วิพากษ์ยุคเสรีนิยมใหม่แรงงานไทยอ่อนแอ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES.) จัดเสวนาเรื่อง “จากเสรีนิยมใหม่  สู่กรอบคิดใหม่ในการพัฒนา” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถ.นิคมมักกะสัน  เขตราชเทวี กรุงเทพ เพื่อศึกษา โดยเฉพาะกับผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการวิพากษ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ผลกระทบต่อสังคมและแรงงานโดยมี นายมาร์ค สักเส่อร์  ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท และ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นวิทยากรร่วมเสวนา

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าว คสรท. ได้ร่วมกันจัดทำ “ยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ของ คสรท.” โดยการจัดเวทีประชุมมาตลอดในช่วง มิถุนายน- ธันวาคม 2555 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน จนสามารถกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 4 ข้อ และยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแรงงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 กำหนดให้มีเรื่องการวิพากษ์กรอบและแนวทางการพัฒนาประเทศ ในการหาแนวทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานและความเสมอภาคยุติธรรมของสังคม  จึงจัดให้มีการเสวนาขึ้นในวันนี้

ชาลี มาร์ค1

นายมาร์ค ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวปัจจุบันเรื่องกรอบแนวคิดใหม่ในการพัฒนา โดยมองขบวนการแรงงานไทยว่า ทุกวันนี้ขบวนการแรงงานไทยอยู่ในสภาวะที่ยังอ่อนแอ โดดเดี่ยว ไม่มีอำนาจในการต่อรอง เสนออะไรกับทางการเมืองมักจะถูกปฎิเสธ เช่น อนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98  รัฐบาลยังไม่ให้สัตยาบันเหมือนประเทศอื่น เรื่องของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเสนอเข้าไปก็ถูกปฎิเสธจากรัฐ ตัวอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้ได้รับความสนใจจากการเมืองมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขจะต้องสร้างอำนาจในการต่อรอง สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ต้องสร้างความเป็นเอกภาพให้ขบวนการแรงงาน การสร้างแนวร่วมเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากแรงงานแล้วจะต้องสร้างแนวร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่น เอ็นจีโอ ภาคประชาชน หาแนวร่วมไม่ใช่เฉพาะประเด็นแรงงาน ประเด็นต่างกันก็สามารถทำได้คือการสร้างเวทีร่วมกัน เช่น เรื่อง สิ่งแวดล้อมอากาศเป็นพิษ  แรงงานอาจจะมองเรื่องการมีงานทำการอยู่ร่วมกันในระยะยาว  วางจุดยืนอยู่ที่ศูนย์กลางอย่าสุดขั้วมากไป ให้มีความยืดหยุ่น  รวมทั้งการเน้นน้ำหนักในบางเรื่อง บางเรื่องถูกปฏิเสธ เพราะบางคนไม่พอใจไม่มาเข้าร่วมด้วย บางคนคิดว่าเป็นการปิดกั้น ต้องเปิดใจและความคิดเห็น ถ้าทุกคนเชื่อว่าจริงก็จะกลายเป็นความจริงได้ บ้างเชื่อเรื่องเงินต้องทำงานให้มากจะได้มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เชื่อทางศาสนา เรื่องพระเจ้า ความเชื่อทางสังคมเพราะคนส่วนมากมักจะเชื่อในสิ่งที่เป็นกระแสหลัก ส่วนคำว่าอำนาจมีแหล่งที่มาหลายแห่งคือ การใช้กำลังบังคับเป็นการใช้ปืนจี้ให้ได้มาซึ่งอำนาจ ซึ่งอาจจะใช้ได้ไม่ตลอด อำนาจเงินเกิดการอุปถัมภ์ต้องใช้เงินอุปถัมภ์มากกว่าการใช้กำลังอาจใช้ได้ในระยะหนึ่ง  ส่วนความคิดก็สามารถทำให้เกิดอำนาจได้ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจที่ยั่งยืนยาวนาน

มาร์ค 5 มาร์ค2

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ  กล่าววิพากษ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ผลกระทบต่อสังคมแรงงานโดยสรุปคือ เสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นหลังปี 1980 ถือเป็นความพ่ายแพ้หรือความผิดพลาดของในชนชั้นลัทธิสังคมนิยมที่เบี่ยงเบนไปทำให้เกิดกระแสรุนแรง เกิดสิ่งที่เรียกว่าสัญญาวอชิงตันซึ่งมีหลักใหญ่ๆคือการเกิดการค้าเสรี การยกเลิกลดทอนกฎเกณฑ์กติกาต่างๆที่รัฐไปปิดกั้นไว้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้ขยายไปในขอบเขตกว้างขวางทั่วโลก ในประเทศไทยจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือช่วงหลังเศรษฐกิจปี 2540 ที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง สถานการณ์เสรีนิยมใหม่ก็รุนแรงทำให้กระทบทั้งสังคมวงกว้าง ทั้งเกษตรกร กระทบ SME ผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ ยิ่งเสรีนิยมใหม่เข้าไปอยู่ในรัฐที่ทุนสามานย์กุมอำนาจรัฐได้ก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น

ณรงค์ 2 มาร์ค 9

เวทีเสวนาได้มีการพูดคุยเชื่อมโยงไปถึงการมีพรรคการเมืองของขบวนแรงงานกับการเมือง ซึ่งรศ.ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า การจะมีพรรคที่คนงานเป็นเจ้าของหรือคนงานจะมีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง ก็ต้องเริ่มจากการทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง  ไม่ว่าจะเป็นพรรคแบบไหน จะเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยหรือเป็นพรรคที่คนงานเป็นเจ้าของโดยตรง ก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีฐานรองรับ และต้องเป็นพรรคที่เรียกว่าพรรคมวลชน ซึ่งจะต้องมาจากจำนวนสมาชิกจำนวนมาก

สำหรับหัวใจสำคัญที่คนงานจะตั้งรับเสรีนิยมแบบใหม่นั้น การจะขับเคลื่อนก็จะต้องสร้างความรู้เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างกองกำลังของการขับเคลื่อนต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่นี้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สำหรับทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้นั้น  แนวความคิดแบบสังคมนิยมก็ได้เพลี่ยงพล้ำไปแล้ว เพราะว่าท้ายที่สุดก็ไม่มีหลักประกันว่าคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์  ซึ่งทุนนิยมมี 2 อย่างคือ ทุนนิยมที่มีคุณค่าหรือทุนนิยมศีลธรรม และทุนนิยมสามานย์ ที่เราคงจะไม่ได้ประโยชน์จากมัน โดยอาจจะมุ่งไปกำกับให้ทุนนิยมสามารถเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และทำให้มันเป็นทุนที่ดี ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างตามแนวความคิดที่เรียกว่าสังคมประชาธิปไตย หรือการพูดถึงพรรคสังคมประชาธิปไตยที่เป็นตัวอย่างในประเทศอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกซึ่งเราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หรือไปเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายสอดรับ นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ประชาชนได้ประโยชน์และสังคมมีความเป็นธรรม ทั้งหมดนี้ก็เป็นหนทางที่จะเป็นทางออกที่พอจะเป็นไปได้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแรงงานและขบวนการแรงงานต้องรู้ 4 รู้ คือ รู้สึก รู้เรื่อง รู้ลึก และรู้รอบ เพื่อพัฒนาสังคมใหม่ให้เป็นธรรมในอนาคต

วงเสวนามีข้อสรุปว่า คสรท.จะต้องสานต่อและนำกรอบคิดที่ได้ไปใช้เพื่อให้ส่งผลในทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและผู้ใช้แรงงานไทยได้จริงต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน