สรส. แถลงผลการเจรจาร่วมสหภาพรัฐวิสาหกิจเภสัชกับผู้แทนนายก

สรส

แถลงการณ์ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เรื่อง ผลการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับผู้แทนนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) แม้จะได้ข้อสรุปจากการเจรจา แต่ทาง สร.อภ. ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ จะประชุมและติดตามผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี และกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหว ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ต่อไป  

ตามที่สมาพันธแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพและให้องค์กรสมาชิกเข้าร่วมการเคลื่อนไหว เพราะเรื่องสุขภาพมีความสำคัญต่อตัวเราและพี่น้องประชาชนทุกคนหากว่าระบบสุขภาพตั้งแต่การผลิตยา การป้องกันรักษา รวมทั้งสถานที่สำหรับการรักษาและการผลิตยา ที่จะต้องแปรรูปไปเพื่อธุรกิจและการค้า สร้างปัญหาให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขในขณะนี้ ดังที่ สรส. ได้ออกแถลงการณ์แจงรายละเอียดมา 2 ฉบับก่อนหน้านี้ และส่งผลกระทบที่จะสร้างความหายนะให้กับระบบสุขภาพของไทยภายหลังจากที่ สรส. และเครือข่ายเพื่อสุขภาพได้ผนึกกำลังและพร้อมที่จะหนุนช่วยในการเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ส่งสัญญาณในการเจรจา และการเจรจาระหว่าง สร.อภ. ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับผู้แทนนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมรามาการเด้นส์ และวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้ข้อสรุป ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลยืนยันไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท หากทบทวนข้อมูลแล้วว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะ

ไม่มีการโอนอำนาจ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้เขตบริการสุขภาพของกระทรวง

สาธารณสุข ทั้งพฤตินัยและนิตินัย

4. ยืนยันจะไม่มีการแทรกแซงการบริหารงานของ สปสช. เช่น ในกรณีการสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน

สปสช. ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข

สรส1สรส.2

5. ให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม และกรณีการปลดผู้อำนวยการ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ

6. รัฐบาลยืนยันจะไม่มีการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม โดยให้คงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม

7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่มีการใช้เงินสะสม จำนวน 4,000 ล้านบาทขององค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้สร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่ให้มีการโอนงบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจำนวน 75 ล้านบาทให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้เป็นไปตามข้อสังเกตของ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

9. กรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน

1) จะมีการออกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ให้มีรายละเอียดตามฉบับ

4 และ 6 โดยมอบหมายให้ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

2) ระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2556 จนถึงวันที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ให้ใช้กลไกการเยียวยาต่อผู้ถูกลิดรอนสิทธิ์ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 และ ฉบับที่ 8 ทั้งหมดทุกกลุ่มวิชาชีพ

3) จะตั้งคณะกรรมการที่มาจากสหวิชาชีพ และจากทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาปรับปรุงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และพิจารณากำหนดพื้นที่ใหม่

 แพทย์13

10. กรณีของ P4P (Pay For Performance) สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน

1) ให้เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่จำเป็นต้องทำในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย

2) หากจะดำเนินการนำเอา P4P มาใช้งานในโรงพยาบาลชุมชน ต้องให้ทุกภาคส่วนและสหวิชาชีพศึกษาและกำหนดหลักการ หลักเกณฑ์รายละเอียด ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งก่อน และให้เป็นไปโดยสมัครใจ

11. เครือข่ายได้ชี้แจงเหตุผลถึงความไม่เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ และได้มอบข้อมูลและหลักฐานให้กับนายกรัฐมนตรี พิจารณาและใช้ดุลยพินิจแล้วโดยจะมีการนำสรุปผลการเจรจาเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ในคราวประชุมสัญจรที่จังหวัดกำแพงเพชร

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ข้อสรุปจากการเจรจา แต่ทาง สร.อภ. ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ จะประชุมและติดตามผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี และกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหว ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ต่อไป ซึ่ง สรส. ยังคงยืนยันที่จะยืนเคียงข้างการเคลื่อนไหวของ สร.อภ. และเครือข่ายเพื่อสุขภาพหากรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา หรือหากผลการเจรจาไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ จึงขอแจ้งผลการเจรจาให้องค์กรสมาชิก พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบและขอให้องค์สมาชิกติดตามข้อมูลข่าวสารจาก สรส. อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของสมาชิก

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

10 มิถุนายน 2556