สรุปปิดศูนย์อ้อมน้อยคนงานเดือดร้อนหนัก กลุ่มย่าน-คสรท.รับไม้ช่วยเหลือต่อ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับ กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  จัดเวทีเสวนาสรุปบทเรียนในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  และก้าวต่อไปของการช่วยเหลือคนงานที่ได้รับความเดือดร้อน  เมื่อวันที่  15  ธันวาคม  2554 ณ ใต้สะพานข้ามแยกอ้อมน้อย    มีสมาชิกของสหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานในพื้นที่รวมทั้งประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 400 คน   ภายในงานมีการจัดนิทรรศการการดำเนินงานของศูนย์ฯ  และมีการแสดงดนตรีโดยวงภราดรก่อนเริ่มงานเสวนา  รวมทั้งการแจกถุงยังชีพให้กับทุกคนตอนปิดงาน  และถือเป็นการปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่  24  พฤศจิกายน ถึง วันที่  15 ธันวาคม  2554 ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.  โดยโอนภารกิจการช่วยเหลือคนงานที่มาร้องเรียนจำนวนมากให้กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ดำเนินการต่อไป 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย   รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ว่า  การจัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือแรงงานเริ่มในวันที่  11  ตุลาคม  2554  ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของจากประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานเพื่อนำไปช่วยเหลือคนงานที่ จ.อยุธยา   การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเริ่มที่บางปะอิน จ.อยุธยา เมื่อ 15 ตุลาคม จนมาถึงพื้นที่สมุทรสาครและนครปฐม เริ่มเปิดศูนย์วันที่  24  พฤศจิกายน  2554  ภายใต้โครงการ เครือข่ายความช่วยเหลือและฟื้นฟูแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม  โดยการสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อช่วยเหลือแรงงานและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม  ในเขตพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และใกล้เคียง ในการดำรงชีพ
2.เพื่อรับปรึกษาปัญหาด้านแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ไม่ได้สิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ ไม่ได้รับค่าจ้าง  ถูกเลิกจ้าง  ฯลฯ  
3.ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรแรงงาน  และองค์กรภาคประชาชน
4.จัดทำข้อมูล  และสื่อสารให้กับผู้ใช้แรงงาน  ประชาชน  ให้รับรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์
5.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย  ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านเวทีเสวนา บทสรุปการดำเนินงานของศูนย์ฯ และก้าวต่อไปของการช่วยเหลือ  มี น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์  ทนายความกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายโสภณ  ทองโสภา   ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  กล่าวว่า  มาทำงานเพื่อช่วยผู้ใช้แรงงานและชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีทะเบียนบ้านทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร  โดยศูนย์ได้จ่ายถุงยังชีพช่วยเหลือไปทั้งสิ้นประมาณ  3,000  กว่าถุง  ซึ่งการช่วยเหลือก็มาจากหลายที่  เช่นบริจาคผ่าน คสรท.  องค์กร ICA จากญี่ปุ่น  จากภาคเอกชนเช่น บริษัทโยซึ  บริษัทร่วมกับสหภาพแรงงาน วาย เอส ภัณฑ์ จากสื่อมวลชน เช่น ไทยพีบีเอส  ช่อง  3   และมีการแจกแบบสอบถามไปตามห้องเช่า หอพัก  เพื่อรวบรวมข้อมูลในการเข้าไปช่วยเหลือได้ทั่วถึง
นายคงฤทธิ์    งามสง่า  คณะทำงานอาสาสมัครในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า  จากการลงพื้นที่ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของคนจำนวนมาก  บางพื้นที่แออัดมากซอยลึกเข้าไปไม่ถึง  คนที่อยู่ต้นซอยมีโอกาสได้รับถุงยังชีพมากกว่าคนที่อยู่ท้ายซอย   บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมมาช่วยเหลือล่าช้า  ถูกต่อว่าเพราะคิดว่าเป็นหน่ายงานของภาครัฐ  ส่วนการเดินทางของชาวบ้านลำบากมาก  บางคนไม่มีที่เดินต้องใช้ไม้พาดหน้าต่าง    บางคนต้องออกมาทำงานได้ค่าจ้างวันละ  200  กว่าบาท  เสียค่าจ้างเรือวันละ  100  บาท  ถ้าไม่มาทำงานบริษัทก็จะเลิกจ้าง  ส่วนการเข้าช่วยเหลือบางพื้นที่น้ำท่วมแต่เป็นน้ำตื้นเรือเข้าไปไม่ได้ก็ต้องใช้รถลุยน้ำไป   
นายมงคล  ยางงาม  คณะทำงานอาสาสมัครในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า  สภาพปัญหาของคนงาน เช่น บ้านน้ำท่วม สามีภริยาเป็นคนงานทั้งคู่  ต้องแบ่งหน้าที่กันคือให้สามีไปทำงาน ส่วนภริยาต้องอยู่เลี้ยงลูก  เป็นเหตุให้นายจ้างของภริยาจะเลิกจ้าง   มีข้อสังเกตคือคนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงาน  ส่วนใหญ่ที่ไม่มีสหภาพแรงงานจะพบปัญหาว่าบริษัทฯ จะไม่จ่ายค่าจ้างเลย  บางทีก็อาศัยโอกาสที่ลูกจ้างหยุดงานบอกว่าเป็นการขาดงานทั้งที่ลูกจ้างลางานเนื่องจากน้ำท่วม
นายเจามินไน (ไนสามหรือ เคเค )  อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ  กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือได้ดูแลแรงงานข้ามชาติจำนวน  137  คนที่อยู่ในหมู่บ้านย่านพุทธมณฑลสาย 5 ที่ออกมาซื้ออาหารไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมสูง  และไม่ได้รับถุงยังชีพ  จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือมาที่ศูนย์ช่วยเหลือฯ นี้ทำให้คนงานได้มีอาหารกิน
นางทิพวรรณ บุญยืน  เจ้าของบ้านเช่าเพิ่มสุข  ซอยสุวรรณเก้าแสน  กล่าวว่า  เมื่อน้ำท่วมที่บ้านเช่าไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดๆของรัฐ เลย  เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่เป็นคนงานที่เช่าบ้านซึ่งจะไม่มีทะเบียน  เมื่อมีการแจกถุงยังชีพคนงานออกไปรับ  เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าต้องเป็นคนที่มีทะเบียนเท่านั้นถึงจะได้รับ  ก็เลยเกิดความเห็นใจและรู้สึกว่าคนงานก็เป็นคนที่เดือดร้อนเหมือนกัน  “ทำไมต้องมีทะเบียนบ้านด้วยหรือถึงจะได้รับความช่วยเหลือ”    คนงานเหล่านี้เช่าบ้านอยู่ด้วยกันมานาน  เห็นปัญหาแบบนี้แล้วจึงคิดว่าต้องช่วยเหลือกัน ไม่เก็บค่าเช่าในช่วงน้ำท่วม  ได้เจอพี่โสภณ พี่คงฤทธิ์  เข้าไปสำรวจ จึงประสานขอถุงยังชีพจากศูนย์ช่วยเหลือฯ  และยังได้ช่วยทำเอกสารขอเงินช่วยเหลือน้ำท่วมด้วย  
นางสาวชนญาดา จันทร์แก้ว  ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์  กล่าวว่า  มีคนงานจากทั้งหมด 52 บริษัทเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์  รวมเป็นคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนประเมินเฉพาะจากผู้มาร้องเรียนมีจำนวนประมาณ  6,000  กว่าคน  ซึ่งประเด็นที่ร้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่อง ไม่จ่ายค่าจ้าง  นายจ้างปิดงานโดยไม่มีกำหนด  เลิกจ้างอ้างว่าขาดงานทั้งที่บ้านของลูกจ้างประสบภัยน้ำท่วม  จากการรับเรื่องพบปัญหาว่าคนงานไม่กล้าเปิดเผยชื่อในการดำเนินการเรียกร้องสิทธิ  มีเพียง 77  คนที่ร้องเรียนให้ดำเนินการ
นายตุลา  ปัจฉิมเวช  ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์  กล่าวว่า  จากการรับเรื่องร้องทุกข์  สามารถแบ่งแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้เป็น  2  แบบคือ  
การร้องตาม มาตรา 139  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  ซึ่งเป็นการร้องทุกข์โดยการแจ้ง
เหตุให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  กรณีลูกจ้างไม่เปิดเผยชื่อขอให้ศูนย์เป็นผู้แจ้งเหตุให้   
กับการร้อง  ตามมาตรา  123  คือ  การที่ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน  หรือ คร.7  กรณีลูกจ้างยินดีเปิดเผยชื่อ 
และเพิ่มเติมประเด็นการร้องเรียนจาก น.ส.ชนญาดาว่า  ยังพบปัญหาที่นายจ้างไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วมจริง  หรือประสบภัยแต่ไม่ได้รับผลกระทบมาก  แต่อาศัยเหตุการณ์นี้มาเป็นข้ออ้างสั่งปิดงาน  บางที่ก็จ่าย  75%  บางที่ก็ไม่จ่ายเลย  เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องมาพิสูจน์กัน
นางสาวสงวน  ขุนทรง   ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  กล่าวขอบคุณคณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือฯ ที่ทำงานกันอย่างทุ่มเท  เห็นถึงน้ำใจและความเหน็ดเหนื่อยของทุกคน  และกล่าวว่าในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่มสหภาพฯ ปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่ทางศูนย์ช่วยเหลือฯ ได้รับมาจากคนงาน  ทางกลุ่มฯก็มีฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ซึ่งคงมีภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการต่อไปเท่าที่จะสามารถทำได้
นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า ต้องมีการรวบรวมข้อมูลปัญหาจากศูนย์พื้นที่ทุกพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม  เพื่อนำปัญหาต่างๆ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ  ได้มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมต่อภาครัฐไปบ้างแล้ว
 
 
นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  รายงาน