เครือข่ายแรงงาน แถลงผลการสำรวจคุณภาพชีวิตคนงานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

DSC00030

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ณ โรงแรมสวิส ลอด กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงานเอเชียเพื่อตรวจสอบเงินกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ(ALNI) ได้แถลงรายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิตคนงานในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสวายสีม่วง

นายชาลี ลอยสูง ประธานALNI กล่าวว่า ความตั้งใจของALNI ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ้างงานในโครงการ๙งได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจาก JICA โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เช่นการไม่บังคับใช้แรงงานเด็ก การไม่เลือกปฏิบัติ และการให้สิทธิในการรวมตัวและการเจราจาต่อรองร่วมของคนงาน

โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) ต่างมีการยอมรับมาตรฐานแรงงานในการทำงาน แต่JICA ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีการให้กู้ในโครงการขนาดใหญ่ของไทยหลายโครงการกลับยังไม่ให้การรับรองมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)  ประกอบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากJICA มีคนงานที่ทำงานในโครงการเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่งมวลชนในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการและต้องมีคนงานอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องทำงานในโครงการต่างๆจึงเป็นเหตุผลในการเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงในการสำรวจ แต่การทำงานของALNI มีอุปสรรคในการลงพื้นที่  ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง แม้ได้มีการทำหนังสือขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงใช้วิธีหาข้อมูลโดยการสัมภาษคนงานในช่วงพักกลางวันหรือช่วงเย็นหลังจากการเลิกงาน

DSC00032

โดยกระจายพื้นที่สัมภาษหาข้อมูลในหลายพื้นที่  ผลการสำรวจพบว่าคนงานมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนหรือกลัวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการพูดถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน  แต่ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปจากการสังเกตุของทีมงานที่ลงสำรวจในพื้นที่คือสภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐาน ถูกสุขอานามัย เช่น ที่พักเป็นอาคารชั่วคราวทำด้วยสังกะสีสภาพอากาศที่ร้อนเป็นปัญหาต่อการพักผ่อนของคนงาน ผู้หญิงไม่มีความเป็นส่วนตัว เด็กเล็กไม่ได้รับการดูแลที่ดี ถูกปล่อยปะละเลย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตคนงาน ฉะนั้น เพื่อให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ  JICAควรประกาศยอมรับเงื่อนไขตามมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

นายบัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ  หัวหน้าทีมวิจัย นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวสรุปผลการวิจัยว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 3 ของทั้งหมดเป็นผู้ชายมากกว่าลูกจ้างหญิง  โดยแรงงานประมาณร้อยละ 50 ว่าจ้างโดยบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และผู้รับเหมาชั้นต้นที่มีศักยภาพในการทำสัญญาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่กับหน่วยงานของรัฐมานาน  อายุของผู้ตอบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 คือ เกินกว่า 30 ปี  โดยร้อยละ 68 มีสถานภาพสมรสแล้ว  และส่วนใหญ่ร้อยละ 62 มีสัญชาติไทย แรงงานข้ามชาติมีจำนวนเพียง 32 คน  โดยครึ่งหนึ่งมีใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน 12 คน วิธีการมาทำงานของลูกจ้าง ส่วนใหญ่มาสมัครด้วยตนเอง และเพื่อนชักชวนมาทำงาน  โดยเกือบทั้งหมดบริษัทจ้างเป็นลูกจ้างรายวัน โดยทำงานทั่วไปในไซค์ก่อสร้างร้อยละ 20 เป็นช่างปูนและช่างเหล็กรวมกันประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33 ของทั้งหมด  ผู้ตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 81 ต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ ถ้าไม่สมัครใจทำงานล่วงเวลา แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 82 ก็ไม่ประสบปัญหาถูกลงโทษ มีเพียงร้อยละ 12 ที่ถูกตักเตือนจากหัวหน้างาน และไม่มีโอกาสทำงานล่วงเวลาต่อเนื่องประมาณ 7 วัน และมีเพียงเล็กน้อยมาก คือ 4 คนหรือร้อยละ 2 ที่ถูกหักค่าจ้าง ถ้าไม่ทำงานล่วงเวลา ตลอดจนส่วนใหญ่ร้อยละ 81 สมัครใจทำงานในวันหยุด  สำหรับเงื่อนไขการลาออกจากงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 86 จะลาออกจากงานเมื่อไรก็ได้ รวมทั้งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ที่บริษัทกำหนดให้สมัครงานไว้ หรือเพื่อนชวนมาทำงานด้วย หรือทำงานตามที่ตนมีความสามารถความเหมาะสมที่จะทำได้ โดยไม่ได้เลือกงานเอง

ส่วนใหญ่ร้อยละ 57 ตอบว่า แรงงานเด็กในไซค์ก่อสร้าง กำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปี ซึ่งมากกว่าอายุขั้นต่ำอย่างน้อย 15 ปี ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  และส่วนใหญ่ร้อยละ 68 ตอบว่า ไม่มีแรงงานเด็กทำงานในไซค์ก่อสร้าง ส่วนใหญ่รวมร้อยละ 91 ที่ตอบว่าไม่รู้และไม่ตอบ ว่ามีแรงงานเด็กและผู้ใหญ่ทำงานประเภทเหมือนกันหรือต่างกันในไซค์ก่อสร้าง ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของผู้ตอบ เห็นว่าลูกจ้างที่ทำงานประเภทลักษณะเดียวกันและปริมาณเท่ากัน ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ได้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน สำหรับลูกจ้างชายและหญิงที่ทำงานเหมือนกัน สาเหตุที่ได้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน เพราะผู้หญิงทำงานเบา เช่น งานเก็บกวาด, ไม่ต้องปีนที่สูงหรือทำงานตำแหน่งที่ไม่ใช่ช่างเหล็ก

สำหรับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ และพัฒนาทักษะฝีมือการทำงานพบว่า ไม่ถึงครึ่งร้อยละ 41 ตอบว่าไม่เท่าเทียมกัน ไม่รู้มากถึงร้อยละ 31 และตอบว่าเท่าเทียมกันเพียงร้อยละ 22 สำหรับประเด็นว่า บริษัทจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการทำงานแก่ลูกจ้างชายและหญิงแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนใหญ่รวมกันร้อยละ 72 ตอบว่า ไม่รู้ (ร้อยละ 39) และไม่มี (ร้อยละ 33)  มีแตกต่างกันบ้างในเรื่องค่าจ้างและตำแหน่งงาน ซึ่งแรงงานชายมักได้ค่าจ้างมากกว่าแรงงานหญิงเล็กน้อย เช่น แรงงานชายได้ 300 บาทหญิงได้ 280 บาท แรงงานชายได้ 320 บาท หญิงได้ 310 บาท มีเพียงผู้ตอบร้อยละ 14 ตอบว่า แรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในลักษณะเดียวกันและปริมาณเท่ากัน ได้ค่าจ้างเท่ากันโดย ร้อยละ 35 ตอบว่าได้ค่าจ้างไม่เท่ากัน   ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 ตอบว่า ไม่รู้จักสหภาพแรงงาน เพราะไม่เคยได้ยิน, ไม่เข้าใจไม่รู้ว่าคืออะไร, ไม่มีใครพูดถึงหรือแนะนำ มีผู้สนใจเข้าร่วมและไม่เข้าร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่จะจัดตั้งขึ้นมีจำนวนสัดส่วนใกล้เคียงกันฝ่ายละ ร้อยละ 40 โดยผู้ไม่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน เพราะกลัวถูกลงโทษ กลัวถูกเลิกจ้าง กลัวถูกเพ่งเล็ง และกลัวถูกกลั่นแกล้งตามลำดับ ผู้เข้าร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพราะคิดว่าจะคุ้มครองสิทธิประโยชน์คนงานได้ มีผู้เคยร้องเรียนหรือเสนอต่อนายจ้าง, หัวหน้างานเพื่อปรับปรุงค่าจ้าง หรือสวัสดิการเพียงร้อยละ 6 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 51 ไม่เคยร้องเรียนนายจ้าง เพราะไม่เคยมีปัญหา, พอใจค่าจ้างและสวัสดิการที่ได้รับ, ไม่รู้จะเรียกร้องอะไร เพราะนายจ้างให้ดีอยู่แล้ว ถ้าถูกกลั่นแกล้งหรือลงโทษจากหัวหน้างาน ร้อยละ 35 จะอดทนทำงานต่อไป ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของผู้ตอบจะร้องเรียนต่อหัวหน้างาน หรือลาออก ส่วนใหญ่ร้อยละ 54 ไม่เคยประสบอุบัติเหตุในการทำงานในไซค์ก่อสร้าง

ร้อยละ 46 ที่เคยประสบอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่บาดเจ็บเล็กน้อย ใช้บริการสถานพยาบาลในไซค์ก่อสร้าง หรือ รักษาพยาบาลเอง ถ้าบาดเจ็บหนักรุนแรง บริษัทพาไปโรงพยาบาลประกันสังคม หรือนำส่งโรงพยาบาลออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

อรุณ ดีรักชาติ รายงาน