เกษตรกรพันธสัญญา อ่วมหนี้ท่วมบริษัททิ้ง

ชี้ ระบบพันธสัญญา ทำลายเกษตรกรรายย่อย สร้างพันธะหนี้สิน สิ่งแวดล้อม ความไม่ปลอดภัยยกภาระให้เกษตรกรแบกหลังทำสัญญา /แจง เตรียมจัดงานสัมมนาทางวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555  เกษตรพันธสัญญา “ใครอิ่ม ใครอด?” ในวันที่ 26-27 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จัดแถลงข่าวเวทีสัมมนาวิชาการเกษตรกรพันธสัญญาประจำปี 2555 “เกษตรกรพันธสัญญา : ใครอิ่มใครอด?” และวงเสวนา “เกษตรกรพันธสัญญา ความจริงที่ยังไม่ได้พูด” วันที่ 15 มิถุนายน 2555 ชั้น 4 ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ระบบเกษตรกรพันธสัญญา เป็นระบบที่เปลี่ยนขบวนการผลิตจากเกษตรกรรายย่อยที่ถูกบริษัทชักชวนให้เปลี่ยนเป็นระบบการผลิตแบบการตลาดที่มีข้อผูกพันกับบริษัท ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ใช้เครื่องมือในการลงทุนครอบคลุมหลายสาขาการผลิตในระบบเกษตร ตั้งแต่การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกอ้อยเป็นต้น โดยมีการนำเสนอต่อสาธารณะในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าการตลาดด้านการเกษตรกรของประเทศ ไปจนการที่จะแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องจนกระทั้งระบบดังกล่าวมีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง

ในความเป็นจริงไม่ได้มีกลไกภาครัฐ กฎหมายหรือนโยบายที่จะมากำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมในระบบนี้ ขณะเดียวกันภาคสาธารณะ และสังคมก็ไม่ได้รับความรู้ข้อเท็จจริงของระบบการผลิตนี้ ทั้งในด้านความปลอดภัยในตัวของผลผลิต ขบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ระบบการผลิตที่มีการเอาเปรียบผู้ผลิตหลักประกันความปลอดภัยของผลผลิตที่ส่งถึงผู้บริโภค ประเด็นเหล่นี้ล้วนแต่ยังต้องการความจริงให้ประจักษ์ในทุกแง่ทุกมุมอย่างรอบด้าน ความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเกษตรกร ขณะที่การผลิตในระบบพันธสัญญาครอบครองสัดส่วนของผลผลิตอาหารส่งถึงผู้บริโภคมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ระบบห่วงโซ่อาหารของสังคมถูกรวมศูนย์ภายใต้การผลิตของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ ขณะที่ข้อเท็จจริงของการผลิตยังไม่สามารถสร้างความรับรู้ของสังคมได้ ว่าทุกวันนี้สิ่งที่บริโภคอยู่นั้น อาหารปลอดภัยเพียงใดภายใต้การโฆษณาสร้างความเชื่อว่าบริโภคอาหารที่มียี่ห้อเป็นอาหารที่มีคุณภาพ หมู ปลา ไก่ตามบ้านไม่ปลอดภัย ซึ่งระบบการเลี้ยงตามบ้านก็ไม่มีแล้ว และความจริงไก่ที่ตายจำนวนมากและใส่รถมาชำแหละที่นครราชสีมาก็มาจากเล้าไก่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เลี้ยงไก่ในประเทศไทยนั้นแหละ ฉะนั้นตามตลาดที่เห็นยี่ห้อหมู ไก่ ปลา ฯลฯก็ใช้ว่าจะปลอดภัยเหมือนที่โฆษณา

"วันนี้มีใครรู้บ้างว่า เกษตรกรพันธสัญญาที่รับจ้างบริษัทเลี้ยงไก่ หมู ปลา ปลูกผัก ปลูกอ้อย มีชีวิตเขาเป็นอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร เติบโตหรือล่มจม" นายอุบล อยู่หว้า กล่าว

นักกฎหมายชี้เกษตรกรเสียเปรียบ หลังเซ็น ไม่เคยเห็นสัญญา

ด้านนายไพสิฐ พานิชย์กุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า ระบบเกษตรกรพันธสัญญาเป็นการลงทุนโดยไม่ต้องลงทุนของบริษัท ซึ่งเป็นระบบที่สังคมไม่รู้ และไม่มีใครพูดถึงความไม่เป็นธรรมภายใต้ระบบพันธสัญญาที่บริษัทให้เกษตรกรเป็นผู้แบกภาระการลงทุนทั้งหมด โดยเกษตรกรเองก็เข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของ โรง เล้ากิจการเอง

ผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาวโดยเฉพาะการผลิตแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในแง่ความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะบริษัทที่ผลิตอาหารจะควบคลุมการผลิตอาหารทั้งหมด และระบบนี้ได้ทำลายระบบเกษตรกรรายย่อยหมด จะมีเพียงการผลิตของระบบเกษตรกรภายใต้โครงสร้างใหม่ คือระบบเกษตรกรพันธสัญญารับจ้างบริษัททุน ภายใต้การใช้พื้นที่ และกู้เงินมาลงทุนเองของเกษตรกรเพื่อรับจ้างบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดสัญญาเองแล้วนำมาให้เกษตรกรเป็นผู้เซ็น โดยที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรไม่เคยเห็น หรือมีสัญญาฉบับดังกล่าวไว้ในมือ ในขณะที่รัฐเองก็ไม่ได้ดูแลเรื่องกลไกในการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบต่อระบบเพียงเพราะไม่รู้เท่าทันในระบบสัญญา ซึ่งบางรายเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมาก จากการกูหนี้ยืมสินมาลงทุน เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่บริษัทกำหนดในการสร้างโรงเรือน เล้า การใช้ยา หรือสารเคมีต่างๆตามที่บริษัทกำหนด ไม่เช่นนั้นบริษัทก็จะไม่ให้เลี้ยง หรือไม่รับซื้อ จึงทำให้เกิดปัญหาหนี้สินที่ไม่จบสิ้น

เกษตรกรร้องตกหลุมพรางหลังบริษัทชวนแล้วทิ้ง หวังรวยกลับเป็นหนี้

นายโชคสกุล หมาค้ารุ่ง เกษตรกรสัญญา ผู้ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงสุกร ความไม่เป็นธรรมในระบบพันธสัญญา กล่าวว่า  เมื่อปี 2546  การที่เข้าสู่ระบบพันธสัญญาเนื่องจากมีการชักชวนจากบริษัทในการลงทุนเลี้ยงหมูพันธุ์ก่อนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ สาเหตุหลักที่ตัดสินใจทำสัญญาเพราะคิดว่าบริษัทใหญ่ น่าจะดูแลเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเห็นตัวอย่างจากเพื่อนบ้านที่เลี้ยงหมู่แม่พันธุ์ว่า ทำแล้วมีรายได้ดี พาไปดูฟาร์มตัวอย่าง บริษัทจะพาไปแนะนำกับธนาคาร เพื่อจำนองหลักทรัพย์ และนำเงินมาลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู ตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เกษตรพันธะสัญญา หมายถึง “การตกลงระหว่างเกษตรกรและบริษัทแปรรูปหรือการตลาด เพื่อการผลิตและส่งมอบสินค้าเกษตร ภายใต้สัญญาที่ทำไว้ล่วงหน้า” (Eaton and Shepherd, 2001) ซึ่งจะพบว่าการแลกเปลี่ยนลักษณะนี้มีรูปแบบต่างจากธุรกรรมโดยทั่วไปที่ผู้ผลิตมักจะไม่ทราบข้อมูลทางด้านอุปสงค์ในช่วงเวลานั้นๆมาก่อน และจะมีการตกลงซื้อขายกันก็ต่อเมื่อสินค้าถูกผลิตออกมาแล้วเท่านั้น มีการลงหมูแม่พันธุ์ 250 ตัว ลงทุนกู้เงินมา 4 ล้านบาท  ซึ่งช่วงแรกก็มีรายได้จากกากรเลี้ยงหมู่แม่พันธุ์ แต่หลังจากมีความเสี่ยงด้านธรรมชาติหมูแม่พันธุ์บางส่วนตาย ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย แต่ตัวเกษตรเองต้องแบกรับภาระความเสี่ยงดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเจอตรงนี้ผมก็เรียกร้องอะไรได้ จนที่สุดต้องเลิกทำเกษตรพันธะสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่ง แนะนำให้ สร้างระบบใหม่เพิ่มมีการกำหนดพื้นที่คลอดเพื่อให้ลูกหมูที่ออกมามีคุณภาพ ซึ่งตนก็พยายามที่จะไปกู้เพิ่มจากธนาคารอีก แต่กูไม่ได้ จึงทดลองสร้างเอง โดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพแบบเดียวกัน แต่บริษัทไม่ยอม และก็ทิ้งไปโดยไม่สนใจ ตนก็ต้องแบกรับหนี้ และความเสี่ยงไว้ และเริ่มรู้ว่าตนเองหลงกลหลุ่มพรางระบบพันธสัญญา

แต่ต่อมาก็มีอีกบริษัทมาชวนเลี้ยงหมูขุนอีกในปี 2548 ด้วยยังมีความหวังและเชื่อว่าระบบพันธสัญญายังน่าเชื่อถืออยู่ และคนที่มาชวนก็น่าเชื่อถือ จึงลงทุนทุบเล้าหมูเดิมทิ้ง สร้างสร้างใหม่เพราะการเลี้ยงหมูแต่ละระบบไม่เหมือนกัน ปรับไปเลี้ยงหมูขุน โดยหวังว่าจะสามารถทำให้มีรายได้ มีเงินใช้หนี้ แต่ก็ต้องผิดหวังอีกเพราะด้วยความที่เป็นเกษตรกรที่ชอบสงสัยระบบทั้งการขายอาหาร การใช้ยา ที่ต้องลงทุนซื้อจากบริษัท เมื่อสงสัยว่า บางอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม การจับหมูแทนที่จะชั่งที่หน้าเล้า กับไปชั่งทีปลายทาง พอทวงถามมากๆทางตัวแทนบริษัทก็ตอบว่าไม่ไว้ใจก็ไม่ต้องเลี้ยงอีก จากนั้นเขาก็ไม่ส่งหมูมาให้เลี้ยง จึงรู้ว่าเกษตรกรแรงงานอย่างเราห้ามต่อรองหรือสงสัย และรู้ตัวเมื่อหนี้เกือบ 10 ล้านบาท เลี้ยงหมูกินโฉนดที่ดิน

นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง กล่าวอีกว่า "ตนยังหลงกลกับบริษัทเก่าบริษัทแรกที่มาส่งเสริมชวนเลี้ยงปลาดุกอีกครั้ง ซึ่งก็ขุดบ่อเลี้ยงปลา เริ่มแรกไปได้ดีดูจะมีกำไรแต่มานานก็เป็นเช่นเดิม คือเลี้ยงแล้วถูกทิ้งไม่มาจับปลาตามกำหนดทำให้ปลาโตเกินกำหนด ไม่รับซื้อคืนทำให้ขาดทุนอีก ทุกวันนี้หนี้ท่วม และเข้าใจต่อระบบว่า จริงแล้วบริษัทต้องการแค่ขายของเท่านั้นทั้งพันธ์ปลา หมู ไก่ เมล็ดพันธ์ อาหาร ปุ๋ย ยา เกษตรกรแค่รับจ้างเลี้ยง และลงทุนกู้เงิน สร้าง และใช้สินค้าตามที่บริษัทกำหนดตามสัญญา ซึ่งตามมาด้วยหนี้สิน และหลายคนต้องล้มละลายหมดตัว ที่ดินถูกขายทอดตลาด"

"ขณะนี้ตนได้เริ่มที่จะเลี้ยงหมูแบบใหม่ที่ไม่ใช้ยา จัดการระบบเอง และมีการจัดการทำเกษตรธรรมชาติ เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ให้อยู่รอดอย่างพอเพียง โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน และรวมกลุ่มกับเกษตรกรที่ถูกนายทุนเอาเปรียบสร้างเป็นเครือข่าย ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้นั้น ทางรัฐ บริษัททุน ภาคเกษตรกร ต้องมาร่วมกำหนดวิธีการปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นธรรมว่าควรทำอย่างไร และนำไปเป็นประเด็นสู่สาธารณะ ซึ่งทางภาครัฐต้องเองก็ต้องหามาตรการมาดูแลเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันนี้ เกษตรทั้งภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน จะประสบปัญหาภาวะล้มละลาย โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนในการสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา ทั้งในด้านการให้ความรู้ การความคุมและสร้างมาตรฐานให้เกิดสัญญา  ที่เป็นธรรม และการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร" นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง กล่าว

ทังนี้ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา ที่ประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มูลนิธิชีววิถี สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะรัฐศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้กำหนดจัดสัมมนาทางวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555  เกษตรพันธสัญญา “ใครอิ่ม ใครอด?” ในวันที่ 26-27 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการสัมมนาดังกล่าวจะมีการระดมการศึกษาจากแง่มุมวิชาการ ทั้งทางด้านกฎหมาย และผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงจากวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธสัญญา เพื่อการนำเสนอสู่สาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ และร่วมขบคิด รวมทั้งแสวงหาทางออกร่วมกันในอนาคต และมีข้อเสนอระดับปฏิบัติ นโยบายเพื่อสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมเหมาะสมร่วมกัน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน