เครือข่ายแรงงานแถลงขอรับบริจาคช่วยผู้ประสบภัย

แรงงาน แถลงเปิดรับบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม เบรกอย่าฉวยโอกาสเลิกจ้าง เบรกปรับค่าจ้าง 300 บาทคนละประเด็นอย่ามั่ว เห็นใจสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ย่ำรัฐบาลต้องช่วยเหลือ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างอย่างทั่วถึงไม่เหลือปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย  สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทั้งยังมีสภานายจ้างไทยสากล สภาองค์การนายจ้างไทยสากล สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ สภาองค์การนายจ้างอุตสาหการไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
 
นายชาลี  ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า จากกรณีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย อาทิ นครสวรรค์ ลพบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และมีน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จนมีผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 1.8 แสนคน อาทิ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อ.นครหลวง พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตามที่เป็นข่าวได้ทราบโดยทั่วกันนั้น เครือข่ายแรงงานฯได้
จัดประชุมร่วมกันและมีมติดังต่อไปนี้
 
1. พวกเราผู้ใช้แรงงานรู้สึกห่วงใยประชาชนที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานนอกระบบ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนจนเมือง และขอแสดงความเสียใจยังผู้ที่สูญเสียบ้านเรือนทรัพย์สิน รายได้ ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าสถานที่ประกอบการธุรกิจ ผู้บาดเจ็บ ตลอดจนผู้สูญหายและชีวิตของบุคคลในครอบครัว
 
2. พวกเราผู้ใช้แรงงานรู้สึกห่วงใยผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากการขาดรายได้ เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจำนวนมากยังชีพจากเงินเดือนรายวัน เงินล่วงเวลา และมีภาระค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ รวมทั้งขอแสดงความเสียใจต่อนายจ้างที่ต้องประสบปัญหาด้วยเช่นกัน 
 
3. รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า รวมทั้งมีมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ อาทิ นโยบายส่งเสริมการฟื้นฟูสถานประกอบการและการชดเชยรายได้แก่ผู้ใช้แรงงาน หากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็มีแนวโน้มว่าผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอาจจะถูกเลิกจ้างจากการปิดโรงงานของผู้ประกอบการ อันจะส่งผลสูญเสียต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
4. พวกเราผู้ใช้แรงงาน ในนามเครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วม จะระดมขอรับบริจาคอาหาร สิ่งของของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรืองบประมาณเพื่อจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็น ตามศูนย์แรงงานกลุ่มย่าน สหพันธ์แรงงาน และสมาพันธ์แรงงาน จำนวน 10 ศูนย์ ได้แก่
 
1) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 503/20 ถนนนิคมรถไฟ มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์/โทรสาร 02 2513170 
 
2) ศูนย์แรงงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านนิคมอุตสาหกรรมเวลโกร โทรศัพท์ 038 842921 084 5408778 ราเล่ อยู่เป็นสุข
 
3) กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เลขที่ 32 หมู่ 1 ถ. สุดบรรทัด ต. ตาลเดี่ยว อ. แก่งคอย จ. สระบุรี โทรศัพท์ 036 245441 บุญสม ทาวิจิตร
 
4) กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เลขที่ 120/46 หมู่ 3 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 โทรศัพท์ 038 337523 จรัล ก่อมขุนทด
 
5) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย – TEAM เลขที่ 1/446 หมู่ที่ 14 ซอยบางแสน 2 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 02 7078072 ยงยุทธ เม่นตะเภา
 
6) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เลขที่ 50/32  หมู่ 6  ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 โทรศัพท์ 02 8125277 ชนญาดา จันทร์แก้ว วิไลวรรณ แซ่เตีย
 
7) สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต เลขที่ 12/133 หมู่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 0815351764 วิจิตร ดาสันทัด
 
8)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เลขที่ 44 ซอยวิภาวดีรังสิต 11 นิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กทม. 10900 โทรศัพท์ 02 5378973 นายบุญมา ป๋งมา และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย โทรศํพท์ 025372116 
 
9) สหพันธ์แรงงานธนาคารสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 2252166 ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์
 
10) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนตร์แห่งประเทศไทย เลขที่ 1821-1822 ตลาดปู่เจ้าสมิงพราย หมู่ที่ 9 ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270 โทรศัพท์ 02 3862077 นายมานิตย์ พรหมกาลีกุล
 
5. เครือข่ายแรงงานจะนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ที่ได้รับบริจาคทั้งหมด ไปส่งมอบให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2554 โดยจะศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสพภัย (ศปภ.) จึงขอเชิญชวนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และประชาชน บริจาคช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานตามบัญชีชื่อ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 101-7-97864-2 ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่สีลม โทรศัพท์/โทรสาร 02 2513170
 
ลูกจ้างอยุธยาหวั่นนายจ้างเลิกจ้าง
 
นายจำลอง ชะบำรุง ทางกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยา และใกล้เคียง มีความกังวลเรื่องของคนงานที่น้ำท่วม และห่างไกล ไม่สามารถไปทำงานได้ ถึงแม้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานาจะมีการประกาศขอความร่วมมือให้นายจ้างต้องไม่เอาผิดกับคนงานที่บ้านน้ำท่วมและไม่สามารถเป็นทำงานได้ ให้นายจ้างไม่เอาผิด ไม่ถือว่าเป็นวันลางาน และได้รับค่าจ้าง เพราะคนงานที่ถูกน้ำท่วมมีความเดือดร้อนอยู่แล้วนั้น โดยความเป็นจริงเป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งไม่ใช้ประกาศที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งมีโรงงานอีกหลายแห่งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สั่งให้คนงานไปทำงานตามเดิม หากหยุดงานถือว่าเป็นการขาดงาน ซึ่งขณะนี้มีคนงานจำนวนมากไม่สามรถไปทำงานได้ตามคำสั่งของนายจ้างได้  
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวว่า ต่อประเด็นนายจ้างที่อาจมีการเลิกจ้างคนงานกว่าแสนคนนั้น อันนี้นายจ้างเองควรเห็นใจลูกจ้างด้วย เนื่องจากผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นลูกจ้างโดนทั้งบ้านเรือนเสียหาย และยังอาจต้องเสียงานอีกจะอยู่ได้อย่างไร เพราะคนงานส่วนใหญ่ถือว่า โรงงานเป็นบ้านที่ให้ค่าจ้าง ในการหล่อเลี้ยงชีวิต ฉะนั้นนายจ้างอย่างใจร้ายเลิกจ้างคนงาน หรือนายจ้างบางส่วนขออย่าฉวยโอกาสเลิกจ้างผู้นำแรงงาน ด้วยอ้างว่าเป็นภัยพิบัติน้ำท่วม
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่าภาวะวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ การที่องค์กรนายจ้างเข้ามาร่วมกับองค์กรลูกจ้างในการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือลูกจ้าง และประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ถือเป็นสิ่งที่ดี เข้าใจว่า สถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมมีความเดือดร้อนอยู่บ้าง รัฐบาลคงเข้าไปช่วยเหลือดูแลทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง อย่าให้มีความเหลื่อมล้ำเลือกปฏิบัติ เพราะนายจ้างอาจมีเรื่องของระบบประกันเข้ามารองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติแล้ว 
 
ลูกจ้างยานยนต์ เบรกนายจ้างอย่าฉวยโอกาส ปรับค่าจ้าง300 บาทคนละเรื่องกับน้ำท่วม หยุดซ้ำเติมลูกจ้าง
 
นายยงยุทธ เม่นตะเภา รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานเกษตรพันธสัญญา ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ใช้แต่ส่วนของภาคธุรกิจ และภาคส่วนของแรงงาน ประชาชนส่วนใหญ่ คงไม่มีระบบประกันภัยจากภัยพิบัติ รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งมาตรการต่างๆ ควรให้ส่วนผู้ใช้แรงงาน ตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ว่าความเดือดร้อนครั้งนี้ต้องการอะไร จะได้ช่วยได้ตรงประเด็น และขอให้นายจ้างที่ไม่ได้มีความเสียหายอย่าฉวยโอกาสใช้มาตรการลดต้นทุนด้วยการใช้มาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541สั่งให้หยุดงานชั่วคราวจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ ฉวยโอกาสในการเลิกจ้างลูกจ้าง ต้องช่วยกันหามาตรการเยียวยาดูแลกันและกัน ต้องถือว่าแรงงานเป็นผู้ที่ร่วมสร้างผลกำไรให้กับนายจ้างมานาน บริษัทแม่ต้องมาช่วยกันรับผิดชอบไม่ใช่ปล่อยให้ลูกจ้างมาแบกรับภาระเป็นผู้ที่ต้องถูกกระทำจากภัยธรรมชาติ และภัยจากนายจ้างฉวยโอกาสซ้ำเติมด้วยการใช้มาตรา 75 เพราะนายจ้างมีกำไรมาตลอด ในวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ เพราะนายจ้างเองมีประกัน แตจ่ลูกจ้างไม่มี หลังจากน้ำลดที่กังวลว่า จะมีการฉวยโอกาสเลิกจ้างแรงงาน สหภาพแรงงาน และมีการหยุดการปรับค่าจ้าง
300 บาท ถือเป็นการฉวยโอกาสเอาเปรียบพี่น้องแรงงานมากเกินไป ใครได้รับผลกระทบก็ว่าไปตามกรณี ไม่ใช่การเหมารวม
 
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลที่ออกมายอมรับว่าคาดการผิดในการที่จะช่วยกันป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเสียหายอย่างมาก ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจทั้งประเทศทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก แสดงว่าภัยพิบัติครั้งนี้สามารถป้องกันได้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่ประเด็นคือเป็นการผิดพลาดของผู้บริหารประเทศ แต่นายจ้างยังมีระบบต่างๆในการดูแลจากประกันภัยรัฐเองคงมีมาตรการทางภาษี แต่ในส่วนของลูกจ้างนั้นมีการพูดถึงน้อยมากมาตรการต่างที่ต้องให้ความช่วยเหลือควรต้องให้สามารถเข้าถึงได้จริง ตอนนี้คนงานกลัวตกงาน กลัวถูกเลิกจ้าง กลัวไม่มีเงินค่าจ้างมากิน ส่วนนายจ้างหาข้ออ้างมาเพื่อต้องการให้รัฐช่วยเหลืออีกทาง  การเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อประสานงานผู้ใช้แรงงาน เพื่อการส่งต่อ เป็นมาตรการเฉพาะหน้า รับบริจาคสิ่งของ มาตรการที่ 2 คือ การรับเรื่องร้องทุกข์พี่น้องแรงงาน และการรับเรื่องราวหลังจากน้ำลด 
 
                                    นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน