงานสมัครเพิ่มเข้ามา แต่ก็พยายามรณรงค์กับสมาชิกให้เข้าระบบให้มากที่สุด

ส่วนระบบบำนาญชราภาพ ก็ได้เพียงบำเหน็จชราภาพ แรงงานนอกระบบตอนนี้ที่เข้าไปก็อยากได้สวัสดิการ เมื่อเข้าไปสู่ระบบกับไม่คอบคลุม แถมยังต้องจ่ายเงินให้ร้านสะดวกซื้อเดือนละ 10 บาทเพื่อส่งเงินสมทบ     เรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 หลังประกาศบังคับใช้ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ อย่างกรณีที่แรงงานนอกระบบประสบภัยน้ำท่วม เครื่องมือทำมาหากินต้องเสียหายหมด รัฐบาลก็ไม่มีมาตรการที่ช่วยให้เห็นเป็นรูปธรรม ปัญหาแรงงานนอกระบบตอนนี้มีมาก แต่ไม่มีใครสนใจ

4. เรื่องผลกระทบต่อแรงงานจากสถานการณ์น้ำท่วม จากสถานการณ์น้ำท่วมมีคนงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง และไม่ได้รับค่าจ้างจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเนื่องจากเกิดผลกระทบในสายการผลิต มาตรการการช่วยเหลือของรัฐไม่เป็นจริงโดยเฉพาะเรื่องโครงการเพื่อช่วยเพื่อน และการจ่ายเงิน 2,000 บาท มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม 1 ปี ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนายจ้างมากกว่าคนงาน กรณีการเลิกจ้างคนงาน นายจ้างฉวยโอกาสไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย แต่ที่น่าสังเกตคือมีการเสนอให้ลูกจ้างสมัครใจลาออกจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย แทนการเลิกจ้าง อันนี้หมายความว่ายังไง เพื่อไม่ให้มีตัวเลขการเลิกจ้างสูงใช่หรือไม่ และการแก้ปัญหาแรงงานของรัฐคือ คนงานต้องไปเขียนใบคำร้อง 7 การจ่ายค่าจ้าง 75% กระทรวงแรงงานก็ไม่สามารถบังคับให้นายจ้างจ่ายได้ ถึงแม่ว่าจะเงินสมทบ 2,000 บาท ก็ตาม ในส่วนของแรงงานนอกระบบไม่มีมาตรการการช่วยเหลือที่ชัดเจน  

ข้อเสนอ คือ 1. ต้องมีมาตรการช่วยเหลือคนงานที่ถูกเลิกจ้าง และควบคุมตรวจสอบสถานประกอบการไม่ให้มีการเลิกจ้างโดยอ้างสถานการณ์น้ำท่วม 2. มีกองทุนให้แรงงานกู้ยืมและช่วยเหลือเรื่องการชำระหนี้ 3. มีกองทุนประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างคนงาน 4. มีมาตรการในการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะเรื่องความสูญเสียของอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย 5. ประมวลปัญหาแรงงานที่ได้รับผลกระทบเสนอต่อรัฐสภา     

5. เรื่องสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ หลังจากที่พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่ผ่านในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมีผลบังคับใช้ ตอนนี้เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ยังค้างอยู่ในขั้นตอนของการร่าง พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งในฝ่ายแรงงานมีประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว 2 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้แรงงานโดยตรง แต่ฝ่ายราชการเห็นว่า จะซ้ำซ้อนกับการทำงานกระทรวงแรงงาน 2. เรื่องการบริหารและดำเนินงานคือที่มาของกรรมการ สถาบันฯ ซึ่งกำหนดให้สัดส่วนตัวแทนของลูกจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยอิงระบบไตรภาคี ในส่วนผู้ใช้แรงงานเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยใช้ระบบ 1 คน 1 เสียง เพื่อเลือกตัวแทนคนงานเข้าไป  ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวกับสิทธิในการเลือกตั้งของคนงานเนื่องจากที่ผ่านมา แรงงานที่ย้ายถิ่นฐานมาสู่โรงงานถูกมองเป็นประชากรแฝงมาโดยตลอด เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6. เรื่องที่ตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานที่คับแคบไม่เพียงพอต่อการรองรับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของแรงงานได้มากนัก จึงให้พรรคฯ สนับสนุนเรื่องการติดตามความมั่นคงในสถานที่ และการขยายพื้นที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป ให้สมฐานะที่เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในอาเซียนขณะนี้

ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังนี้

1. ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งเมื่อได้เป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องทำให้นโยบายเป็นจริง หากรัฐบาลทำแบบนี้พรรคการเมืองต่างๆมองว่า หาเสียงนโยบายอะไรก็ได้ไม่ต้องรับผิดชอบ พอเป็นรัฐบาลก็เขียนนโยบายอีกแบบ อันนี้น่าสนใจร้องกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ แต่ตอนนี้ก็มีคนร้องกกต.หลายเรื่อง อย่างไร รัฐบาลไม่ควรอ้างปัญหาอื่นๆเพราะรัฐต้องหามาตรการเข้ามาดูแลทั้งแรงงาน และสถานประกอบการให้อยู่ได้ แรงงานมีอยู่กว่าครึ่งประเทศและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลชุดนี้กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน โดยเฉพาะยังมีปัญหาของคนพิการรัฐบาลควรมีมาตรการในการส่งเสริมให้เขาอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ภาคธุรกิจออกมาเรียกร้องไม่ให้ปรับค่าจ้าง และขู่จะย้ายฐานการผลิต แต่ไม่ใช่เหตุที่จะมาอ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพราะกลัวทุนย้ายสถานประกอบการ ในความเป็นจริงหากนายทุนเขาจะย้ายก็ต้องย้าย การที่ทุกจังหวัดค่าจ้างเท่ากันหมด แรงงานข้ามชาติก็จ่ายตามกฎหมายแล้วจะย้ายไปจังหวัดไหน คำว่าย้ายข้ามประเทศ อันนี้ก็เป็นไปได้ ซึ่งเขาก็ย้ายไปแล้วบางส่วนในประเภทกิจการที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นต้น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง Honda Toyota ฯลฯ อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องจ่ายค่าจ้าง 300 บาท เนื่องจากค่าแรงสูงเกิน 300 บาทอยู่แล้ว แต่บริษัทผลิตชิ้นส่วน Sup contrac หรือธุรกิจ SME จะมีปัญหาบ้าง ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยภาคธุรกิจเอกชน ตอนนี้ที่รัฐบาลทำ คือ ลดค่าไฟฟรีที่กับประชาชนเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือภาคธุรกิจ

2. เรื่องการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ98 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พรรคฯพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องที่เคยทำไว้ในช่วงที่เป็นรัฐบาล ส่วนกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เมื่อศาลชี้ว่า ขัดก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ต้องมีการร่างหรือแก้กฎหมายขึ้นใหม่ ซึ่งทางพรรคฯ ยินดีที่จะให้ทีมงานช่วยเหลือดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ และพร้อมหากจะให้ส่งตัวแทนแรงงานเข้าเป็นกรรมาธิการในฐานะตัวแทนพรรค

 3. ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับของผู้ใช้แรงงาน ความจริงแล้วการพิจารณากฎหมายในสภาไม่ต้องรอให้มีร่างกฎหมายมาประกบก็สามารถพิจารณาได้ แต่หน่วยงานหรือกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบคงไม่ยอม เรื่องผู้ใช้แรงงานนี้ควรจะผลักดันไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และวิปรัฐบาล เพื่อให้เร่งการพิจารณา ตอนนี้รัฐบาลก็เสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในพื้นที่ภัยพิบัติ 1 ปี ซึ่งเห็นว่าระยะเวลานานเกินไป ทั้งนี้การลดจ่ายเงินสมทบจะลดในส่วนของรัฐบาลด้วยเป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท พรรคฯไม่เห็นด้วยและรัฐบาลควรเร่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และส่วนเรื่องการสนับสนุนข้อเสนอผู้ใช้แรงงาน พรรคมอบหมายให้คุณนคร มาฉิม และสามารถติดตามงานที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส่วนประเด็นแรงงานนอกระบบ พรรคเองก็จะติดตามเรื่องให้ นี้ก็เป็นปัญหาที่คาดไม่ถึงว่ารัฐบาลนี้จะละเลยเรื่องแรงงาน ไม่ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพราะแรงงานนอกระบบถือว่าเป็นคนส่วนส่วนใหญ่ แต่ขบวนการแรงงานก็ต้องมีการขยับผลักดันด้วย ทางพรรคจะได้หยิบยกขึ้นมาทวงถาม

4. ผลกระทบต่อแรงงานจากสถานการณ์น้ำท่วม พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า เรื่องการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในส่วนของประกันสังคม จะเสนอให้มีการแก้ไขนิยามในกฎหมายประกันสังคม เรื่องการการจ่ายค่าชดเชยการว่างงานในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ โดยไม่ต้องมีการเลิกจ้าง ในส่วนของการเลกจ้างคนงาน คิดว่าบริษัทใหญ่ๆ ไม่อยากเลิกจ้างคนงาน ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้คุณนคร มาฉิม ที่ได้รับการมอบหมายจากพรรคฯ รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาและข้อเสนอต่างๆ เพื่อประมวลและเสนอให้มีการแก้ไขต่อไป

5. เรื่องสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ เป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามและผลักดันมาตลอด ในส่วนของการเลืองตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ของแรงงาน มองว่าเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณในหารบริหารงานพื้นที่ พื้นที่ที่มีประชากรแฝงจำนวนมากรัฐท้องถิ่นก็ต้องแบกรับภาระสูง ซึ่งความเป็นจริงมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทย กฎหมายทะเบียนราษฎร์ที่กำหนดให้มีการแจ้งผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้าน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เป็นจริง อันนี้เห็นด้วยว่า ผู้ใช้แรงงานทำงานอยู่พื้นที่ไหนควรมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้น แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้รูปแบบการบังคับใช้กฎหมายทะเบียนราษฎรหรือรูปแบบไหน?

6. เรื่องพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เรื่องนี้พรรคฯจะเข้าไปดูว่าเป็นที่ของหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบ และพื้นที่ที่จะขยายออกไปมีใครอาศัยอยู่หรือไม่ และจัดการอย่างไรกับคนที่อยู่บริเวณนั้น ให้มีการยอมรับ แบบมีส่วนร่วม

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า มีความยินดีที่จะสนับสนุนพี่น้องแรงงาน และนโยบายที่ได้ดำเนินการไว้สมัยที่เป็นรัฐบาลจะต้องมีการติดตาม แต่เรื่องที่น่าเสียดาย คือเรื่องที่เกิดจากรัฐบาลที่แล้วที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สานต่อหลายเรื่อง เช่น เรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งประเด็นเหล่านี้พรรคประชาธิปัตย์ก็จะติดตามและผลักดันต่อ ในส่วนของการรับฟังความเห็นของภาคประชาชน ได้มอบหมายให้คุณนคร มาฉิม ดูแลโดยตรง และในส่วนกฎหมายฉบับไหนที่คิดว่าผู้ใช้แรงงานจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ขอให้แจ้งมาได้ทางพรรคยินดีที่จะจัดสรรสัดส่วนให้กับตัวแทนได้เข้าไปเป็นกรรมการธิการในนามพรรค

วิไลพร จิตรประสาร  และวาสนา ลำดี รายงาน