แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองส่งผลระทบต่อสังคมและแรงงาน

DSCN0275

นักวิชาการวิเคราะห์รัฐบาลพิเศษไม่สนใจแรงงาน กฎหมายแรงงาน-ค่าจ้างขั้นต่ำ-ประกันสังคม ล้วนได้มาช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ระบุต้องจริงใจปฏิรูปภาษี ปฏิรูปที่ดินเกษตรกรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ห่วงอนาคตผู้สูงวัยไร้สวัสดิการดูแล เสนอรัฐพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน สร้างนวัตกรรมใหม่

รายงาน กลุ่มศึกษามุมมองใหม่ ครั้งที่ 4
โครงการเสวนาวิชาการ เรื่อง
แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองและสังคม– ผลกระทบต่อสังคมและแรงงาน
วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2557 เวลา 13.00-16.30
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ณ โรงแรมบางกอกพาเลส

ความเป็นมา

ประเทศไทยใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกมานานหลายสิบปีโดยใช้ค่าแรงราคาถูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่รูปแบบการพัฒนาดังกล่าวคงไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป เพราะปัจจุบันมีประเทศอื่นๆ ที่ใช้วิธีการเดียวกันและมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาร่วมแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ ผลพวงจากการพัฒนาตามแนวทางนี้ไม่ได้กระจายถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองและในชนบท ได้รับส่วนแบ่งจากการพัฒนาน้อยมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างต่ำและขาดระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ทำให้คนจำนวนมากขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สังคมไทยจึงมีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่ยิ่งห่างกันมากขึ้น หลายกลุ่มที่ให้ความห่วงใยกับประเด็นนี้จึงได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ใหม่ในการพัฒนา โดยหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจายรายได้ไปสู่ชนชั้นล่างเพื่อให้คนมีอำนาจซื้อมากขึ้นและขยายตลาดภายในประเทศโดยใช้แนวทางการเพิ่มค่าจ้างพัฒนาฝีมือแรงงาน ผลิตสินค้าคุณภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลใหม่มักมีแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศของตน ซึ่งแตกต่างจากเดิมในระดับหนึ่ง ดังเช่นรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำงาน แต่มีแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ทาง คสช.ได้ตัดสินใจกำหนดทิศทางไว้แล้วส่วนหนึ่ง ที่สำคัญเช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯลฯ ในขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการพูดถึงมาตรการทางภาษีและทางสังคมบางประการที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน เช่น การเก็บภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รวมทั้งการใช้มาตรการโอนเงินภาษีให้กับคนทำงานที่มีรายได้น้อย
จึงเป็นที่น่าสนใจว่านโยบายเศรษฐกิจและสังคมของฝ่ายบริหารประเทศชุดปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะดำเนินไปตามกระบวนทัศน์เดิมในการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก หรือปรับเปลี่ยนสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ นโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนและผู้ใช้แรงงานอย่างไร และผู้ใช้แรงงานควรมีบทบาทอย่างไรในขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด

DSCN0303

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่ง คือ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้ใช้แรงงาน ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ 21 ปี และปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อคนงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จึงร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดเวทีวิชาการครั้งนี้ขึ้น

ผู้เข้าร่วม ผู้นำจากองค์กรแรงงานต่างๆ และผู้สนใจอื่นๆ จำนวน 80 คน

…………………………………………………………..

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและระบบภาษีอากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำว่า วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีก็มีหลายประการคือ เพื่อเป็นรายได้ของรัฐ สำหรับนำไปใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข เพื่อการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ เพื่อจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่นนโยบายภาษีเพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุน หรือการใช้ภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคสินค้าบางประเภทที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นการจัดเก็บภาษีบาปและภาษีสิ่งแวดล้อม

DSCN0247DSCN0237

ส่วนหลักในการจัดเก็บภาษีประกอบด้วย หลักความสามารถในการจ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี และเป็นการกระจายภาระภาษี หลักผลประโยชน์ โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงต้องจ่ายภาษีสูงกว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์น้อยกว่า หลักประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ เช่น จัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง หลักของความแน่นอน ในเรื่อง ฐานภาษี อัตราภาษี ตลอดจนวิธีการจัดเก็บ ตลอดจนถึงความแน่นอนในด้านการทำรายได้ให้รัฐ และหลักความประหยัดในการจัดเก็บภาษี มีต้นทุนในการจัดเก็บภาษีทั้งด้านของผู้จัดเก็บและผู้เสียภาษีต่ำ

สำหรับฐานภาษีที่สำคัญ คือ ฐานเงินได้ ใช้หลักรายได้มากจ่ายมากรายได้น้อยจ่ายน้อยกว่า ฐานการบริโภค บริโภคสินค้าปริมาณมากจ่ายมาก ฐานความมั่งคั่ง ใครมีทรัพยากรมากต้องจ่ายมากขึ้น เพราะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐ และมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนอื่นๆในสังคม และยังมีฐานอื่นๆ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม

ในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการลดความเหลื่อมล้ำนั้น เห็นว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 เพราะฐานภาษีแคบ จำนวนผู้ที่ยื่นแบบภาษีมีไม่ถึง 1 ใน 4 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากสัดส่วนของแรงงานนอกระบบทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรสูง ผู้ยื่นแบบส่วนใหญ่มาจากผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือนและค่าจ้าง และการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำสูงทำให้จำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ภาษีมีเป็นจำนวนมาก มาตรการการลดหย่อนภาษีจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูง เช่น เบี้ยประกันชีวิต การซื้อหน่วยลงทุน จึงทำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความก้าวหน้าน้อยลง ทิศทางของอัตราภาษีมีแนวโน้มลดลง

มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ การขยายฐานภาษีให้เพิ่มมากขึ้น การจำกัด และยกเลิกค่าลดหย่อนผู้มีรายได้สูง การขยายโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การใช้มาตรการ เงินโอนด้านภาษีจากรัฐบาล (NIT = Negative Income Tax ) สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินต่ำกว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ระบบ เครดิตภาษีเงินได้เนื่องจากการทำงาน (EITC = Earned Income Tax Credit) ที่เป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ สามารถระบุผู้รับประโยชน์ได้อย่างตรงเป้าหมาย ช่วยในการกระจายรายได้ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ทำให้รัฐบาลไทยมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้ามาแทนที่โครงการสวัสดิการต่างๆ

ส่วนคำถามที่ว่าถึงเวลาเก็บภาษีความมั่งคั่งแล้วหรือยัง เห็นว่าประเทศไทยมีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก เช่น ในกรุงเทพฯ กลุ่มคนที่มีที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรก ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้ายกว่า 290,000 เท่า มีเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมาลงทะเบียนคนจน เรื่องปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว (หรือประมาณ 9.6 ล้านคน) และยังมีที่ดินที่มีผู้จับจอง ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการผลิต หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่เป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร เป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองที่ดินมีต้นทุนต่ำ ซึ่งการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง เป็นการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน โดยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในประเทศไทยประกอบด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ แต่ปัญหาการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในประเทศไทย คือ มีความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ และอัตราภาษีสูง

ข้อเสนอคือควรมีการจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สิน และภาษีมรดก ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการถือครองที่ดินเพื่อการเก็งกำไร

DSCN0264DSCN0235

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติ และความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า นโยบายปฏิรูปภายใต้รัฐบาลปัจจุบันไม่มีเรื่องแรงงานโดยตรง และสงสัยว่านโยบายที่ประกาศจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เช่น เรื่องภาษีที่ดินที่จะเก็บจากคนรวยและจะเกิดผลดีในการกระจายรายได้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถประกาศนโยบายและทำตามนโยบายได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานคะแนนเสียง แต่เพราะผู้บริหารเป็นกลุ่มคนชั้นนำของสังคม จึงมีคำถามว่านโยบายการจัดเก็บภาษีใหม่ๆจะทำได้ดีเพียงใด

ส่วนประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษคงไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานมากนัก เพราะมีการใช้แรงงานข้ามชาติมากอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตามองคือนโยบายที่ดินและภาคเกษตร ด้วยมีแรงงานในภาคเกษตรร้อยละ 40 ของภาคแรงงานทั้งหมด จำนวน 14 ล้านคน
โดยแบ่งแรงงานเป็น 4 กลุ่มคือ แรงงานในระบบในภาคเกษตร ร้อยละ 4 แรงงานในระบบนอกภาคเกษตร ร้อยละ 32 แรงงานนอกระบบในภาคเกษตร ร้อยละ40 และ แรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรร้อยละ 23 ในเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มแรงงานในระบบร้อยละ32 มีการบริหารจัดการ แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ยากในการรวมพลัง การออกแบบดูแลต้องใช้การจับกลุ่มแรงงานนอกระบบทั้งในเมืองและชนบทเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายไปมาของแรงงาน

ด้านความเหลื่อมล้ำในไทยนั้น เห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลง แต่ทรัพย์สินยังกระจุกตัว รัฐควรเริ่มดูเรื่องเก็บภาษีใหม่ๆ เช่นภาษีที่ดิน ภาษีจากผู้มีรายได้มาก สิ่งที่น่าห่วงคือ กลุ่มคนที่จะเข้าสู่วัยชราในอนาคต และการรองรับคนรุ่นใหม่ก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาที่ผูกอยู่กับส่วนกลางมาก ไม่มีประสิทธิภาพควรมีการกระจายระบบการศึกษาให้ท้องถิ่นชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนด และรัฐบาลก็คอยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ควรมีโรงเรียนเพื่อลูกหลานชาวนาและแรงงานให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้ และเปลี่ยนค่านิยมการศึกษาให้สามารถช่วยตัวเองได้จริง การศึกษานอกโรงเรียนก็มีบทบาทช่วยได้มาก ส่วนระบบสวัสดิการด้านการออมสำหรับวัยสูงอายุก็คงต้องให้บทบาทท้องถิ่นทำไป และมีระบบประกันตนกับธนาคารรัฐเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว

ทั้งนี้แรงงานนอกระบบมีมากขึ้นอาจเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ทักษะไม่พอ หรือ ต้องการทางเลือกที่อิสระจะเห็นว่ามีคนเรียนการศึกษานอกโรงเรียนสูงและทำงานนอกระบบ ส่วนคนเรียนภาคบังคับมักเข้าสู่งานในระบบ จึงต้องพึ่งระบบภาษีว่าจะดึงคนเข้ามา และกระจายเงินได้อย่างไร

DSCN0269DSCN0246

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวนำว่า การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นเพราะการต่อสู้เรียกร้องของขบวนการแรงงานและภาคประชาชน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกติดลบ

ส่วนยุทธศาสตร์การส่งออกเพื่อทดแทนการนำเข้ามีมานานแล้ว มีปัจจัยเกื้อกูลคือการยกเว้นภาษี เปิดเสรีการลงทุน และมีเขตอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการใช้แรงงานราคาถูก และทรัพยากรที่เดิมมีอยู่มาก แต่ปัจจุบันเหลือน้อย ทำให้แข่งขันกับเพื่อนบ้านไม่ได้ จึงใช้เป็นนโยบายกดค่าแรงมาตลอด ซึ่งเพิ่งมีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่งผลเสียต่อระบบการแข่งขันด้านการส่งออก แต่การลดคุณภาพชีวิตแรงงานจากค่าแรงราคาถูกก็ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามค่าแรงงง 300 บาทก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของแรงงาน เพราะจากผลสำรวจแรงงานพบว่ารายได้ที่พออยู่ได้อย่างมีคุณภาพคือ 400 กว่าบาท

เสนอว่ารัฐบาลควรมีการยกระดับด้านความรู้และทักษะ เพื่อให้มีผลิตภาพสูง มีนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องจ่ายค่าแรงให้มากพอให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลูกหลานได้เรียนหนังสือมากขึ้น แต่เฉพาะหน้า แรงงานที่มีไม่เพียงพอก็ต้องใช้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้มีประมาณเกือบ 4 ล้านคนไปก่อน

วันนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 2 ยังไม่กระทบต่อแรงงาน แต่ระยะยาวสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในสต็อคจำนวนมากจะมีราคาจะลดลงและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลปัจจุบันหันมาแจกเงินให้ชาวนาไร่ละพันบาทเป็นแค่บรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาจริงรัฐบาลต้องลดต้นทุนการผลิต และให้มีผลิตภาพสูง สหกรณ์มีอำนาจต่อรอง

คำถามว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดูผลจากปี 2557 เศรษฐกิจชะลอตัวเพราะวิกฤตการเมือง เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น มีการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณ แต่ยังมีปัญหาเรื่องวิกฤตการณ์การเมืองที่ยังฉุดการท่องเที่ยว ถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)แก้ปัญหา และคืนอำนาจการเลือกตั้งตามกรอบในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องได้ ต่อไปหากสร้างประชาธิปไตยก็เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยอาจพลาดโอกาสเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ระบบอำนาจนิยมจะขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เช่นการประท้วงที่ฮ่องกง ผู้ประท้วงคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนเลือกกำหนดรายชื่อผู้บริหารให้ประชาชนเลือกตั้งไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ซึ่งคิดว่า รัฐบาล คสช.คงมีข้อมูลว่าโลกในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถที่จะอยู่ในระบบอำนาจนิยมได้ ถ้ามีการปฏิรูปภายใต้ระบบประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้

ด้านประเด็นแรงงาน ทุกวันนี้ก็เคลื่อนไหวไม่ได้ ตามที่ปกติที่มีการเคลื่อนไหว ในระบบการปกครอง แต่ถึงอย่างไรเมื่อแรงงานเดือดร้อนก็ต้องหาช่องทางในการนำเสนอ ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ที่ปรับขึ้นก็ไม่เพียงพอเป็นช่องทางเสนอต่อพรรคการเมือง เพราะแรงงานต้องการค่าแรงวันละ 400 กว่าบาท ขบวนการแรงงานในหลายประเทศต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเพราะผลประโยชน์สอดคล้องกัน แต่ต้องขัดแย้งกับระบบเผด็จการ

ส่วนความเหลื่อมล้ำนั้นมีมาก กลุ่มคนรวยคนจนต่างกันมาก การพัฒนาประเทศต้องทำให้ความยากจนลดลง แต่กลับมีปัญหาใหญ่คือความมั่งคั่งกระจุกตัว กลุ่มคนส่วนน้อยมีการถือครองที่ดินจำนวนมากกว่าคนส่วนใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้น้อยอยู่กับความลำบากยากแค้น ประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประทศของประชาชน หากที่ดินอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆประเทศนี้ก็ไม่ใช่ประเทศของคนส่วนใหญ่ ซึ่งวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นเรื่องของชนชั้นนำและโครงสร้างทางสังคม ซึ่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ การขยายความคุ้มครองทางสังคม สร้างสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้จากมาตรการเก็บภาษีจากผู้มีรายได้มากหรือมีทรัพย์สินมาก

ปัญหาของไทยในอนาคตคือเรื่องหนี้สาธารณะ จากการใช้ธนาคารรัฐตอบสนองนโยบายรัฐ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจเติบโต 4-5% ก็คงไม่มีปัญหา รัฐบาลจึงเดินหน้าเรื่องระบบภาษีใหม่ๆ แต่การเพิ่มภาษีVAT ก็เหมือนเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาลใหม่ที่อาจไม่กล้าปรับขึ้นภาษี

การปฏิรูประบบสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นจึงต้องหาแหล่งทุนเพื่อสร้างระบบสวัสดิการที่ยั่งยืน โครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุในอีก 10-15 ปี จะทำให้เงินไหลออกจากระบบประกันสังคมมากขึ้น คนวัยแรงงานลดลง จึงต้องมีการส่งเสริมระบบสวัสดิการที่คำนึงเรื่องผลิตภาพที่สูงด้วย มิเช่นนั้นจะความล่มสลายแบบกรีซ

สำหรับการเมืองภายใต้รัฐบาลที่ต้องปฏิรูปภายใต้กฎอัยการศึก เสนอให้ดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วม เรื่องที่สำคัญและมีความเห็นแตกต่างมากต้องลงประชามติทั่วประเทศ จะอ้างว่าสร้างระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆไม่ได้เพราะหลักหลักพื้นประชาธิปไตยไม่ว่าที่ใดๆต้องเหมือนกัน เช่นสิทธิการรวมตัวชุมนุม การแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องในสิ่งที่เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องทำให้การเมืองประชาธิปไตยมีเสถียรภาพในระยะยาวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

DSCN0272DSCN0279

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระกล่าวถึงหนี้ภาคครัวเรือนว่ามีร้อยละ 80 ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต และประเด็นของโลกก็ชัดว่า รัฐรูปแบบใดที่จะทำเรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมได้ดีที่สุด รัฐบาลประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบใดจะนำไปสู่การปฏิรูปสร้างความเป็นธรรมต่อสังคมได้ดีกว่า

ซึ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในประเด็นแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำ ในอดีตไม่มีแม้แต่ค่าจ้าง ระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นรูปแบบรัฐประชาธิปไตย การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วงปี 2516 ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก ที่ 12 บาทต่อวัน ปี 2518 ปรับขึ้นเป็นวันละ 25 บาท ก็เป็นช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย การเกิดสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กฎหมายประกันสังคม พ.ศ. 2533 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฯลฯ ล้วนเกิดในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าการปฏิรูปประเทศนั้นไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนการที่มวลชนจำนวนมากที่มีชนชั้นล่างอยู่ด้วยสนับสนุนการล้มรัฐบาลเลือกตั้ง สนับสนุนให้เกิดรัฐประหาร เป็นปรากฎการณ์ที่เป็นผลจากจากความไม่เข้าใจปัญหา ความไม่เพียงพอของรายได้ ความไม่มั่นคงในการทำงาน ว่าเกิดจากระบบโลกาภิวัตน์ แต่เพราะคิดว่าปัญหาต่างๆ เช่น ค่าครองชีพไม่พอต้องทำงานล่วงเวลา หรือ มีความไม่มั่นคงในการทำงาน เกิดในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย โดยไม่มองประวัติศาสตร์อย่างแยกแยะว่าปัญหาเกิดจากแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง จึงทำให้ไปเชื่ออำนาจนอกระบบว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ ความล้มเหลวของขบวนการประชาสังคมที่ไร้อำนาจต่อรองกับชนชั้นนำที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจสังคม เช่น เงินปันผลหุ้นมีปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนมากแบบนี้อยู่ในกระเป๋าคนรวยไม่สมารถเอาไปช่วยแรงงานและชาวนาได้ แต่ถ้ามีพลังมวลชนมหาศาลหนุนรัฐบาลใดก็จะทำนโยบายตอบสนองคนยากจนได้ และมีตัวอย่างเรื่องงบประมาณด้านทหารที่ปี 2523 ลดลง แต่มาเพิ่มขึ้นในช่วงหลังปี 2549 ซึ่งถ้านำงบแบบนี้มาทำเรื่องประกันสังคม เงินช่วยเกษตรกร หรือเบี้ยผู้สูงอายุ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มาก
สำหรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP แย่ที่สุดในอาเซียนติดต่อกัน 3 ปีแล้ว ซึ่งการอ้างผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกนั้นก็ไม่จริง โอกาสที่แรงงานจะได้นโยบายที่ดีด้านแรงงานนั้น ต้องดูรายงานของ S&P (บริษัทบริการทางการเงินสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส) ว่าความตกต่ำของเศรษฐกิจอเมริการ้อยละ7.8 เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับรายได้ของคนจน คือแรงงาน และเกษตรกร ทำให้คนไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและเป็นหนี้มาก แต่ในไทย ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยบอกว่าปล่อยสินเชื่อ SME มีความเสี่ยงมาก สะท้อนความไม่รู้ว่าคนจนในไทยขาดโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต

DSCN0253DSCN0294

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้นำแรงงานที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจผ่านระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ชี้ชัดว่าเป็นไปได้ยากในการดึงประโยชน์กลับมาสู่แรงงานหรือเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังยากจน

นายองอาจ เชนช่วยญาติ เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเหมื่อการจ่ายเช็คโดยไม่ลงจำนวนเงิน เป็นเขตปลอดสิทธิแรงงาน ส่วนการเพิ่มฝีมือแรงงานก็ขัดแย้งกับการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงที่นายจ้างมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในปัจจุบัน เป็นการแบ่งแยกแรงงาน และสงสัยว่าภาษีมรดกจะนำมาสู่การมีรัฐสวัสดิการได้หรือไม่

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษอาจส่งผลเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน ส่วนประเด็นการเข้าร่วมชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลนั้น เพราะคนงานถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่นการตีตกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน ซึ่งคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องฟังเสียงประชาชน อยากได้นักการเมืองที่ฟังเสียงประชาชน เข้าใจและแก้ปัญหาของแรงงานได้

นายมงคล ยางงาม กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนเน้นการส่งออก และการใช้แรงงานราคาถูกจะมีการขยายจากไทยหรือไม่ และการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ยังจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คะแนนเลือกตั้งมากอาจไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกอาชีพมีสัดส่วนในการเมือง

รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ปัจจุบันงบรัฐไม่เพียงพอในการจัดสวัสดิการเพิ่มขึ้น และยังเชื่อเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อการจัดสวัสดิการบำนาญชราภาพ เป็นการเสี่ยงหากจะมีกองทุนประกันสังคมกองทุนเดียว ซึ่งหากล้มไปจะกระทบทั่วประเทศ ส่วนภาษีBOI ที่ลดเพื่อส่งเสริมการลงทุนควรมีการยกเลิก เพราะเมื่อเข้าสู่ AEC ทุกประเทศกลับต้องแข่งขันกันแทนที่จะสนับสนุนกัน อนาคตการเพิ่มภาษีจำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วย และในช่วง 10 ปี มีการสร้างเครือข่ายคนชั้นสูง เช่นหลักสูตร วปอ. ที่มีข้าราชการ ทหาร ตุลาการ นายทุน เข้าไปเรียน และเป็นการรวมกลุ่มผู้มีอำนาจในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะกระทบกับแรงงานในพื้นที่การเกษตรซึ่งจะถูกผลักให้เป็นแรงงานในอุตสาหกรรม ด้านสวัสดิการแรงงานควรเป็นพื้นฐานระบบเดียวทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะดูแลแรงงานได้ดี ไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย ส่วนเรื่องค่าจ้างอยากให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานโดยดึงเอกชนเข้ามาร่วมด้วย

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า สัญญาจ้างแรงงานระยะสั้นไม่เป็นธรรมกับแรงงาน แต่เป็นการจ้างงานแบบยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ ต้องทำให้สัญญาจ้างเป็นธรรมและได้รับการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งงานประจำไม่ควรมีการจ้างงานระยะสั้นเกิดขึ้น

ประเด็นหนี้สาธารณะสูงขึ้น หรือต่ำลง คิดว่าอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีการเอาไปลงทุนหรือไม่ ถ้ามีการลงทุนจะเป็นผลดีต่อสังคม และยังเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยไม่ควรให้มีรัฐประหหารบ่อยทำให้การเมืองสะดุด การเมือง นักการเมืองไม่พัฒนา พรรคแรงงานเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนปัญหาแรงงาน

เมื่อAEC เป็นเสรีการค้าอาเซี่ยนยังคงมีความต้องการแรงงาน แต่ไร้ฝีมือ จะย้ายไปเพื่อนบ้านจึงต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องให้ประชานมีส่วนร่วมเพราะกระทบต่อมิติสิ่งแวดล้อม ชุมชน

นายศิโรตม์ กล่าว ความขัดแย้งทางการเมืองของแรงงานที่ไปหนุนกลุ่มอำนาจนิยมล้มระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความคิดเห็น กรณีการเมืองกรีกเริ่มจากการถกถียงกันเรื่องความดี ซึ่งความดีคือทำเพื่อคนอื่นๆ แม็กคิวรี่ บอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับความดี อยู่ที่มีนโยบายอะไรดี ส่วนเบอร์นาธ์ด ว่าการเมืองแบบอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจจะเป็นคนบอกว่าความดีคืออะไร