ภาคประชาชน 145 องค์กร แถลงพร้อมมอบนโยบาย 8 ส.ค. นี้

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 145 องค์กรเครือข่ายประชาชน ร่วมกันแถลงข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐบาล และเร่งรัดพิจารณากฎหมาย 9 ฉบับ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการ ณ สวนโมก พร้อมประกาศ จัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน นัดรวมขบวนกับเครือข่ายภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 กว่า 1,000 คน เพื่อเดินทางไปพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่รัฐสภา เพื่อทำการเสนอนโยบาย และทวงถามสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองต่างๆ ร่วมลงนามไว้

นโยบายประชาชน

ทำไมต้องมีนโยบายประชาชน

บนผืนแผ่นดินไทย คนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของประเทศ ครอบครองความร่ำรวย เกือบ 3 ใน 4 ขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น

แผ่นดินที่ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับเป็นแผ่นดินที่ความเหลื่อมล้ำสูงสุดติดอันดับโลก

จากความทุกข์ยากอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เห็นดาษดื่นเจนตา ปัญหาความยากจน ทั้งสิทธิและโอกาส ปัญหาการถูกกีดกันเข้าไม่ถึงทรัพยากรอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งที่ดินเพื่อทำกินและที่อยู่อาศัย การเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม ทั้งหลักประกันการศึกษาและสุขภาพ การถูกกดค่าจ้างแรงงานเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน การต้องแบกรับหนี้สินอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวและฉ้อฉล ต้องแบกรับกับผลกระทบจากมลภาวะอุตสาหกรรมเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศ และท้ายที่สุดคือการต้องถูกเบียดขับจากกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรม

บทเรียนจากการเลือกตั้งและไม่เลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมาตอกย้ำว่าปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข มีแต่รอวันปะทุ ภาคประชาชนจึงไม่อาจปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว และด้วยตระหนักในบทบาทของภาคประชาชนที่ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชน พัฒนาระบอบประชาธิปไตยทางตรงควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยตัวแทน เพื่อตรวจสอบนโยบายการบริหารจัดการประเทศของพรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามา เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน จึงรวมตัวกันเพื่อจัดทำนโยบายภาคประชาชนเสนอต่อรัฐบาล เสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเป็นนโยบายของประเทศและที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นเครื่องมือของประชาชนเองในการติดตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล

นโยบายเร่งด่วน 15 ประการ

1.  ปรับทิศทางการพัฒนาประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัยและทรัพยากร ธรรมชาติ และทบทวนการจัดทำผังประเทศไทย พ.ศ.2600 บนฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนด ตรวจสอบและตัดสินใจ

               1.1 ปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ และคณะกรรมการผังเมือง โดยให้มีกระบวนการสรรหาจากทุกภาคส่วนหยุดการกำหนดพื้นที่รองรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีความขัดแย้ง และผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตในผังเมืองทุกระดับให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดทำผัง และการตัดสินใจของคณะกรรมการ ผังเมืองทุกระดับ เพื่อการติดตามตรวจสอบ ให้มีการควบคุม การพัฒนาการใช้ที่ดินในช่วงที่ผังเมืองหมดอายุ และผังเมืองที่รอการประกาศใช้บังคับ

        1.2 ยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทะเลชายฝั่ง สภาพแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนภาคใต้

               1.3 ยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถาวร สำรองไฟฟ้าต้องไม่เกินร้อยละ 15 และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายใน 10 ปี และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า (DSM) ให้เป็นร้อยละ 15 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า

               1.4 ยกเลิกระบบจ่ายผลตอบแทนหรือประกันผลกำไรตามผลการลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) ให้แก่หน่วยงานด้านการไฟฟ้า และให้ใช้ระบบการกำกับดูแลตามผลงานและประสิทธิภาพ (Performance-based Regulation) แทน

               1.5 สนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์โดยใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกโดยผ่านกลไกภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ

               1.6 กำหนดให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองด้านพลังงาน โดยสนับสนุนให้ชุมชนสามารถวางแผนการพัฒนาการผลิตของท้องถิ่นตัวเอง

               1.7 จัดการปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการด้านพลังงาน ด้วยการแก้ไขกฎหมายห้ามมิให้ข้าราชการระดับสูง เข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทธุรกิจพลังงานต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น

               1.8 ให้มีองค์กรอิสระเข้ามาบริหารจัดการ กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าโดยปราศจากการครอบงำของรัฐและองค์กรธุรกิจ และให้มีการ

ตรวจสอบโครงการที่มีการดำเนินการไปแล้วโดยภาคประชาชนทุกกระบวนการ

               1.9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามให้บริษัทปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นำท่อส่งก๊าซธรรมชาติและทรัพย์สินคืนแก่รัฐให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะท่อส่งก๊าซที่อยู่ในพื้นที่ทะเล

               1.10 ยกเลิกการจัดเก็บค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมด และให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตัดไฟฟ้า 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่มีการค้างชำระค่าไฟฟ้า 

2. ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัยและฐานทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการดิน แหล่งน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรแร่ ฯลฯ

               2.1 เร่งออกกฎหมายโฉนดชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อความโปร่งใส กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ และเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในที่ดินรัฐที่ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข

               2.2 จัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนธนาคารที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดินคือกองทุนหลักประกันการเข้าถึงที่ดินของคนจนและคนไร้ที่ดินทั่วประเทศ ส่วนกองทุนที่ดินชุมชนคือกองทุนหลักประกันการคุ้มครองพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมตลอดไป โดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนธนาคารที่ดินปีละ 100,000 ล้านบาท

               2.3 จัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างกลไกและเงื่อนไขให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นจริง ควรมีการจัดเก็บภาษีที่ดินใน

อัตราที่ก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน ตามมูลค่าของที่ดิน และตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

               2.4 จำกัดการถือครองที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดินคือการสร้างบรรทัดฐานความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยข้อเท็จจริงของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ว่า เกษตรกรไทยจำนวนมากกำลังประสบกับสภาวะการสูญเสียที่ดินทำกิน การจำกัดการถือครองที่ดินในสังคมไทย จะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดิน ทิศทางการพัฒนาและการเติบโตของภาคเกษตรกรรมที่คำนึงถึงการดำรงอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในภาคเกษตรกรรมไทย

               2.5 ให้มีองค์กรอิสระพิจารณาการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

               2.6 ให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ ที่กรมศาสนา และที่วัด เป็นต้น โดยให้เช่าในอัตราต่ำ   ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน

               2.7 คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเป็นแหล่งผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร

               2.8 ให้ทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำระหว่างประเทศ

               2.9 ชะลอโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เช่น กรณีโครงการโขง เลย ชี มูล

               2.10 ให้มีการประเมินโครงการเขื่อนที่สร้างไปแล้วทุกเขื่อน รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น

               2.11 ส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็ก และกระจายไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่นตามศักยภาพพื้นที่

               2.12 ยกเลิกสัมปทานและให้มีกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพลเมือง

3. ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นและจังหวัด จัดการตนเอง และมีอิสระในการจัดเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณโดย

               3.1 แก้ไข พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน (พ.ศ.2551) เพิ่มบทบาทภาคประชาชนให้สภาองค์กรชุมชนมีความเป็นอิสระ มีงบประมาณจ่ายตรงถึงสภาองค์กรชุมชน มีสำนักงานบริหารของตนเอง

               3.2 จัดตั้ง “สภาประชาสังคมระดับชาติ” ทำหน้าที่ติดตามนโยบายรัฐ โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการของรัฐสภา และองค์กรอิสระในการต่อต้านทุจริต และองค์กรด้านการพัฒนาส่งเสริมภาคประชาชน

               3.3 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น – ในรูปแบบ “ท้องถิ่น/จังหวัด จัดการตนเอง”

               3.4 จัดตั้ง “คณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ” เป็นองค์กรบริหารสูงสุดขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ราชการส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ “กำกับดูแล” เพื่อส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอิสระในการเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณ

               3.5 ให้ชุมชนมีหน้าที่ร่วมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่น

               3.6 จัดตั้ง “คณะกรรมการประชาสังคมท้องถิ่น” ทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่น และประสานงาน กับหน่วยราชการ รับรองสิทธิกลุ่มชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเอง

               3.7 บังคับใช้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ให้กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ให้แก่องค์กรภาคประชาชน เพื่อใช้ในกิจการสาธารณะขององค์กรประชาชน และองค์กรชุมชน

               3.8 ลดบทบาทส่วนราชการภูมิภาค ให้ทำหน้าที่กำกับดูแลท้องถิ่น

               3.9 ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

               3.10 ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีท้องถิ่นและราชการส่วนกลางอุดหนุนงบประมาณให้เพียงพอ

4.  ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้คนในสังคม

               4.1 ยกเลิกและทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น พ.ร.ก. การบริหารราชการฉุกเฉิน 2548 กฎอัยการศึก เป็นต้น

               4.2 คุ้มครองแกนนำชาวบ้าน จากผู้มีอิทธิพลในกรณีที่เกิดข้อพิพาทไม่ว่ากับหน่วยงานรัฐหรือภาคธุรกิจ 

               4.3 ปฏิรูปกระบวนการพิจารณาคดี โดยนำระบบการไต่สวน มาบังคับใช้ตามสภาพแห่งคดี

               4.4 ยกเลิกคดีพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีคนจนด้านที่ดิน ทรัพยากรและการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เกิดจากปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลามเป็นคดีความขึ้นทั่วประเทศ

5.  ปฏิรูประบบเกษตรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร กำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศ โดยลดต้นทุนการผลิต ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งระบบ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการตลาดและสร้างอำนาจต่อรองร่วมกัน กำหนดทิศทาง แผนผังการพัฒนา กำหนดราคาผลผลิต และสร้างกลไกคุ้มครองผลผลิตด้วยตนเอง ปรับปรุงและพัฒนากลไกต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและสร้างกลไกใหม่ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและสัมพันธ์อันดีกับผู้บริโภคผ่านระบบการตลาดและการค้าที่เป็นธรรม

               5.1   กำหนดให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศ พัฒนากลไกใหม่ที่มีสถานะทางกฎหมายในการส่งเสริม และพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนอย่างเป็นระบบ เชื่อมประสานและบูรณาการงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้นโยบายการเงิน การคลังและมาตรการทางภาษีมาสนับสนุน

               5.2 ยกเลิกการนำเข้าและใช้สารเคมีการเกษตรที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังทุกชนิด ลดการใช้สารเคมีทั้งระบบ รวมถึงการมีมาตรการทางภาษีเพื่อให้การใช้สารเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

               5.3 คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในการเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ทรัพยากร พันธุกรรมและปัจจัยการผลิต โดยต้องได้รับการประกันและคุ้มครองฐานทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานของความมั่นคงทางอาหาร และรักษาวิถีวัฒนธรรมของชุมชน กิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรมและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

               5.4 ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการตลาดและสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันกำหนดราคาผลผลิต และสร้างกลไกคุ้มครองผลผลิตของตนเอง

               5.5 แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดย

               –  จัดการหนี้สินเกษตรกรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบด้วยกลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ

               –  ยุติกระบวนการทางกฎหมายทุกกรณีที่จะทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกิน และใช้กระบวนการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาจนที่ดินกลับมาสู่มือของเกษตรกรในที่สุด

               –  บูรณาการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวข้องกับแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ  รวมทั้งการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้าด้วยกันให้เป็นเอกภาพ และให้ความสำคัญกับองค์กรเกษตรกรเป็นสำคัญในการบริหารจัดการ

               –  จัดสวัสดิการเกษตรกร เช่น การปลดหนี้เกษตรกรในกรณีเป็นผู้สูงอายุ ตาย พิการ ฯลฯ  โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ หรือออกกฎหมายรองรับใหม่

               5.6 ปกป้องที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายสืบทรัพย์ กฎหมายล้มละลาย กฎหมายส่วนต่างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้คงค้าง (เอ็นพีแอล)

               5.7 ให้มีระบบประกันความเสี่ยง ประกันภัยผลผลิตการเกษตร และประ กันราคาผลผลิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นความเสี่ยงจากนโยบายการส่งเสริมของรัฐและภัยธรรมชาติ รวมถึงการสร้างหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตขั้นต่ำให้กับเกษตรกรรายย่อย

6.  พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีอยู่หลายระบบให้มีสิทธิประโยชน์การรักษา พยาบาลมาตรฐานเดียวกันของทุกคน รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล

               6.1 ปรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น รักษาทุกโรค รักษาทุกคน ไม่เรียกเก็บเงิน 30 บาทที่จุดบริการ แต่พัฒนาระบบร่วมจ่ายในรูปแบบอื่นๆ เพราะในอดีตการเก็บเงินที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการมีผลกระทบต่อคนจนที่สุดมากกว่าเนื่องจากกลไกการค้นหาคนจนขาดประสิทธิภาพการค้นหาและให้สิทธิกับคนจน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์มานานจากโครงการบัตรรายได้น้อยซึ่งพบว่ามีปัญหาด้านความครอบคลุมและความตรงในการออกบัตรมาตลอด[1],[2]  จนที่สุดคนจนที่สุดมักขาดโอกาส และการเรียกเก็บเงินที่หน่วยบริการไม่ได้ป้องกันการใช้บริการเกินจำเป็นเพราะคนจนมีค่าใช้จ่ายอื่นๆจำนวนมากในการไปรับบริการแต่ละครั้ง ทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาต้องลางาน ขาดงาน ค่าเสียโอกาสทำงาน ดังนั้นการยกเลิกเก็บ 30 บาทจึงส่งผลดีต่อคนจนมากกว่า

               6.2 แรงงานที่เป็นลูกจ้างในกฎหมายประกันสังคม ไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพให้กองทุนประกัน สังคมอีกต่อไป โดยนำเอาส่วนที่จ่ายแต่ละเดือนไปเพิ่มเป็นส่วนบำนาญชราภาพในกองทุนประกันสังคมแทน ควรผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมดูแลสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับแรงงาน เช่น บำนาญชราภาพ การชดเชยขาดรายได้ การประกันรายได้เมื่อว่างงาน การชดเชยทุพพลภาพ เป็นต้น

               6.3 ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้สอดคล้องกับระบบอื่น ๆ และป้องกันการใช้ยาฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

               6.4 พัฒนาระบบสิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มคนพิการทุกประเภทและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคทาลัสซีเมีย โรคฮีโมฟรีเรีย โรคไต  โรคเอดส์  โรคจิตเวช ให้มีมาตรฐาน ทั่วถึงและเป็นธรรม

               6.5 จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ และบุคคลากรด้านสุขภาพ ทั้งการฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพอย่างเป็นระบบ

 7.  สร้างหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี ปรับเปลี่ยนกองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนหลักประกันการศึกษาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุน และปลอดดอกเบี้ยในการกู้ยืม

               7.1 ปรับเปลี่ยนจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหลักประกันการศึกษา ให้ทุกคนเข้าถึงกองทุน รวมทั้งมีการออกแบบการใช้ คืนเงินกู้ที่ไม่ใช่การบังคับให้เริ่มใช้คืนในปีที่สองหลังจบการศึกษา แต่ให้ยืดหยุ่นตามสภาพการมีงานทำ การมีรายได้พอจ่ายภาษี จึงเริ่มจ่ายคืนกองทุน

               7.2 หลักประกันในการได้รับการศึกษาอย่างเป็นธรรม โดยมีหลักในการบริหารจัดการการศึกษาที่เอื้ออำนวยการได้รับการศึกษาให้แก่บุคคลที่พิการด้านต่างๆ ประชาชนกลุ่มเปาะบาง โดยให้มีการเพิ่มเติมระเบียบการบริหารจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่ผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ให้พัฒนาหลักในการบริหารจัดการศึกษาที่เอื้ออำนวยการได้รับการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ และแรงงงานทั้งในและนอกระบบ และผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติด้วย

               7.3 สนับสนุนการจัดการตนเองด้านการศึกษา การให้อำนาจจัดการศึกษาโดยชุมชน องค์กรประชาสังคม เพื่อให้เกิดการศึกษาทางเลือก การศึกษาในชุมชน ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชน

               7.4 พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน

               7.5 แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวงและระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารและจัดการศึกษาชุมชน

               7.6 สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการบริหารการจัดการศึกษาของชุมชน

               7.7 สร้างและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

               7.8 สืบสานภูมปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น

               7.9 จัดให้มีหลักสูตรสถานศึกษาที่มีการบูรณาการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

8.           ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม และปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีและสนับสนุนการประกันรายได้ค่าแรงงานขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ในอัตรา 421 บาท เท่ากันทั้งประเทศ โดย พบว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพรายวันของคนงาน 5,162.40 บาท และค่าใช้จ่ายรายเดือน 7,468.22 บาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 12,630.62 บาท (คสรท. ปี 2552) ดังนั้นแรงงานจึงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ421.02 บาท

               8.1 การนำเอาแนวคิดเรื่องอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมมาปรับใช้กับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ประชากรในวัยทำงานกลุ่มอื่น ๆ เช่น แรงงานนอกระบบ เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา ผู้ผลิตเพื่อขาย หาบเร่แผงลอย และอาชีพอิสระอื่น ๆ

               8.2 การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้

               8.3 พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค

               8.4 จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ คณะกรรมการยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะต้องคำนึงถึงสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

               8.5 การปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงาน โดยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียวกัน เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 

9.  สนับสนุนและพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน โดยการเร่งผลักดันร่างกฎหมายองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ

               9.1 เร่งให้มีการออกกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนของรัฐสภาและอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ให้สามารถเดินหน้าพิจารณาต่อได้อย่างทันที 

               9.2 การสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจนในการทำงานขององค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร  

               9.3 การปรับปรุงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้ม ครองผู้บริโภคให้มีสัดส่วนผู้แทนผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

               9.4 การขยายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ปี พ.ศ. 2522 แก้ไขปี พ.ศ. 2541 ให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ และยกมาตรฐานให้เท่าเทียมกับสิทธิของผู้บริโภคในต่างประเทศ

10.          หลักประกันการมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ของกลุ่มประชากรเปราะบาง

กลุ่มประชากรเปราะบาง หมายถึง กลุ่มประชากรที่มีเงื่อนไขหรือปัจจัยบางประการ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงโอกาสและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึง เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน แรงงานข้ามชาติภาคบริการและการก่อสร้าง รวมถึงผู้ที่สังคมเรียกว่าผู้ด้อยโอกาสด้วยเงื่อนไขอื่น

               10.1 การเพิ่มงบประมาณให้กองทุนตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพื่อจัดสวัสดิการทางสังคม สิ่งอำนวยความสะดวก รับประกันการดำรงชีวิต การส่งเสริมศักยภาพ คือ กองทุนตามกฎหมายกองทุนเด็ก กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนผู้พิการ

               10.2        จัดสรรเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลให้มีสัดส่วนมาสมทบเพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนดูแลกลุ่มเปราะบางตามข้อ 10.1

               10.3        สนับสนุนการเคารพสิทธิของเด็ก เยาวชน ในทุกมิติทั้งด้าน เพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางเพศ และสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ ความเท่าเทียมทางเพศ

11.         จัดตั้งกลไกระดับชาติในการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย ที่เป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

               11.1 ผลักดันร่างพ.ร.บ. การเลือกปฏิบัติว่าด้วยเพศสภาพ

               11.2 สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงและส่งเสริมโอกาสของผู้หญิงในการเข้าถึง      สวัสดิการทางสังคม การศึกษา บริการสาธารณสุข เป็นต้น

               11.3 ขจัดความความรุนแรง การค้ามนุษย์ ที่กระทำต่อเด็ก และสตรี

               11.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมิตรต่อผู้หญิงและต่อการคุ้มครองเหยื่อผู้ประสบความรุนแรง

12.         หลักประกันยามชราภาพ เปลี่ยนจาก “เบี้ยยังชีพ” เป็นบำนาญพื้นฐาน ทันที เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของผู้สูงอายุทั้งในปัจจุบันและอนาคต ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำนาญที่หลากหลาย และการออกแบบบำนาญแต่ละระบบก็ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงใดรับผิดชอบดูแล แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันก็ตาม ข้อเสนอในการจัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นดังนี้

               12.1 ตั้งกองทุนบำนาญชราภาพพื้นฐาน แทนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายรายเดือนให้ผู้สูงอายุทุกคนเป็นบำนาญชราภาพพื้นฐาน ควรได้รับที่ระดับเส้นความยากจน ทั้งนี้เพื่อให้ยังชีพได้ และสามารถมีรายได้เข้าไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติได้ด้วย

               12.2 ปรับกฎหมายการออมแห่งชาติ โดยปรับให้เป็นการออมแบบบังคับ มีการกำหนดอัตราเงินสมทบที่แน่นอน เพื่อให้มีผลตอบ แทนสูงได้จริงเมื่ออายุครบ 60 ปีในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า ให้ได้รับบำนาญที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และควรเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมออมในกองทุนนี้ได้ไม่ควรกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป

               12.3 จัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ โดยบูรณาการกองทุนบำนาญชราภาพขั้นพื้นฐาน กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคมในส่วนบำนาญ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ

               12.4 บูรณาการแนวคิดระบบบำนาญที่คล้ายๆ กัน เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเดียวกัน เช่น การออมแบบสมัครใจของประกันสังคม ตาม ม. 40 กับ กองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) โดยให้การออมแบบสมัครใจของประกันสังคม ตาม ม.40 เป็นสวัสดิการชดเชยรายได้ให้กับทุกคน และให้เรื่องชราภาพเป็นการจัดการโดยระบบบำนาญแห่งชาติ

13.          เร่งรัดนโยบายและมาตรการการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง

               13.1 สานต่อนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง โดยอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งงบอุดหนุนเรื่องที่ดิน การสร้างบ้าน และงบพัฒนาสาธารณูปโภค

               13.2 โครงการที่อยู่อาศัยคนจน ให้การไฟฟ้า และการประปา มีหน้าที่จัดหาสาธารณูปโภคให้ โดยไม่คิดงบประมาณลงทุนเพิ่ม และในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการให้คิดค่าบริการน้ำ ไฟ ในอัตราปกติ

               13.3 อุดหนุนงบประมาณรายปี เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน   เช่น ไฟไหม้ ถูกไล่รื้อ และถูกภัยพิบัติ เพื่อใช้ปลูกบ้านพักชั่วคราว น้ำ/ไฟ การโยกย้าย เป็นต้น

               13.4 โครงการพัฒนาที่กระทบเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องคำนวณงบประมาณการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นต้นทุนของโครงการด้วย และต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำหนด แนวทางการแก้ปัญหา

               13.5 ให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ และที่กรมศาสนา และที่วัด เป็นต้น โดยให้เช่าในอัตราต่ำ ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน

               13.6 ให้มีนโยบาย และกลไกในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างชัดเจน ในเรื่องที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ

               13.7 ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง ภาคประชาชน ฝ่ายการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง

14.  คนพิการทุกคนเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม

               14.1 พัฒนาระบบสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ ได้แก่ การบริการทางสุขภาพ การสนับสนุนอุปกรณ์/เครื่องช่วยความพิการ ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา จากสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีมาตรฐานขั้นต่ำเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม

               14.2 พัฒนารายการอุปกรณ์/เครื่องช่วยความพิการที่จำเป็น และเหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละประเภทอย่างเพียงพอและครอบคลุม

               14.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านคนพิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนพิการ โดยการออกหรือปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านคนพิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาเป็นหน่วยร่วมจัดบริการสุขภาพสำหรับคนพิการ 

               14.4 ส่งเสริมและพัฒนาการจัดตั้งกองทุนดูแลคนพิการในระดับท้องถิ่น เช่น ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยการมีส่วนร่วมของตัวแทนคนพิการ โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ขอให้มีตัวแทนคนพิการเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อให้คนพิการได้รับการบริการทางสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เสมอภาคและเป็นธรรม

               14.5 สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านสุขภาพคนพิการ เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนางานด้านสุขภาพคนพิการ เช่น การบริการรักษา การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ

               14.6 เร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานบริการในทุกสังกัด รวมทั้งเร่งผลิตและกระจายกำลังบุคคลากรด้านสาธารณสุข เช่น นักกายภาพบำบัด นักกระตุ้นพัฒนาการ เป็นต้น ให้เพียงพอและเหมาะสม

               14.7 เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพของคนพิการ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

               14.8 ส่งเสริมและพัฒนาการจัดระบบบริการทางสุขภาพเพื่อให้คนพิการทุกประเภทเข้าถึงอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและเป็นธรรม เช่น การปรับปรุงอาคารและสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะให้เอื้อต่อคนพิการทุกประเภท การจัดระบบผู้ดูแล ผู้ช่วยคนพิการ อาสาสมัครเพื่อพาคนพิการเข้ารับบริการทางสุขภาพ การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่ผู้พิการทางหูเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ การจัดช่องทางด่วนสำหรับคนพิการเข้ารับบริการ รวมทั้งการจัดหน่วยบริการสุขภาพเชิงรุกลงพื้นที่ เป็นต้น

               14.9 จัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับคนพิการ โดยสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกันได้ระหว่างทุกหน่วยงาน

15.          เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สิทธิแห่งความเป็นพลเมืองไทยที่เท่าเทียม

               15.1  ให้รัฐบาลไทยปฏิบัติและมีมาตรการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิของชนเผ่าพื้น เมืองในประเทศไทย ตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์ระหว่างประเทศ  ประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม  อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ  อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้ง ให้เร่งดำเนินการศึกษา เพื่อลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 169 ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเอกราช และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

               15.2 ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยมีกฎหมายและมาตรการมารับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างชัดเจน ตามข้อเสนอข้างต้น โดยให้รัฐบาลไทย รับรองให้วันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนกิจกรรม และงบประมาณในการทำกิจกรรมรณรงค์อย่างพอเพียง ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ ซึ่งประกาศให้ปี 2548-2557 เป็นทศวรรษสากลครั้งที่สองของชนเผ่าพื้นเมืองโลก

               15.3 ขอเรียกร้องเชิงนโยบายให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยดังนี้

                       15.3.1 ข้อเสนอในเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง             

1)  ข้อเสนอในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

               (1) รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมสิทธิชุมชน ทั้งสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  รวมถึงรัฐต้องมีมาตรการทางนโยบายและกฎหมายรองรับในการบัญญัติระเบียบสิทธิชุมชนระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

               (2) รัฐต้องคืนสิทธิการจัดการทรัพยากรให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ด้วยการเร่งรัดออกกฎหมายโฉนดชุมชน เพื่อรับรองสิทธิการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน

               (3) รัฐต้องยกเลิกโครงการและนโยบายที่มีผลกระทบ และก่อความเสียหายแก่ชุมชนและท้องถิ่น 

2) ข้อเสนอเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลของชนเผ่าไร้สัญชาติ

               (1) ให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ได้รับสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

               (2) ให้รัฐบาลไทยพิจารณาเร่งรัดกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาการให้สถานะบุคคล  และเร่งรัดอนุมัติให้สถานะบุคคลแก่กลุ่มเป้าหมาย 4 ประเภท ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553

3) ข้อเสนอเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไร้สัญชาติและสิทธิ

               (1)  รัฐต้องให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ  ที่ได้รับการสำรวจไว้ในทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและกำลังรอการพิสูจน์สถานะบุคคลและลงรายการสัญชาติไทย

               (2) รัฐต้องให้การคุ้มครองสวัสดิการ  แรงงานสร้างหลักประกันสังคมตามกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศให้แก่กับชนเผ่าพื้นเมืองและแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลโดยให้ได้รับค่าแรงงานที่เป็นธรรมตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยคือ 421 บาทต่อวัน ต่อคนอย่างเท่าเทียมกันกับแรงงานไทย

4) ข้อเสนอทางสิทธิทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง

              1) รัฐต้องคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมโดยการกำหนด “เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ”ในพื้นที่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชนเผ่าให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่องแนวทางนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวทางนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ  ทั้งมาตรการฟื้นฟูระยะสั้นที่ต้องดำเนินการภายใน 6-12 เดือน และมาตรการฟื้นฟูระยะยาวดำเนินการภายใน 1-3 ปี ซึ่งจะต้องดำเนินการกับทุกชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง

               2) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้ง “สภาชนเผ่าชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

5) ข้อเสนอเรื่องการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์

               1) ส่งเสริมให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งในวัฒนธรรมชุมชน    ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา และการเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ด้วยการให้มีการศึกษาองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและการศึกษาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาภายในกลุ่มชาติพันธุ์ และให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของตนเอง และเกิดจิตสำนึกในหน้าที่ความเป็นพลเมืองไทย

6) ข้อเสนอกรณีเร่งด่วน

               6.1) ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยตามข้อเรียกร้องข้างต้น เราขอให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการจับกุมดำเนินคดี อพยพ รื้อย้าย จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้นจักแล้วเสร็จกรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้ว ให้ดำเนินการถอนฟ้องอย่างเป็นธรรม

กฎหมายที่ประชาชนจะมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง

กฎหมาย

ขั้นตอน

การมีส่วนร่วมของประชาชน

1. ร่างพ.ร.บ. องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ พ.ศ. ….

วุฒิสภา

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย

2. ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ….

รอพิจารณาของสภาผู้แทน ฯ

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย

3. ร่างพ.ร.บ. การเลือกปฏิบัติว่าด้วยเพศสภาพ พ.ศ. ….

รอพิจารณาของสภาผู้แทน ฯ

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย

4. จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการทำงาน พ.ศ. 2554

อนุกรรมการยกร่างสถาบันฯ กระทรวงแรงงาน

ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

5. ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับผู้ใช้แรงงาน 14,500 รายชื่อ)

รอพิจารณาของนายกรัฐมนตรีใหม่

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย??

6. ร่างพ.ร.บ. บำนาญประชาชน พ.ศ. ….

นายกรัฐมนตรีไม่ลงนาม

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย??

7. ร่าง พ.ร.บ. กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

นายกรัฐมนตรีไม่ลงนาม

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย??

8. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีชุดนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ผ่านร่างของกระทรวง พม. แล้วรอการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทน แต่ในร่างของ พม. มีหลายส่วนที่ต้องแก้ไข  เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ จึงจัดทำร่างภาคประชาชนอีกหนึ่งร่าง และอยู่ในระหว่างการรณรงค์ล่ารายชื่อ10,000 ชื่อ

10,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย

9. รัฐบาลต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสตรีที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากขึ้นและ กฎหมายบางฉบับที่ปิดกั้นสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อสตรีต้องมีการแก้ไข : ตัวอย่างกลุ่มกฎหมายที่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้และปิดกั้นสิทธิได้แก่

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์

กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก 

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 – การส่งเสริมสถานภาพทางกฎหมายของ “ภิกษุณี” เพื่อเติมเต็มพุทธบริษัท 4 ในประเทศไทย

รณรงค์ให้เกิดการแก้ไข

10,000 รายชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย

อ้างอิง

โครงการบัณฑิตศึกษาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รายงานโครงการวิจัยประเมินผล เรื่อง การจัดทำบัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2533 ม.ป.ท.

สุกัลยา คงสวัสดิ์, พิชญ์ รอดแสวง, สินิทธ์ โขนงนุช, และ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประสิทธิผลและกระบวนการออกบัตรด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยรอบ 6 (พ.ศ. 2541-2543) สำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี 2543

รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี  สิทธิความเป็นคนของผู้หญิง: พันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมายและข้อถกเถียง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

////////////////////////////////////////////////


[2]