คสรท.บุก ก.แรงงาน ถามความคืบหน้ากรณีปัญหาลูกจ้างKFC และลูกจ้างอีก 2บริษัท

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)นำแรงงานเคเอฟซี คนงานฟูรูกาวา และคนงานอินดัสเตรียลแก๊ส (ทีไอจี) เข้าร่วมทวงถามการแก้ไขปัญหาจากรัฐ กรณีนายจ้างเลิกจ้างเนื่องการใช้สื่อ และเรียกร้องสวัสดิการ เจรจาไม่คืบ รัฐไม่คืบ เตรียมพร้อมรณรงค์ระดับสากล

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 ณ กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลง เรียกร้องให้เจ้ากระทรวงแรงงานและนักการเมือง สร้างความปรองดองระหว่างนายจ้าง KFC กับลูกจ้างอีก 2 บริษัทที่ถูกนายจ้างหาเหตุฟ้องหมิ่นประมาท
 
ในสว่นของคนงานเคเอฟซี นั้น นายชาลี ลอยสูง ประธานคุณกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า สืบเนื่องจาก พนักงานลูกจ้างเคเอฟซี (KFC) จำนวนหลายร้อยคนได้ร้องเรียนขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คสรท.) ซึ่งเป็นองค์การภาคประชาชนด้านแรงงาน ให้การปรึกษาและคุ้มครองสิทธิเนื่องจากพนักงาน/ลูกจ้างในเขตพื้นที่ประกอบร้านอาหารฟาสต์ฟุต จังหวัดกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และประทุมธานี จำนวน 260 คน จากพนักงาน/ลูกจ้างในเขตสถานประกอบการดังกล่าว 900 คน ได้รวมตัวกันลงลายมือชื่อ เรียกร้องต่อนายจ้าง KFC  บริษัทยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทยจำกัดซึ่งเป็นบริษัทนายจ้างข้ามชาติ จดทะเบียนในประเทศไทย โดยขอให้ปรับปรุงค่าจ้าง และสวัสดิการเพื่อความมั่นคง และสุขภาพอนามัยในการทำงานที่ดีกว่า แต่นายจ้างไม่พอใจ จึงหาสาเหตุเลิกจ้างพนักงาน/ลูกจ้าง จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้อง และคุกคามเสรีภาพของลูกจ้าง/พนักงานที่ลงลายมือชื่อเรียกร้อง เพื่อให้ลูกจ้าง/พนักงานถอนลายมือชื่อที่เรียกร้อง ในขณะเดียวก็ประกาศ ปรับปรุงค่าตอบแทน และสวัสดิการให้กับพนักงาน/ลูกจ้าง ซึ่งสภาพการจ้างดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเรียกร้องหลักๆของพนักงาน/ลูกจ้าง
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ประชุม วิเคราะห์ข้อเท็จจริง จึงสรุปและขอแถลงข่าวดังนี้
 
1) บริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจำกัดเป็นบริษัทนายจ้าง
ข้ามชาติ ของลูกจ้าง/พนักงาน KFC ประกอบธุรกิจได้กำไรสามารถส่งกลับบริษัทแม่ที่ประเทศอเมริกาอย่างต่อเนื่องและ     สามารถขยายสาขาในประเทศอีกหลายสาขา ไม่เคยมีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์แต่หลังจากบริษัทเปลี่ยนทีมเจ้าหน้าที่บริหาร การดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของพนักงาน/ลูกจ้างอย่างจริงใจ เยี่ยงเพื่อนร่วมงานที่มีความปรารถนาดีต่อกันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
 
2) เมื่อเป็นเช่นนั้น พนักงาน/ลูกจ้าง จำนวน 260 คน มีทางเลือกเดียวจึงใช้สิทธิรวมตัวกันเข้าชื่อ เสนอปัญหาความเดือดร้อนในการครองชีพและสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนและสร้างความเป็นธรรมในบริษัท ฯโดยคาดหวังว่าบริษัทนายจ้าง จะแต่งตั้งผู้แทนนายจ้างมาเจรจาพูดคุยตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่บริษัทนายจ้างไม่พอใจ จึงทุ่มเงินจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งมีทนายชื่อดังด้านพิฆาตสหภาพแรงงาน ผู้แทนบริษัทนายจ้างจึงปฏิเสธการตั้งผู้แทนเจรจา และรับข้อเรียกร้อง เพื่อบอกกล่าวเหตุผลให้ลูกจ้าง/พนักงานได้รับทราบ จึงเป็นเหตุให้ลูกจ้าง/พนักงาน นำปัญหาเดือดร้อนไปพบเจ้าพนักงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเรียกว่า “พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน” เพื่อเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้องที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ผลที่ได้รับ พนักงาน/ลูกจ้าง 3 คน ซึ่งเป็นแกนนำถูกเลิกจ้างโดยไม่สมเหตุสมผล และลูกจ้าง/พนักงานที่เข้าชื่อถูกคุกคามเสรีภาพ ให้ยกเลิกรายมือชื่อเพื่อทำให้ข้อพิพาทตกไป นายจ้างจึงไม่ต้องไปพบพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานที่กระทรวงแรงงาน
 
3) บนเส้นทางการขยายความขัดแย้งด้านแรงงานสัมพันธ์ระหว่างบริษัทนายจ้างกับกลุ่มลูกจ้าง/พนักงานที่เข้าชื่อเรียกร้อง ที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทนายจ้างวางไว้คือการค้าความในศาลแรงงาน ดังนั้นการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่กระทรวงแรงงาน ผู้แทนนายจ้างจึงไม่ให้ความร่วมมือ โดยไม่มาพบเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายแรงงานอย่างตรงไป ตรงมาหลังจากได้รับข้อพิพาทแรงงานจากคู่กรณี เพราะหลังจากเวลาผ่านไป 5 วัน ลูกจ้าง และนายจ้างจะใช้สิทธินัดหยุดงาน หรือปิดงานชั่วคราวได้โดยชอบด้วยกม. จึงมีโจทย์ที่ค้างคาใจลูกจ้าง ทำไมนายจ้างมีหนังสือแจ้งว่าข้อเรียกเรียกร้องไม่สมบูรณ์ พนักงานประนอมข้อพิพาทจึงเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยเลย  แต่เมื่อประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะเดินทางไปพบปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนบริษัทนายจ้างจึงยอมเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ ที่ปลัดกระทรวงแรงงานมอบหมายให้เจรจาขอความร่วมมือแก้ปัญหาแรงงานได้เพียงครั้งเดียว แต่เจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายก็ยังแนะนำลูกจ้าง/พนักงานใช้สิทธิร้องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่ออะไร
 
4) คสรท. ได้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายที่ปลัดกระทรวงมอบหมายให้แก้ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ แต่ก็ดูประนึ่งว่า บริษัทนายจ้างมีอิทธิพลเหนือเจ้าพนักงานตามกฎหมายของรัฐ โดยประมวลจากพฤติกรรม และการกระทำของบริษัทนายจ้าง ตั้งแต่การปฏิเสธการตอบรับหนังสือเชิญพบ และพนักงานประนอมข้อพิพาทยืดหยุ่นผ่อนปรน ภายในกรอบเวลา 5 วันแรกนับตั้งแต่ได้รับข้อพิพาทแรงงานจนเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้าง 3 แกนนำที่เรียกร้อง และวางเฉยต่อข้อมูลที่ลูกจ้าง/พนักงานรายงานให้ทราบว่า บริษัทนายจ้างคุกคามเสรีภาพโดยใช้อำนาจบริหารกดดันให้พนักงาน/ลูกจ้าง เค เอฟ ซี ที่เข้าชื่อเรียกร้อง ถอนหรือยกเลิกลายมือชื่อที่เรียกร้อง
 
5) คสรท. เห็นว่า การแก้ปัญหาแรงงานในยุคปัจจุบัน การค้าความในศาลแรงงานเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะขบวนการพิจารณาคดีในศาลแรงงานระยะเวลาไม่ต่างจากศาลแพ่ง และศาลอาญา ดังจะเห็นได้จากคดีบริษัทนายจ้างที่มีอิทธิพลทางการเมือง กับสหภาพแรงงานเพื่อชีวิตทรูใช้เวลานานถึงสามปีในศาลชั้นต้น ดังนั้นการแก้ปัญหาแรงงานจะให้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ต้องอาศัยเจ้ากระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจ มีอำนาจให้คุณ ให้โทษข้าราชการ
 
คสรท.จึงแถลงผ่านสื่อไปยังเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และนักการเมือง ที่อยู่ระหว่างหาเสียงแวะมาดูแลแก้ปัญหาแรงงาน  เค เอฟ ซี ซึ่งถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และลูกจ้าง ที่กำลังถูกคุกคามเสรีภาพในการรวมตัวกันเรียกร้อง และสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอาหารและบริการประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2554  จะช่วยกดดันให้นายจ้าง เค เอฟ ซี หยุดคุกคามเสรีภาพในการรวมตัวเรียกร้อง และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยมานั่งโต๊ะจับเข่าคุยกันกับผู้แทนลูกจ้าง/พนักงานฉันท์เพื่อนร่วมงานที่เป็นหุ้นส่วนในการทำงาน
 

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนงานอินดัสเตรียลแก๊ส (ทีไอจี) คดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน)(ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยระบุว่า มีการส่งอีเมลหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาล จ.สมุทรปราการเมื่อวันที่ 30 พ.ค.http://prachatai3.info/journal/2011/06/35405 และกรณีของคนงานฟูรูกาวา เม็ททัล ไทยแลนด์ ที่ถูกดำเนินนายจ้างฟ้องเรื่องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาhttps://voicelabour.org/?p=3919 ซึ้งได้มีการจัดร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และพูดคุยทวงถามกับตัวแทนกระทรวงแรงงาน ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่ได้รับคำตอบที่ยังไม่มีความคืบหน้า  ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยคงต้องร่วมกับทางคนงาน 3 บริษัทหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอีกครั้ง โดยอาจมีการรณรงค์ทั้งระดับสากลร่วมกับแงค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน