คนงาน 2 บริษัทพักรอเจรจาคนงานฟูจิตสึมติสมทบร่วมอีก 1,000 กว่าคนวันนี้

10 วันแล้วที่ขบวนของคนงานเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนงาน ขบวนของคนงานเดินเท้าประมาณ 1,300 คนเข้ามาพักที่ บริษัทไม้อัดไทย จำกัด โดยการต้อนรับของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นอย่างดี ผู้แทนลูกจ้างเข้าเจรจาตัวแทนนายจ้างที่กระทรวงแรงงาน ไม่คืบ นายจ้างตัวจริงยังไม่เข้าเจรจา ส่งช็อทโน้ตคนนั่งอ่านในเวทีเจรจาแทนไร้อำนาจตัดสินใจ นัดเจรจาอีกครั่ง 16 ก.พ. ที่ปรึกษารมว.แรงงานฉุนเจรจาครั้งหน้าขอตัวจริงเสียงจริง

นายชัยรัตน์ บุษรา ประธานสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมการเจราจาร่วมกับ นายธานินทร์  ใจสมุทร นายพงศักดิ์  เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุวิทย์  สุมาลา ผู้อำนายการสำนักแรงงานสัมพันธ์ นายวีรศิลป์  คุณูปถัมภ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ ได้มีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างผู้แทนสหภาพแรงงานฯกับตัวแทนนายจ้างบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  มานั่งอ่านข้อเสนอที่บริษัทฯได้ยื่นต่อตัวแทนคนงาน เพื่อขอลดสวัสดิการ ดังนี้

1.  ตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ จำนวน 20 ข้อ บริษัทฯเสนอขอใช้สภาพการจ้างเดิม ( ปี 2009/ปี 2552)
2.  เบี้ยขยัน เริ่มต้นที่ 500 บาทต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็นอีกเดือนละ 100 บาท จนถึง 900 บาทต่อเดือน
3.  ขอเปลี่ยนสภาพการทำงาน เป็น 3 กะ (จากเดิมทำงานเพียง 2 กะ คือ 08.00 -20.00 น. และ 20.00-08.00 น.)
4.  ตามข้อเรียกร้องของบริษัทฯ จำนวน 4 ข้อ บริษัทฯเสนอให้ลูกจ้างเลือก 2 ข้อ ดังนี้
3.1  เบี้ยการผลิต (เหมือนเดิม)                                  3.2  อายุข้อตกลง 3 ปี
3.3  ค่าเช่าบ้านจาก 800 บาท เหลือ 600 บาท         3.4  ยกเลิกค่ารถแต่จัดรถบริการให้แทน

ข้อเสนอของบริษัทฯ (ประธาน) ในวันนี้ ถ้าไม่มีการตกลงในวันนี้ถือว่า ข้อเสนอนี้เป็นอันยกเลิก ซึ่งการเจรจาใดๆไม่เป็นผลเพราะตัวแทนบริษัทไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

นายพงศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าร่วมการเจรจาของทั้งส่วนคนงานแม็กซิส และพีซีบี ในการเจรจาก็มีการพูดคุยกันไปมากพอควร แต่ติดปัญหาที่นายจ้างตัวจริงไม่มาเจรจาด้วยตนเองทำให้ยังไม่สามารถตกลงได้ ในส่วนของท่าทีตัวแทนเจรจาทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง ในส่วนแม็กซิส เมื่อปี 2552 ก็มีการผู้คุยกันด้วยดีทั้งทีม แต่ตอนนี้อาจเป็นประเด็นปัญหาความไม่เข้าใจกัน ซึ่งคลาดว่าแก้ไขได้บนโต๊ะเจรจา ซึ่งอยากให้ในส่วนที่มีอำนาจตัดสินใจมาคุยกัน เช่นหากต้องการปรับสภาพการทำงาน ให้คนงานไปทำงาน 3 กะ ค่าจ้างจะจ่ายให้เขาอย่างไร เพราะเดิมคนงานมีรายได้กันร่วม 20,000 บาทต่อเดือน การปรับสภาพการทำงานใหม่ไม่ควรทำให้คนงานได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าเดิมนายจ้างเองก็ต้องตอบประเด็นนี้ด้วย เรื่องขอลดสวัสดิการคนงานการเจรจาส่วนนี้ต้องคุยกันในส่วนของผู้มีอำนาจตัดสินใจCEO ตัวจริงเสียงจริงมาคุยกัน

วันนี้คนงานได้หยุดพัก ร่วมกับองค์กรจัดกิจกรรมที่ทำร่วมกันตลอดทั้งวัน ทุกวัน “ทบทวน เรียนรู้ ปรับขบวนร่วมกัน”  ผู้นำแรงงานหลายท่านได้เข้าไปตามกลุ่มเพื่อชี้แจง ตอบข้อซักถามของคนงาน หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมสันทนาการ โดยมีการจัดแข่งขันฟุตบอล 7 คน ซึ่งให้คนงานส่งทีมเข้าแข่งขัน เป็นการผ่อนคลาย แบ่งกลุ่มจัดกิจกรรมกลุ่มทำงานร่วมกัน ทำอุปกรณ์ในการขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อใช้ในวันต่อไป

โดยคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคุณกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ประสานงานกับเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้นำหน่วยรถพยาบาลจากโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทยและโรงพยาบาลบางนามาบริการและอำนวยความสะดวกตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นให้กับคนงานทั้ง 2 บริษัท

ทุกวันช่วงหัวค่ำถึงดึกคนงานไดรับกำลังใจจากผู้นำแรงงานจากหลากหลายพื้นที่ทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานเอกชน ระดับแกนนำองค์กรแรงงาน นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ทั้งการระดมทุนมาสนับสนุนในการเคลื่อนไหว และมีการพูดคุยให้กำลังใจ ในการเดินเท้าอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของขบวนคนงาน รวมทั้งมีบทเพลงไพเราะจากกลุ่มนักดนตรีอิสระ ดนตรีแรงงาน ที่นำบทเพลงมาขับกล่อมให้คนงานได้ผ่อนคลายสลับกับการยืนยันเจตนารมณ์ จุดยืน ประสบการณ์ แนวทางต่อคนงานเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้กับสถานการณ์ของตนเองที่เป็นอยู่

เมื่อวันก่อนคุณกิมอัง  พงษ์นารายณ์ กลุ่มเกษตรกรและชาวนา ได้มาบอกเล่าสภาพปัญหาเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันว่า “คนแก่อายุมากขนาดนี้แล้ว ทำนาไม่ไหว ในตอนนี้กำลังจะถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ดิน ที่ทำกิน หลังจากที่เดินขบวนเสร็จสิ้นแล้วนั้น กลับบ้านไปคนแก่เข้าโรงพยาบาลหลายคน บางคนปวดขา บางคนเป็นโรคหัวใจ ชาวนามีอายุ 45-80 ปี วันนี้ปัญหาของชาวนากับปัญหาของแรงงานเป็นเรื่องเดียวกัน คือระบบทุน ชาวนาทำนาแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินกลับต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนา เช่า 1 ไร่ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าว 20 ถัง ก็ไม่ต่างจากปัญหาของแรงงาน

นักสื่อสารแรงงานสอบถามต่อว่า ลูกหลานถูกละเมิดสิทธิและตกงานมีผลกระทบกับกลุ่มเกษตรกรและชาวนาอย่างไร? “กระทบแน่นอน ลูกหลานส่วนใหญ่เป็นลูกของเกษตรกรและชาวนา เมื่อพ่อแม่ทำนาแล้วไม่มีเงินพอที่ใช้หนี้สิน ไม่พอสำหรับที่จะใช้จ่ายในครอบครัว ลูกก็ต้องออกมาหางานทำเพาะถ้าทำนาเหมือนพ่อแม่ก็จนเหมือนพ่อแม่ ลูกก็เข้ารับจ้างตามโรงงานในอุตสาหกรรมเป็นคนใช้แรงงาน เพาะต้องหาเงินมาช่วยเหลือพ่อแม่ ยามเจ็บป่วย หนี้สิน ล้วนต้องพึ่งเงินจากลูกทั้งสิ้น “แม่ชาวนา ลูกแรงงาน”” คุณกิมอังกล่าว

คุณกิมอังกล่าวต่ออีกว่า ประเด็นคนงานเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯครั้งนี้? “นานแล้วนะ การเดินเท้าเราจะได้คุยกับคนตลอดเส้นทาง มันเป็นการประชาสัมพันธ์ ทำให้สังคมรับรู้ความจริงที่เราถูกกระทำและละเมิดสิทธิ การถูกเอารัดเอาเปรียบ

รศ.ดร. ณรงค์  เพชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพที่คนงานแม็กซิส และคนงานพีซีบีเดินทางวันนี้ทำให้นึกถึงเมื่อปี 2517 อดีตมีคนงานทอผ้าสมุทรสาครที่เดินเท้ามาชุมนุมที่สนามหลวง เพื่อเรียกร้องปรับค่าจ้าง ซึ่งใช้เวลาเดินเท้า 7 วัน จากนั้นมาก็ไม่เคยเห็นคนงานเดินประท้วงอีกเลย แม้หลายอย่างจะเปลี่ยนแปลง นั้นคือ การถูกเอาลัดเอาเปรียบ คนงานสมัยใหม่ ไม่ค่อยอ่านหนังสือ การที่เราไม่อ่านหนังสือจึงตามนายจ้างไม่ทัน นายจ้างมีการฝึกอบรม มีการแนะนำจากที่ปรึกษานายจ้าง ว่าจะเลิกจ้างอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย “ไม่มีนักรบคนไหนที่จะชนะสงคราม ถ้าไม่ศึกษาสงคราม”

พร้อมทั้งยังมีคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ นายยงยุทธ เม่นตะเภา และพี่น้องสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่เข้ามาพูดคุยเยี่ยมเยือน พลัดเปลี่ยนกันมาทุกวัน ไม่นับพี่น้องผู้นำแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกที่อยู่โยงร่วมต่อสู้ด้วยกัน ทำให้กำลังใจของคนงานแม็กซิสและพีซีบี ยังคงแข็งแรง พร้อมเดินเท้าต่อ เพื่อหาความยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ คนงานฟูจิตสึ หลังจากที่ผู้นำแรงงานถูกศาลสั่งจำคุก 7 วัน และประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รวบรวมเงินได้ 50,000 บาท เข้าประกันตัวผู้หญิงออกมาได้เพียง 2 คน ได้ขอมตินำคนงานมาสมทบเพิ่ม 1,000 กว่าคนในการเดินเท้าในวันใหม่จันทร์นี้แน่นอน

ทั้งนี้วันอาทิตย์นี้ ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มีการจัดเวทีเสวนา ทวงถามสิทธิคนงานกับการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่บริเวณพื้นที่ชุมนุมโรงงานไม้อัดไทยบางนา กรุงเทพ ตั้งแต่เวลา 09.30-12.00 น. โดยมีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และผู้นำแรงงานร่วมหาทางออกวิพากษ์แนวทางการส่งเสริมการลงทุนที่ละเมิดสิทธิแรงงานครั้งนี้

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก รายงาน