คสรท. แถลง 9 ข้อเสนอนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมือง

แรงงานเสนอนโยบายแรงงาน ด้านสวัสดิการ สิทธิขั้นพื้นฐาน ค่าจ้าง ประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน  การคุ้มครองสิทธิการรวมตัว เจรจาต่อรอง หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การดูแลแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียม  ด้านการเมืองขอสิทธิการเลือกตั้งส.ส.ส.ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย้ำนโยบายพรรคการเมืองไหนมีไว้ถูกใจผู้ใช้แรงงาน ได้คะแนนเสียงไป พร้อมเตรียมวิพากษ์หากไม่มี และพร้อมตรวจสอบหากมาเป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำ
 
เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานฯ นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารแรงงานเงินแห่งประเทศไทย และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมือง 
 
นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.แถลงว่า หลังจากมีการประกาศยุบสภาเพื่อการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่จะมาถึงนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับองค์กรสมาชิกกว่า 30 องค์กร ทำการร่างนโยบายแรงงานขึ้นเพื่อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปบรรจุเป็นนโยบาย ให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานโดยกำหนด เดินหน้ายื่นนโยบายพรรคการเมือง เพื่อสร้างสัญญาประชาคม และเตรียมจัดวิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง หากไม่มีส่วนข้อเสนอกำหนดไว้ พร้อมทำหน้าที่ ตรวจสอบพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง 
 
จากสถานการณ์ความยากจน ในประเทศไทยมีอัตราส่วนระหว่างรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุดร้อยละ 20 กับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 12-15 เท่า ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่าน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มลดลง   
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการเมือง ประชาชนในระดับรากหญ้าถูกจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง คนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างจำกัด ในขณะที่คนที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย มีโอกาสครอบครองทรัพยากรได้มากเท่าที่ต้องการ ดังจะเห็นได้จาก สิทธิการถือครองที่ดิน ป่าไม้ การแทรกแซงตลาด การผูกขาดทางธุรกิจ สัมปทาน การสร้างกติกาทางการเมืองที่เอื้อต่อคนที่มีรายได้สูง ปัญหาเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายและมาตรการของรัฐ มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง        
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานที่ประกอบด้วยองค์กร สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ และมีจำนวนสมาชิกประมาณ 283,000  คน ในฐานะองค์กรแรงงานที่ได้ติดตามปัญหาของผู้ใช้แรงงาน และนำเสนอแนวทางการแก้ไข ทั้งในระดับเฉพาะหน้า และเชิงนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานต่อพรรคการเมือง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติในสังคมรวม 9 ข้อ ดังนี้  
 
1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เนื่องจากเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับ และรับรองไว้ในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 183 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 จำนวน 150 ประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 จำนวน 160 ประเทศ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ 
 
อนุสัญญาหลักทั้งสองฉบับนี้ยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 64 ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น …” การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย
ปัญหาของแรงงานที่มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อการเจรจาต่อรอง ยังคงถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ คุกคามกลั่นแกล้งและเลิกจ้างมาตลอด ทำให้ลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรองด้านสวัสดิการ ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาล ชุดใหม่ที่เข้ามาต้องให้การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแจ้งจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 โดยทันที
 
2. แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากสภาพปัญหากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องต่อการรองรับสิทธิแรงงานที่ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิการรวมตัวเป็นองค์กร ทั้งแรงงานเอกชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จึงควรมีการปรับปรุงให้มีความส่งเสริมและสนับสนุน คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน
 
3. การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้
 
การประกันสังคม เป็นการให้หลักประกันทางสังคมในระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ประชาชนผู้มีรายได้แต่ละคนมีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัว หรือระหว่างผู้มีรายได้ในสังคมด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ ร่วมกันจ่ายเงินสมทบ
 
สำหรับระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย ระบบประกันสังคมไทยดำเนินงานมากว่า 20 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน 
ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้องหรือเท่าทันต่อสถานการณ์แรงงาน กล่าวคือ 
 
1)กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในภาคเกษตร หาบเร่แผงลอย และลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐและองค์การอิสระต่างๆ 
 
2) สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม 
 
3) การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน 
 
4) การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมในปัจจุบัน ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ, มีกลไกและกระบวนการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส, การขยายการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน การประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) และบัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล
 
4. ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปรับค่าจ้างประจำปี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพกับราคาสินค้าและบริการหรืออัตราเงินเฟ้อ 
 
ในปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน คนงานจึงต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ทั้งนี้ สถานประกอบการจำนวนมากกำหนดค่าจ้างโดยใช้เกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่มีการปรับค่าจ้างประจำปีที่เหมาะสมการเรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมโอกาสมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ ซึ่ง คสรท.ได้เรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ในอัตรา 421 บาท เท่ากันทั้งประเทศ โดยทำการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่อวันต่อคน และค่าใช้จ่ายรายเดือนของคนงานในการยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว ตั้งแต่ปี 2552 
 
5. พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค
 
ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติ ถือเป็นภารกิจของรัฐในการบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม 
 
กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากกิจการหลายประเภทเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่งคงปลอดภัยของประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าจะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ในการเข้าถึงและใช้บริการอย่างเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม หากปล่อยให้กิจการที่สำคัญเหล่านี้ไปอยู่ในมือของเอกชนที่มุ่งอยู่ที่การแสวงหากำไร จะทำให้บริการเหล่านั้นมีราคาแพงจนคนยากคนจนเข้าไม่ถึง สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม
 
6. สิทธิเลือกตั้งส.ส.,ส.ว.,องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่
 
การที่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอพยพจากภูมิลำเนา เข้ามาทำงานประกอบอาชีพในระบบราชการ ภาคเอกชนและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ แต่ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังพื้นที่เขตทำงานของตนเองได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น เจ้าของบ้านเช่าไม่ยินยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้าที่พัก ที่พักอาศัยที่สถานประกอบการหรือหน่วยงานจัดให้อยู่ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาได้ พิจารณาจากความเป็นจริง ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเหล่านี้คือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตนทำงาน จนอาจจะเรียกได้ว่าอยู่อาศัยอย่างถาวร แต่เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผู้บริหารระดับท้องถิ่น ผู้ใช้แรงงานต้องเดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในเขตภูมิลำเนา สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งภายในเขตพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่สถานประกอบการ ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่นไม่ตรงต่อความเป็นจริงการสนับสนุนให้คนทำงานมีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน จะทำให้เกิดดุลยภาพทางการเมืองและสังคม เนื่องจากคนงานที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่สถานประกอบการ จะได้รับสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิในการพัฒนา และผู้แทนประชาชนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เลือกตนเข้าไปทำหน้าที่แทน
 
7. จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัย อาชีวอนามัย การประสบอันตราย และการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงและการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในปี 2553 มีตัวเลขผู้ใช้แรงงานในระบบภาคอุตสาหกรรมจำนวน 146,511 ราย ที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 619 ราย หรือมีผู้ใช้แรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงานวันละ 2 คน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยต่อสารพิษสารเคมี เครื่องจักรที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน เสียชีวิตจากโรคจากสารเคมีและมลพิษในโรงงาน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้
 
ในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณามากขึ้นทั้งในระดับลูกจ้าง และนายจ้าง เนื่องจากความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการดูแลสิทธิของแรงงาน กระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 ก็ได้บรรจุบทบัญญัติมาตรา 44 เอาไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทางาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวการณ์ทำงาน จนในที่สุดขบวนการแรงงานได้ผลักดันพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นผลสำเร็จในปีพุทธศักราช 2554
 
ภายในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้มีสาระสำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องของคนงาน ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสิทธิและการทำงานในเชิงการป้องกัน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานนั้น จะต้องประกอบเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน 
 
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมป้องกันการแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัย โดยมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ในการติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัย ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐอย่างเพียงพอ และได้รับดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ที่มีสัดส่วน 11 คน แบ่งเป็น ประธาน 1 คน เป็นกรรมการฝ่ายลูกจ้าง 2 คน นายจ้าง 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ต้องมาจากการสรรหาและไม่ใช่ราชการที่มีเงินเดือนประจำ กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเลขานุการต้องได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสถาบัน)
 
8. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน จากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง
 
ในขณะที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากอุดหนุนการพัฒนาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งกลไกและหน่วยงานพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนแล้ว รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ และเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน โดยกองทุนประกันความเสี่ยงนี้จะมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างเป็นค่าชดเชย โดยกระทรวงแรงงานในฐานะผู้บริหารดูแลกองทุนฯ จะดำเนินการเรียกเก็บค่าชดเชยจากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเอง เพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุน
 
9. การคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ และสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
ในสถานการณ์ปัจจุบันการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจและธุรกิจมีการปรับตัว และปรับรูปแบบการดำเนินการต่างๆ การที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนการผลิต จนทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานในลักษณะเหมาค่าแรง การจ้างเหมาช่วง การกระจายหน่วยการผลิต จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการรับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งการรับแรงงานต่างชาติราคาถูกเข้ามาเป็นแรงงาน โดยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น
 
สถานการณ์การจ้างงานดังกล่าวขยายตัวไปทั่วทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานนอกระบบซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเจริญเติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากภาครัฐ และตกอยู่ในเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่นเดียวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ แม้จะมีการลงนามรับรองในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวไปแล้วก็ตาม จะพบว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากมีสภาพการจ้างงานที่เลวร้าย และการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและแรงงานทั่วไปยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 
 
เครือข่ายแรงงานนอกระบบเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และต้องขยายการคุ้มครองการบริการทางด้านสาธารณสุข ในรูปแบบของประกันสังคมให้มีความคุ้มครองถึงแรงงานทุกระบบอย่างทั่วถึง โดยได้รับมาตรฐานเดียวกันกับแรงงานในระบบและจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม
 
เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิแรงงานในประเทศนั้นในสายอาชีพเดียวกัน เพื่อรองรับการย้ายถิ่นในการทำงาน หรือการอพยพแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการร่วมตัวเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อให้มีการยอมรับและให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างรอบด้านแก่แรงงานข้ามชาติ การจัดทำข้อมูลกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติ  รวมทั้งข้อมูลเรื่องสภาพการทำงาน, ประเภทงาน, ข้อมูลให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการเข้าถึงบริการทางสังคม ในภาษาต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงได้ การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองแก่แรงงานหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิแรงงานหญิงเพื่อลดการคุกคามต่อผู้หญิงซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และถูกให้ออกจากงานเพราะการตั้งครรภ์
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะยื่นข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้บรรจุเป็นนโยบายของพรรคการเมือง และนโยบายของรัฐบาล โดยจะติดตามและผลักดันข้อเสนอนโยบายทั้ง 9 ข้อ อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคสรท. กล่าวว่า การนำเสนอนโยบายแรงงงานต่อพรรคการเมือง ก็เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองที่เสนอตัวมาเป็นรัฐบาลได้นำความต้องการของแรงงานไปบรรจุไว้เป็นนโยบายเพื่อปฏิบัติหลังได้รับการเลือกตั้ง การแก้ไขกฎหมายแรงงาน ข้อเสนอต่อการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มทั่วหน้า ทั้งสิทธิ และสวัสดิการ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างแท้จริงของแรงงาน
 
นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารฯกล่าวว่า นโยบายพรรคการเมืองที่มีการเปิดตัวกันบ้างแล้ว มีการเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน เป็นตัวเลขที่น่าสนใจหากเป็นเพียงค่าจ้างขั้นพื้นฐานแรกเข้าทำงาน แต่ตนคิดว่านโยบายที่นำเสนอเป็นกนโยบายลูกวาดมีสีสวย ที่กินไม่ได้ หากกินได้ก็ดี เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีการกำหนดโดยคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งมีการแบ่งอำนาจให้จังหวัดต่าง ซึ่งก็ไม่ได้มีอำนาจจริงในการเสนอปรับค่าจ้าง หากพรรคการเมืองเสนอนโยบายแล้ว ปฏิบัติไม่ได้จริง จึงเป็นลูกกวาดสีสวยแต่กินไม่ได้
 
นายยงยุทธ เม่นตะเภา  ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯกล่าวว่า ปัญหาแรงงานคือขาดการรวมตัว เจรจาต่อรอง เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้อต่อการรวมตัว เกิดปัญหาถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ ไม่ได้รับการปรับค่าจ้าง นายจ้างไม่จ่ายสวัสดิการ สิทธิขั้นพื้นฐานการรวมตัวเพื่อเป็นองค์กรตัวแทนแรงงาน ในการคุ้มครองสิทธิจึงมีความจำเป็น การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิการรวมตัว การเจรจาต่อรองจึงมีความสำคัญ และเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล่ำ ในการสร้างดุลอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงาน ให้นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมาตรฐานค่าครองชีพของแรงงานทุกวันนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน แรงงานยังต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อให้มีค่าจ้างที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และมีปัจจัย 4 เทียบเท่ากับมนุษย์คนอื่นๆ
 
การที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายการบริหารประเทศจึงเป็นที่จับตาของผู้ใช้แรงงานว่า ข้อเสนอพรรคใดมีนโยบายด้านแรงงานที่โดนใจบ้างเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และนโยบายนั้นต้องทำได้จริงไม่ใช่มาหลอกกัน ซึ่งเราในฐานะตัวแทนของผู้ใช้แรงงานจะเฝ้าจับตาดู และตรวจสอบการทำงานเป็นระยะ 
 
นักสื่อสารแรงงาน  โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน