ลูกจ้างสระบุรีเตรียมเฮ!มติเอกฉันท์ค่าจ้างปรับขึ้น หลังยื้อตัวเลขหาข้อยุติไม่ได้-ส่งค่าจ้างกลางพิจารณา

ประชุมอนุฯค่าจ้างสระบุรี มติลูกจ้าง เสนอปรับเพิ่มอีก 248 บาท/วัน-นายจ้างร้อง 5% ก็พอ! หลังถกเครียด หาข้อยุติไม่ได้ ส่งให้ส่วนกลางพิจารณาต่อ- ลูกจ้างมีเฮ ที่ประชุมสรุปชัด มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน!
 
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสระบุรี ณ ห้องประชุมทานตะวันชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสระบุรีโดยมีอนุกรรมการฯฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมประชุม โดยมีนายอุกริช พึ่งโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่สำคัญคือการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 
 
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาจากข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม แรงงาน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพ และผลสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในภาคอุตสาหกรรม พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรมีการปรับเพิ่มค่าจ้าง แต่ไม่สามารถหาตัวเลขที่เหมาะสมได้ โดยฝ่ายนายจ้างได้เสนอให้มีการปรับเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 บาท/วัน เป็น 203 บาท ส่วนผู้แทนฝ่ายลูกจ้างยืนยันตัวเลขที่ได้สำรวจโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คือ เพิ่มขึ้นอีกวันละ 248 บาท/วันรวมค่าจ้างขั้นต่ำสระบุรี 193 บาทเป็น 441 บาท และให้ส่งมติดังกล่าวไปยังคณะกรรมการค่าจ้างกลางต่อไป
 
นายบุญสม ทาวิจิตร ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า สิ่งที่ลูกจ้างได้เสนอในวันนี้คือค่าจ้างที่แท้จริงที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเรามองว่าการปรับค่าจ้างนั้นบริษัทก็ไม่ได้มี

ผลกระทบมากนัก ซึ่งวันนี้ฝ่ายนายจ้างก็ยอมรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่เรานำเสนอต่อทุกภาคส่วนคือการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและให้กำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจนก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เราเสนอยืนยันคือค่าจ้างขั้นต่ำต้องวันละ 441 บาท ส่วนจะได้รับการพิจารณาปรับเท่าใดนั้นก็อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง
 
ด้านนายสุขเกษม จึงทองดี ผู้แทนฝ่ายนายจ้างกล่าวว่า โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางนั้นจะไม่ส่งผลกระทบในการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากการจ้างงานในปัจจุบันนี้ก็มีการให้ค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือกลุ่มโรงงานขนาดเล็กหรือร้านโซห่วย อาจจะรับภาระค่าจ้างไม่ไหวและปิดตัวลงในที่สุดทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของจังหวัดด้วยเช่นกัน
 
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง ได้รวมตัวกันประมาณ 800 คน เดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเพื่อกดดันให้มีการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำซึ่งมีข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อ คือ 1. ขอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทั่วประเทศโดยให้มีคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงคณะเดียวในการพิจารณาอัตราค่าจ้าง 2. ขอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 441 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และ 3. ขอให้มีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจนตามอายุงานและประสบการณ์ทำงาน ทั้งนี้ต้องมีสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกำหนดโครงสร้างในทุกขั้นตอน
 
นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสระบุรี รายงาน